หรือการอ่านภาษาไทยสมัยนี้มี 2 มาตรฐาน?

กระทู้สนทนา
จำได้ว่าสมัยเรียนหนังสือชั้นประถม(เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา)
ครู อาจารย์ เคยเตือนในเรื่อง “วิชาอ่านไทย” อยู่เสมอว่า
ใครที่ชอบอ่านคำว่า “สัปดาห์” เป็น “สับ-ปะ-ดา” คนนั้นคือคน “สับ-ปะ-ดน”(สัปดน)
โดยบอกว่าคำว่า “สัปดาห์” ต้องอ่านว่า “สับ-ดา” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่สมัยนี้แม้แต่คนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคนยังอ่านคำว่า “สัปดาห์” เป็น “สับ-ปะ-ดา”
มีอีกหลายคำที่ฟังแล้วรู้สึกงงมากว่าทำไมสมัยนี้จึงอ่านออกเสียงภาษาไทยกันแบบนี้
เช่น คำว่า “อุตสาหกรรม” เคยร่ำเคยเรียนมาว่าต้องอ่านออกเสียงว่า “อุด-สา-หะ-กำ” เท่านั้น
แต่เด็กๆสมัยนี้ แม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ยังอ่านออกเสียงว่า “อุด-ตะ-สา-หะ-กำ”
ส่วนคำว่า “ประวัติศาสตร์” ตอนที่ผมไปสอบข้อเขียนเข้าวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
อาจารย์ที่คุมสอบได้อ่านออกเสียงคำนี้ให้ผู้เข้าสอบทุกคนฟังว่า ต้องออกเสียงว่า “ประ-หวัด-ติ-สาด”
แต่สมัยนี้พวกเรามักได้ยินหลายคนออกเสียงคำนี้ว่า “ประ-หวัด-สาด”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เด็กอย่างผมรู้สึกสงสัย
ว่า ราชบัณฑิตยสถาน ของเรากำลังจะปล่อยให้ภาษาไทยมี 2 มาตรฐานแล้วใช่หรือไม่?
แม้แต่คำว่า “สมรรถภาพ” ผมก็จำได้ว่าครูบาอาจารย์เคยสอนสั่ง
ให้เราอ่านออกเสียงว่า“สะ-มัด-ถะ-พาบ” เพราะถือเป็นคำยกเว้น
แม้จะมี ส เสือ ซึ่งเป็นอักษรสูงนำ ก็ไม่อ่านออกเสียงว่า “สะ-หมัด-ถะ-พาบ”
แต่เดี๋ยวนี้คิดว่าคนไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่อ่านออกเสียงคำนี้ว่า “สะ-หมัด-ถะ-พาบ”
สงสัยต้องรบกวนผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยในเว๊ปช่วยเข้ามาชี้แนะบ้างแล้ว…ขอบคุณครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่