นครวัด อดีต 1 ใน 7 สิ่ง มหัศจรรย์ของโลก (1) @นครวัด นครธม : กัมพูชา

ความเดิมตอนที่แล้วค่ะ
โตนเลสาบ แก้มลิงธรรมชาติของคนเขมร  http://ppantip.com/topic/30420230
ปราสาทบายน มนตราศิลาทราย  http://ppantip.com/topic/30432009
ปราสาทตาพรหม มนตราศิลาทราย  http://ppantip.com/topic/30448730
ปราสาทบันทายสรี มนตราศิลาทราย  http://ppantip.com/topic/30464010



ในที่สุด ก็มาถึงจุดไฮไลท์ของ ทริปในฝัน  นครวัด (Angkor Wat)  มหาปราสาท เทวาลัยอันศักดิ์สิทธิ์
ศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่และสง่างามแห่งอาณาจักรขอม  ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น  1 ใน 7 สิ่ง มหัศจรรย์ของโลก ..ปะ ไปดูด้วยกันเลย

รูปปฐมฤกษ์ ณ บริเวณทางเข้า นครวัด  จัดให้โดย น้องมี ซึ่งงานนี้กะจิกไม่ให้คลาดสายตา ให้เป็นตากล้องประจำตัวชั่วคราว
จบทริปนี้ค่อยเลิกคบกัน อิอิ


ตามระเบียบของการเที่ยวโบราณสถาน โดยเฉพาะ นครวัด  อันเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกแล้ว จะไม่ศึกษาข้อมูลไว้ซักนิด
ก็กระไรอยู่   ไม่พล่ามละ เริ่มกันเลยดีกว่า

นครวัด สร้างขึ้นในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17 (พ.ศ.1656 - 1693)  โดย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เพื่ออุทิศถวายแด่ พระวิษณุ หรือ
พระนารายณ์  เทพเจ้าสูงสุดแห่งลัทธิไวษณพนิกาย   เดิมมีชื่อว่าปราสาทพระพิษณุโลกหรือวิษณุโลก ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกว่านครวัด



นครวัด มีผังเป็น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1,300 เมตร  และยาว 1,500 เมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านตารางเมตร
มีบารายหรือคูน้ำ ขนาดกว้าง 190 เมตร ยาวด้านละ 1,900 เมตร ล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน

ส่วนทางเข้าจะอยู่ ทิศตะวันตก มีสะพานนาคทอดยาวให้ข้ามไปยังตัวปราสาท  สะพานมีชำรุดในช่วงแรก และมีการบูรณะเป็นจุด
แต่ก็ดูแข็งแรง กว้างพอที่นักท่องเที่ยวจะเดินเบียดกันเข้าไปชมเทวาลัยด้านในได้สบาย



ปราสาทแห่งนี้ สร้างด้วย หินจากเขาพนมกุเลน ห่างจากนครวัดถึง 50 กิโลเมตร  มาแกะเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่
วางซ้อนกันเป็นรูปปราสาท ใช้ แรงงานคนนับแสน และ ช้างกว่าสี่หมื่นเชือก  ข้ามคูน้ำขนาดใหญ่มาแล้ว จะพบกับ กำแพงชั้นนอกสุด
ล้อมรอบตัวปราสาท มีซุ้มประตู หรือเรียกกันว่า โคปุระ อยู่ด้านหน้า



กูรูแนะนำว่า การชม นครวัด มีห้าจุดที่ไม่ควรพลาด คือ
บริเวณโคปุระกลางที่กำแพงชั้นนอก
ระเบียงคดชั้นแรก เพื่อชมภาพแกะสลักยาวที่สุดในโลก
มุขกระสัน เชื่อมระเบียงคดชั้นแรก และ ชั้นที่สอง
ระเบียงคดชั้นที่ 2 เพื่อชมนางอัปสรา
และระเบียงคดชั้นที่ 3 สู่ที่ประทับของเทพ




