โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช
ที่ตั้งของกู่ (สถูป) เจ้าน้อยศุขเกษม และกู่ของหมะเมียะ ที่วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ภาพถ่ายโดยมิ่งหล้า เจริญเมือง)
เสน่ห์ของการอ่านประวัติศาสตร์ประการหนึ่ง คือการได้วิเคราะห์และนั่งถกกับคนคอเดียวกัน
ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่าเรื่องบันทึกเก่าๆ เดิมๆ ที่นักเรียนถูกบังคับให้ต้องท่องจำ
เช่นเดียวกับนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวทีให้นักวิชาการนักเขียนได้เสนอเรื่องราวแบบปลายเปิด เพื่อยั่วแย้งให้ผู้สนใจอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมแจม ร่วมถกแถลงแสดงความคิดเห็นตามอัธยาศัย
ฉบับเดือน พฤษภาคม 2556 มีประเด็นร้อนๆ ประเด็นเด่นๆ ประเด็นอมตะ มากมายเช่นเคย
นอกจากเรื่องเด่นของปกเดือนนี้ที่แฟนานุแฟนของ ปรามินทร์ เครือทอง พลาดไม่ได้ เพราะฉบับนี้มาเฉลยกันแบบเนื้อๆ เน้นๆ ชัดๆ กันไปเลยว่า ทำไมเมื่อตอนกรุงแตก พระเจ้าตากจึงมุ่งไปทางหัวเมืองตะวันออก แท้ที่จริงต้องการหลีกลี้หนีภัยที่จวนเจียนมาถึงตัวเต็มที หรือ เป็นการวางแผนกู้ชาติ
ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ อย่าง เรื่องราวของโศกนาฏกรรมรักระหว่างสาวสามัญชนชาวพม่า ที่ออกจะยากจนด้วยซ้ำ "หมะเมียะ" กับเจ้าชายหนุ่มสูงศักดิ์ เจ้าน้อยศุขเกษม ที่ใครเป็นแฟนเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร จะต้องรู้จักเพลง "มะเมียะ"
"เจ้าชายเป๋นราชบุตร แต่สุดตี้ฮักเป๋นพม่า ผิดประเพณีสืบมา ต้องร้างราแยกทาง...
มะเมียะตรอมใจ๋ อาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา
ขอลาไปก่อนแล้ว จ้าดนี้... เจ้าชายก่อตรอมใจ๋ต๋าย มะเมียะเลยไปบวชชี
เจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้าหญิงบัวชุม
ความฮักมักเป๋นจะนี้ แลเฮย..."
ทบทวนเนื้อเรื่องกันสักนิด...
ความรักของหนุ่มสาวสองแผ่นดินเมื่อ 110 กว่าปีที่แล้ว น่าจะเริ่มต้นราว พ.ศ.2444-2445 เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษม หนุ่มเชียงใหม่ อายุ 18-19 ปี ได้พบกับหมะเมียะ สาวชาวมอญวัย 15-16 ปี ที่เมืองเมาะละแหม่ง เพราะเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนหนังสือที่นั่น
เจ้าน้อยคงไปเดินตลาดและได้พบเธอซึ่งเป็นแม่ค้าขายบุหรี่ที่นั่น หรืออาจไปพบเธอบนถนนสายใดสายหนึ่ง แล้วก็ตามเธอไป หรือไปเจอเธอที่งานวัดงานบุญ ก่อนจะพัฒนาเป็นความรักในเวลาต่อมา
ปลายปี พ.ศ.2445 เจ้าชายหนุ่มพาหญิงสาวคนรักมาที่คุ้มของฝ่ายชายที่เชียงใหม่ ความรักของคนทั้งสองถูกกีดกันอย่างหนัก จนในที่สุด ช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ.2446 ช้างก็นำหมะเมียะเดินทางกลับบ้านเพียงผู้เดียว การพลัดพรากที่ประตูหายยาคราวนั้นเป็นฉากสุดท้ายของความรักระหว่างหนุ่มสาวสองแผ่นดิน
ความรักแสนรันทดของคนคู่นี้มีนักวิชาการให้ความสนใจอยู่พอสมควร กระทั่งเคยตั้งเป็นประเด็นถกแถลงแสดงความคิดกันบนเวทีเสวนา
หนึ่งในนั้นคือ สมฤทธิ์ ลือชัย ที่ไปสืบค้นต้นเรื่องของหมะเมียะและเจ้าศุขเกษม ถึงเมืองเมาะละแหม่ง ประเทศเมียนมาร์
ไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดไจ้ตะหลั่น ตามหาแม่ชีปาระมี ไปตามหาจนเจอลูกสาวของ "อูโพด่อง" พ่อค้าไม้ชาวเมาะละแหม่งที่ดูแลเจ้าศุขเกษมตอนเดินทางมาเรียนที่เมืองนี้
แล้วยังได้พบกับเจ้าอาวาสวัดเขมาติริ ซึ่งอยู่เชิงเขาใกล้วัดไจ้ตะหลั่น ที่ได้เล่าว่าเคยมีแม่ชีชื่อ ด่อเมี้ยะ เป็นแม่ชีที่เคยไปอยู่เมืองไทย