พี่ไกด์พาเราเข้าทางโคปุระด้ายขวา แทนที่จะเป็นตรงกลาง เก็บความสงสัยไว้ในใจ  แต่ก็ไม่กล้าแตกแถว
เพราะ นครวัด กว้างกว่า ปราสาทบายน ปราสาทตาพรหม และ ปราสาทบันทายสรี หลายเท่า เกาะติดกลุ่มไว้ก่อนค่อยว่ากัน


ภาพ (ด้านบน) เป็นโคปุระกลาง  ถ่ายจาก บริเวณทางเดินอ้อมไปเข้าโคปุระด้านขวา


พอถึงทางขึ้นโคปุระด้านขวา ก็เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงให้เดินเข้าโคปุระด้านนี้  เพราะเป็นที่ประดิษฐานของ เทวรูปพระวิษณุ
หรือ พระนารายณ์  เพื่อให้ลูกทัวร์ได้กราบสักการะบูชาเป็นศิริมงคลก่อนจะเข้าชม นั่นเอง



องค์เทวรูปใหญ่โตมาก ขนาดเท่าสองเท่าของตัวคน  ดูน่าเกรงขาม สำหรับฉัน ดูน่ากลัวยังไงไม่รู้ กราบไหว้บูชาขอพรเสร็จสรรพ
ก็จ้ำอ้าวเข้าไปด้านใน


เทวรูปองค์นี้ ปัจจุบันนักวิชาการลงความเห็นว่าน่าจะเป็น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มากกว่าที่จะเป็นพระวิษณุ   เพราะดูจากศิลปะ
เป็นแบบบายน  อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ซึงเป็นยุคย้อนหลังจากสร้างนครวัด  องค์พระมี 8 กร และบนเศียรมีร่องรอยการแกะสลักสัญลักษณ์พระอามิตาภะพุทธ ประดับอยู่


ก้าวข้ามโคปุระทิศขวาของกำแพงชั้นนอก เข้ามาอาณาเขตด้านใน
ว๊าววว เห็นตัว ปราสาทนครวัด ลิบ ๆ แล้ว เก็บความตื่นเต้นแทบไม่อยู่



ระเบียงด้านหลังของโคปุระชั้นนอก มีภาพแกะสลัก นางอัปสรา มากมาย แต่เก็บภาพได้แค่นางเดียว คือ นางอัปรายิ้มเห็นฟัน
ต้องขอบคุณ น้องมี ช่างภาพประจำตัวเฉพาะกิจ ที่กวักมือเรียก  พี่ ๆ มาถ่ายตรงนี้ก่อน นางอัปสรายิงฟัน หัวเราะ


กว่าจะได้มุมนี้ ต้องเดินเลาะขอบกำแพงหิน ที่มีทางเดินให้แค่คนเดียว ค่อย ๆ เดินเข้าไปใกล้ภาพแกะสลักมากที่สุด จึงได้ภาพนี้มา
เป็น นางอัปสราสวมมงกุฎและเครื่องทรง ตามแบบศิลปะนครวัด ว่ากันว่าเป็น นางอัปราตนเดียวในนครวัด ที่ยิ้มเห็นฟันจะแจ้งแบบนี้


มัวแต่ตื่นเต้น ได้ถ่ายรูปคู่กับ นางอัปรายิ้มเห็นฟัน โพสต์ท่าเสร็จ ก็จำต้องรีบออกจากจุดที่ยืน เพราะมีกระแสจิตของคนที่ยืนรอ
เร่งให้ออกมาไว ๆ จะได้ถ่ายมั้ง เลยอดที่จะหยิบกล้องตัวเอง มาเล็งใบหน้าน้องนางอัปราชัด ๆ ว่ายิ้มฟันขาวสวยขนาดไหน


มีสะพานนาค ทอดตรงจากโคปุระกลางเข้าสู่ตัวปราสาท เปรียบเหมือน สะพานสายรุ้ง ที่ทอดยาวไปสู่เขาพระสุเมรุ
ตามคติความเชื่อของ ฮินดู



ซูมชัด ๆ ก่อนเข้าชม ยอดปรางค์ทั้งห้า ที่เปรียบเสมือน เขาพระสุเมรุ อันเป็นจุดศูนย์กลาง ล้อมด้วยปรางค์ขนาดย่อมลงมาสี่ทิศ