ภาพวาดหมะเมียะตามจินตนาการของจิตรกรในปัจจุบัน (จาก www.wikipedia.org)
รวมทั้งไปแกะรอยจุดตั้งต้นของความรักที่เล่าลือกันตามตลาดเก่าแก่ในเมืองเมาะละแหม่ง และร้านขายบุหรี่เก่าแก่ของเมือง เป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า ทำไมคนทั้งเมืองเมาะละแหม่งจึงไม่รู้เรื่องราวแสนรันทดของคนทั้งคู่
ทั้งยังตั้งข้อสันนิษฐานว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของหมะเมียะและเจ้าน้อยศุขเกษมที่ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นำมาเปิดเผยในหนังสือ "เพ็ชร์ลานนา" เมื่อ พ.ศ.2507 และนำมารีไรท์อีกครั้งพร้อมกับเพิ่มเติมรายละเอียด ในหนังสือ "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ตีพิมพ์เมื่อปี 2523 โดยอ้างว่าเขียนจากการเปิดเผยของเจ้าบัวชุม เป็นเรื่องแต่งขึ้น
ในวาระ 110 ปีของโศกนาฏกรรมความรักของคนทั้งคู่ ธเนศ เจริญเมือง หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพลิกอีกมุม ถอยหลังออกไปอีก 2-3 ก้าวแล้วมองไปถึงบริบทโดยรอบที่แวดล้อม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ที่สะท้อนออกมาจากจุดเริ่มต้นของความรักของคนทั้งคู่ นับตั้งแต่เจ้าชายเมืองเชียงใหม่ที่ถูกส่งตัวไปศึกษาต่อในดินแดนของผู้ที่ปกครองบ้านเมืองตนเอง
อาจารย์ธเนศบอกว่า เชื่อว่าความรักของเจ้าศุขเกษมที่ไปเรียนต่อและพบรักกลับมาเป็นเรื่องจริง
"รักอันรันทดเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะในสังคมเก่าที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากทั้งทางอำนาจการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางสังคม-วัฒนธรรม และหากเกิดในรัฐที่กำลังมีปัญหาละเอียดอ่อนทางการเมือง เช่น สยาม-ล้านนา และพม่า โศกนาฏกรรมจึงเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นกว่าเดิม"
ไม่ต้องดูอื่นไกล เจ้าดารารัศมี เมื่อ พ.ศ.2440 ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านไปร่วมงานศพบิดา หลังจากที่จากเมืองเชียงใหม่ไปนานถึง 11 ปี และในปีเดียวกัน ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงส่งพระราชโอรสของท่านไปเรียนต่อที่ยุโรปนับ 10 คน ด้วยเหตุนี้ "ผมจึงเชื่อว่าเจ้านายในล้านนาจึงคิดหาโอกาสใหม่ๆ ให้แก่แผ่นดินของตนเองบ้าง คนเราถ้ามีโอกาสไปเรียนรู้ในต่างประเทศ ทำไมจะไม่ไป"
เจ้าน้อยศุขเกษมโศกเศร้าเหลือเกินกับความรักที่หลุดลอยไป (ถ้าเป็นจริง) หลังจากที่ท่านไปอยู่ต่างแดน ไปเรียนภาษาอังกฤษมาถึง 5 ปีเต็ม และเมื่อท่านกลับมาในตอนปลายปี พ.ศ.2445 นั้น ท่านทราบไหมและท่านรู้สึกอย่างไรที่บ้านเกิดเมืองนอนของท่านได้สูญเสียความเป็นรัฐและถูกผนวกดินแดนไปเรียบร้อยแล้ว (ในปี พ.ศ.2442) หรือว่าท่านรู้สึกโศกเศร้าอย่างหนัก เพราะชะตากรรมของแผ่นดินแม่และโศกนาฏกรรมความรักของท่านด้วยในเวลาไล่เลี่ยกัน
"ผมถือว่าความรักและการสูญเสียของหมะเมียะและเจ้าศุขเกษมเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่เพราะบริบทแห่งประวัติศาสตร์ในขณะนั้นด้วย ก็เพราะปัญหาทางการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันทางการเมือง
"และการใช้อำนาจบาตรใหญ่ทางการเมืองในขณะนั้นทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น"
หน้า 21,มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2556
โศกนาฏกรรมรัก หมะเมียะ-เจ้าศุขเกษม ต่ำศักดิ์ หรือ พิษการเมือง?