ระหว่างสะพานนาคที่ทอดยาวจากโคปุระกลาง  ไปยังตัวปราสาท มี บรรณาลัยขนาบสองข้างซ้ายขวา  รูปที่ถ่ายมานี้ (ภาพด้านล่าง)
เป็น บรรณาลัยด้านซ้ายมือ ขาเดินเข้ามาค่ะ   เชื่อกันว่า บรรณาลัย เป็นที่เก็บพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา    ได้แต่ยืนมอง
ตรงสะพานสายรุ้ง ไม่ได้เดินไปดูใกล้ ๆ เพราะต้องทำเวลาตามหาพี่ไกด์ ที่พาสมาชิกทัวร์หายไปทางไหนก็ไม่รู้ตามเคย



ทางด้านซ้ายมือของสะพานนาคก่อนถึงระเบียงคดชั้นแรก มีสระน้ำที่ยังเหลืออยู่ด้านเดียว เป็นมุมยอดฮิตที่บรรดานักถ่ายรูปทั้งหลาย
ไม่พลาด!!  นั่นก็คือ ถ่ายรูปปราสาทนครวัดยามเย็น  ภาพปราสาทนครวัดที่สะท้อนผิวน้ำ ยอดปรางค์ที่ทอดลงมาเคียงคู่กับต้นตาลนั้น
เป็นภาพที่สวยสง่างามที่สุดในสายตาฉัน



อย่าว่ากันเลยนะ ขอถ่ายรูปมุมนี้ ซีนนี้ เยอะหน่อย  เคยเห็นมุมนี้ ในนิตยสาร หนังสือนำเที่ยวจนเจนตา
มาวันนี้ ณ วินาทีนี้ ได้มายืนตรงนี้ มาถ่ายรูปด้วยตัวเอง ปลื้มอ่ะ




น้องมีรู้ใจ ถ่ายรูปให้โดยที่ไม่ต้องร้องขอ  นี่ก็ได้น้องมีที่กวักมือเรียกให้ลงจากสะพานนาค  ถ่ายรูปมุมนี้ก่อนจะเข้าไปชั้นในปราสาท
นี่ถ้าไม่ได้ถ่ายมุมนี้  คงเสียดายแทบน้ำตาร่วง นับว่าโชคชะตาไม่กลั่นแกล้งจนเกินไป



ชัด ๆ อีกซักภาพ สาวสยาม ณ เมืองยิ้ม ได้มายิ้มหน้านครวัด  ที่ในอดีตได้รับการยอมรับให้เป็น 1 ใน 7 สิ่ง มหัศจรรย์ของโลกแล้ว เย้ๆๆ



เสียดายนิดตรงนี้ นครวัด ในวันที่ฉันมาเยือน  มีบาดแผลเล็กน้อยตรงด้านโคปุระกลาง มีการบูรณะคลุมผ้าใบสีเขียว ทำให้นครวัดยามนี้
มีสีสันแปลกปลอมแต่งแต้ม  แต่ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติของการไปเที่ยวโบราณสถานที่ไหน ๆ มักจะเห็นการบูรณะเป็นของคู่กันเสมอ
ปลอบใจตัวเอง ไปงั้น อิอิ



ระเบียงคดชั้นแรก ของนครวัด มีภาพแกะสลักยาวที่สุดในโลก  เป็นภาพแกะสลักนูนต่ำ ที่เลื่องชื่อในบรรดากลุ่มปราสาททั้งหลาย
ในพระนคร  เป็นการแกะสลักที่ระเบียงคดทั้งสี่ทิศ ใช้พื้นที่มากกว่า 1 ตารางกิโลเมตร เลยทีเดียว

มีข้อสันนิษฐานว่า ใช้ช่างฝีมือหรือประติมากรจำหลักหินถึง 5,000 คน  ใช้เวลาแกะสลักหินนานกว่า 40 ปี  นอกจากจะเป็น
ภาพแกะสลักที่ยาวที่สุดในโลกแล้วในใจฉัน ยกให้ เป็นภาพแกะสลักหินที่สวยงามที่สุด อีกหนึ่งตำแหน่ง