ที่ตั้งของกู่ (สถูป) เจ้าน้อยศุขเกษม และกู่ของหมะเมียะ ที่วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ภาพถ่ายโดยมิ่งหล้า เจริญเมือง)
เสน่ห์ของการอ่านประวัติศาสตร์ประการหนึ่ง คือการได้วิเคราะห์และนั่งถกกับคนคอเดียวกัน
ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่าเรื่องบันทึกเก่าๆ เดิมๆ ที่นักเรียนถูกบังคับให้ต้องท่องจำ
เช่นเดียวกับนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวทีให้นักวิชาการนักเขียนได้เสนอเรื่องราวแบบปลายเปิด เพื่อยั่วแย้งให้ผู้สนใจอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมแจม ร่วมถกแถลงแสดงความคิดเห็นตามอัธยาศัย
ฉบับเดือน พฤษภาคม 2556 มีประเด็นร้อนๆ ประเด็นเด่นๆ ประเด็นอมตะ มากมายเช่นเคย
นอกจากเรื่องเด่นของปกเดือนนี้ที่แฟนานุแฟนของ ปรามินทร์ เครือทอง พลาดไม่ได้ เพราะฉบับนี้มาเฉลยกันแบบเนื้อๆ เน้นๆ ชัดๆ กันไปเลยว่า ทำไมเมื่อตอนกรุงแตก พระเจ้าตากจึงมุ่งไปทางหัวเมืองตะวันออก แท้ที่จริงต้องการหลีกลี้หนีภัยที่จวนเจียนมาถึงตัวเต็มที หรือ เป็นการวางแผนกู้ชาติ
ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ อย่าง เรื่องราวของโศกนาฏกรรมรักระหว่างสาวสามัญชนชาวพม่า ที่ออกจะยากจนด้วยซ้ำ "หมะเมียะ" กับเจ้าชายหนุ่มสูงศักดิ์ เจ้าน้อยศุขเกษม ที่ใครเป็นแฟนเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร จะต้องรู้จักเพลง "มะเมียะ"
"เจ้าชายเป๋นราชบุตร แต่สุดตี้ฮักเป๋นพม่า ผิดประเพณีสืบมา ต้องร้างราแยกทาง...
มะเมียะตรอมใจ๋ อาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา
ขอลาไปก่อนแล้ว จ้าดนี้... เจ้าชายก่อตรอมใจ๋ต๋าย มะเมียะเลยไปบวชชี
เจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้าหญิงบัวชุม
ความฮักมักเป๋นจะนี้ แลเฮย..."
ทบทวนเนื้อเรื่องกันสักนิด...
ความรักของหนุ่มสาวสองแผ่นดินเมื่อ 110 กว่าปีที่แล้ว น่าจะเริ่มต้นราว พ.ศ.2444-2445 เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษม หนุ่มเชียงใหม่ อายุ 18-19 ปี ได้พบกับหมะเมียะ สาวชาวมอญวัย 15-16 ปี ที่เมืองเมาะละแหม่ง เพราะเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนหนังสือที่นั่น
เจ้าน้อยคงไปเดินตลาดและได้พบเธอซึ่งเป็นแม่ค้าขายบุหรี่ที่นั่น หรืออาจไปพบเธอบนถนนสายใดสายหนึ่ง แล้วก็ตามเธอไป หรือไปเจอเธอที่งานวัดงานบุญ ก่อนจะพัฒนาเป็นความรักในเวลาต่อมา
ปลายปี พ.ศ.2445 เจ้าชายหนุ่มพาหญิงสาวคนรักมาที่คุ้มของฝ่ายชายที่เชียงใหม่ ความรักของคนทั้งสองถูกกีดกันอย่างหนัก จนในที่สุด ช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ.2446 ช้างก็นำหมะเมียะเดินทางกลับบ้านเพียงผู้เดียว การพลัดพรากที่ประตูหายยาคราวนั้นเป็นฉากสุดท้ายของความรักระหว่างหนุ่มสาวสองแผ่นดิน
ความรักแสนรันทดของคนคู่นี้มีนักวิชาการให้ความสนใจอยู่พอสมควร กระทั่งเคยตั้งเป็นประเด็นถกแถลงแสดงความคิดกันบนเวทีเสวนา
หนึ่งในนั้นคือ สมฤทธิ์ ลือชัย ที่ไปสืบค้นต้นเรื่องของหมะเมียะและเจ้าศุขเกษม ถึงเมืองเมาะละแหม่ง ประเทศเมียนมาร์
ไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดไจ้ตะหลั่น ตามหาแม่ชีปาระมี ไปตามหาจนเจอลูกสาวของ "อูโพด่อง" พ่อค้าไม้ชาวเมาะละแหม่งที่ดูแลเจ้าศุขเกษมตอนเดินทางมาเรียนที่เมืองนี้
แล้วยังได้พบกับเจ้าอาวาสวัดเขมาติริ ซึ่งอยู่เชิงเขาใกล้วัดไจ้ตะหลั่น ที่ได้เล่าว่าเคยมีแม่ชีชื่อ ด่อเมี้ยะ เป็นแม่ชีที่เคยไปอยู่เมืองไทย