ตรงนี้เป็น ระเบียงคดทิศตะวันตกปีกด้านเหนือ เป็นภาพแกะสลัก ศึกลงกา  มีความยาว 50 เมตร เป็นตอนท้ายของมหากาพย์รามายณะ
เมื่อกองทัพของพระรามบุกเข้ากรุงลงกา แล้วมีทศกัณฐ์ยกทัพออกมารบ

ภาพสำคัญของด้านนี้ อยู่ตอนกลางของภาพ คือ  ภาพพระรามยืนบนหลังสุครีพ กำลังแผลงศรใส่ทศกัณฐ์บนรถศึก



กูรูแนะนำว่า การเดินชมภาพแกะสลัก ตรงระเบียงคดนครวัด  ควรเดินทวนเข็มนาฬิกา เริ่มจาก ระเบียงคดทิศตะวันตกปีกด้านใต้
เดินเวียนไปทางทิศใต้ มาจบเอาที่ ระเบียงคดทิศตะวันกปีกด้านเหนือ   แต่ละทิศมีปรางค์ประจำมุม และถูกแบ่งด้วยโคปุระ
ระเบียงคดแต่ละทิศ เลยถูกแบ่งออกเป็นสองปีก  นี่ถ้ามาเดินละเลียดชมภาพแกะสลักจริงจัง คงใช้เวลากันเป็นครึ่งวันเลยละ

เสียดาย ที่ฉันไม่ได้เดินไปดู เพราะมัวพะวงว่าสมาชิกของกลุ่มเดินเข้าไปด้านในแล้ว ได้แต่ยืนถ่ายภาพแกะสลักบนฝาผนัง
รู้สึกทึ่ง ในความละเอียดละออแกะเป็นเรื่องเป็นราวได้งดงามอย่างบอกไม่ถูก


สันนิฐานกันว่า จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่ระเบียงคดวัดพระแก้ว  ได้แบบอย่างมาจากนครวัด นี่เอง

อิอิ กับมุมโปรดที่เห็นทีไรก็อดถ่ายไม่ได้  ซุ้มประตูที่ซ้อน ๆ กัน ยิ่งมองเข้าไป เหมือนซุ้มประตูจะเล็กลงเรื่อย ๆ
จังหวะที่คุณน้องสองคนสองสีเดินด้วยกันพอดี บังเอิญจริง!!


จากระเบียงคดชั้นล่างมี มุขกระสัน เชื่อมระหว่างระเบียงคดกับเทวาลัยด้านใน 3 ช่อง   เราเลือกเข้าทางช่องซ้ายสุด มี ห้องทุบอก
เพราะเวลายืนพิงหลังผนังหิน  เอามือทุบอก จะได้ยินเสียงสะท้อนก้องกังวานอย่างชัดเจน   เป็น ความอัศจรรย์ที่หาคำอธิบายไม่ได้
ของมหาปราสาทแห่งนี้   ตัวฉันไม่ได้ลอง มัวแต่เหลียวมองนั่นนี่ ตื่นตะลึงจนลืมถ่ายรูปตรงนี้ไป

รูปด้านล่างนี้ ว่ากันว่าเป็นสระน้ำ มีจำนวน 4 สระด้วยกัน   เปรียบเหมือน มหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งก็คือ
ปรางค์องค์กลางนั่นเอง   ปัจจบุัน เป็นสระน้ำเปล่า ๆ ไม่มีน้ำอยู่ด้านในแล้ว



ถ่ายรูปเป็นที่ระทึกหน่อยเนอะ ตรงจุดนี้  ยังอยู่ในมุขกระสันด้านซ้าย เป็นสระน้ำด้านในอยู่นะคะ

เลยจากตรงนี้อีกนิด ก็จะเป็น ใจกลางมหาปราสาทนครวัดกันแล้ว  กระทู้นี้ภาพและเนื้อหาเยอะเกินกำหนดแล้ว
แล้วจะมาลงรูปต่อให้ชมกันในตอนสองนะคะ

  
หมายเหตุ : ที่มาส่วนใหญ่ของข้อมูลเชิงลึก จากคู่มือนำเที่ยวนครวัด นครธม สำนักพิมพ์สารคดี นายรอบรู้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่