ภาพวาดหมะเมียะตามจินตนาการของจิตรกรในปัจจุบัน (จาก www.wikipedia.org)
รวมทั้งไปแกะรอยจุดตั้งต้นของความรักที่เล่าลือกันตามตลาดเก่าแก่ในเมืองเมาะละแหม่ง และร้านขายบุหรี่เก่าแก่ของเมือง เป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า ทำไมคนทั้งเมืองเมาะละแหม่งจึงไม่รู้เรื่องราวแสนรันทดของคนทั้งคู่
ทั้งยังตั้งข้อสันนิษฐานว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของหมะเมียะและเจ้าน้อยศุขเกษมที่ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นำมาเปิดเผยในหนังสือ "เพ็ชร์ลานนา" เมื่อ พ.ศ.2507 และนำมารีไรท์อีกครั้งพร้อมกับเพิ่มเติมรายละเอียด ในหนังสือ "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ตีพิมพ์เมื่อปี 2523 โดยอ้างว่าเขียนจากการเปิดเผยของเจ้าบัวชุม เป็นเรื่องแต่งขึ้น
ในวาระ 110 ปีของโศกนาฏกรรมความรักของคนทั้งคู่ ธเนศ เจริญเมือง หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพลิกอีกมุม ถอยหลังออกไปอีก 2-3 ก้าวแล้วมองไปถึงบริบทโดยรอบที่แวดล้อม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ที่สะท้อนออกมาจากจุดเริ่มต้นของความรักของคนทั้งคู่ นับตั้งแต่เจ้าชายเมืองเชียงใหม่ที่ถูกส่งตัวไปศึกษาต่อในดินแดนของผู้ที่ปกครองบ้านเมืองตนเอง
อาจารย์ธเนศบอกว่า เชื่อว่าความรักของเจ้าศุขเกษมที่ไปเรียนต่อและพบรักกลับมาเป็นเรื่องจริง
"รักอันรันทดเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะในสังคมเก่าที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากทั้งทางอำนาจการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางสังคม-วัฒนธรรม และหากเกิดในรัฐที่กำลังมีปัญหาละเอียดอ่อนทางการเมือง เช่น สยาม-ล้านนา และพม่า โศกนาฏกรรมจึงเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นกว่าเดิม"
ไม่ต้องดูอื่นไกล เจ้าดารารัศมี เมื่อ พ.ศ.2440 ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านไปร่วมงานศพบิดา หลังจากที่จากเมืองเชียงใหม่ไปนานถึง 11 ปี และในปีเดียวกัน ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงส่งพระราชโอรสของท่านไปเรียนต่อที่ยุโรปนับ 10 คน ด้วยเหตุนี้ "ผมจึงเชื่อว่าเจ้านายในล้านนาจึงคิดหาโอกาสใหม่ๆ ให้แก่แผ่นดินของตนเองบ้าง คนเราถ้ามีโอกาสไปเรียนรู้ในต่างประเทศ ทำไมจะไม่ไป"
เจ้าน้อยศุขเกษมโศกเศร้าเหลือเกินกับความรักที่หลุดลอยไป (ถ้าเป็นจริง) หลังจากที่ท่านไปอยู่ต่างแดน ไปเรียนภาษาอังกฤษมาถึง 5 ปีเต็ม และเมื่อท่านกลับมาในตอนปลายปี พ.ศ.2445 นั้น ท่านทราบไหมและท่านรู้สึกอย่างไรที่บ้านเกิดเมืองนอนของท่านได้สูญเสียความเป็นรัฐและถูกผนวกดินแดนไปเรียบร้อยแล้ว (ในปี พ.ศ.2442) หรือว่าท่านรู้สึกโศกเศร้าอย่างหนัก เพราะชะตากรรมของแผ่นดินแม่และโศกนาฏกรรมความรักของท่านด้วยในเวลาไล่เลี่ยกัน
"ผมถือว่าความรักและการสูญเสียของหมะเมียะและเจ้าศุขเกษมเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่เพราะบริบทแห่งประวัติศาสตร์ในขณะนั้นด้วย ก็เพราะปัญหาทางการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันทางการเมือง
"และการใช้อำนาจบาตรใหญ่ทางการเมืองในขณะนั้นทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น"
หน้า 21,มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2556