ชายผู้คิดจะฆ่าพระยาแรกนา ประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของพิธีแรกนา ในสมัยอยุธยา

มีประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับพิธีแรกนาขวัญ ในปีหนึ่งสมัยอยุธยา ครับ

"....จะไม่เป็นการนอกเรื่องหากจะพูดถึงอดีตของออกญากลาโหม เกี่ยวกับชาติกำเนิดและชีวิตตลอด จนความวุ่นวายต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากความเกเรในวัยหนุ่ม บิดาของออกญากลาโหมเป็นพี่ชายคนใหญ่ของพระชนนีของพระเจ้าทรงธรรม ชื่อว่าออกญา ศรีธรรมาธิราช (Oya Sidarma Thyra) ท่านผู้นี้มียศบรรดาศักดิ์แต่พ้น ราชการ และไม่มีส่วนในกิจการบ้านเมืองเลย ถึงกระนั้นก็มิได้ขวางกั้นความโปรดปราน

ทั้งนี้ เพราะความมีอารมณ์ดีและความโอบอ้อมอ่อนโยน ในการสนทนาปราศรัย พระเจ้าอยู่หัวในพระโกศทรงให้ความนับถือเขาในฐานะเป็นลุงและโปรดปรานเขามาก แต่ออกญาศรีธรรมาธิราชต้องถูกจำคุกบ่อยครั้งเพราะ การกระทำความผิดและความชั่วร้ายต่าง ๆ ของบุตรชาย เขาได้นำออกญากลาโหมมาถวายไว้ในพระราชวังตั้งแต่ยังเยาว์วัย

ครั้งแรกได้เป็นมหาดเล็ก ของพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นอายุ ๑๓ ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ามหาดเล็ก ตั้งแต่นั้นมาก็แสดงให้เห็นน้ำใจและความกล้าหาญ แต่ออกญากลาโหมใช้ชีวิตอย่างเลวทรามมาก มีความสนุกเพลิดเพลินจากการดื่มสุรา และสมรู้ร่วมคิดในการลักทรัพย์ ทั้งนี้ เนื่องจากถูกตั้งให้เป็นหัวหน้าไปกับพวกปล้นทำการปล้นในเวลาค่ำคืนบ่อย ๆ เรื่องนี้เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงสั่งสอน โดยฟันศีรษะด้วยดาบใหญ่หลายทีด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง และส่งไปจำขังในคุกมืด แต่ออกญากลาโหมก็พ้นโทษออกมาและได้รับความโปรดปรานอีก ทั้งนี้ เพราะความช่วยเหลือของน้าสาว คือ พระชนนีของพระเจ้าอยู่หัว

เมื่ออายุ ๑๖ ปี ก็ได้เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์ ( Pramonsy Saropha) หรือผู้บังคับกองทหารมหาดเล็ก แต่ทว่ามิได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้ดีเท่าที่เคยทำมาก่อน ครั้นอายุ ๑๘ ปี ก็ได้ทำผิดซึ่งมีโทษถึงตาย แต่ก็มีเหตุที่ทำให้รอดชีวิตมาได้ เรื่องราวมีดังนี้ มีประเพณีโบราณในอาณาจักรสยามตั้งขึ้นมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ แล้ว คือเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวและเมื่อเก็บข้าวเสร็จแล้วต้องทำความสะอาด พื้นดินเป็นการกำจัดแมลง และสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ ด้วยการจุดไฟที่กอต้นข้าว ที่เกี่ยวแล้ว ก่อนการหว่านต้องไถพื้นดินเสียก่อน พระเจ้าแผ่นดินเสด็จ ออกไปยังชนบทในพระอิริยาบถสง่างาม และพรั่งพร้อมด้วยข้าราชบริพาร จำนวนมาก เพื่อทำพิธีแรกนาขวัญปลดปล่อยพระธรณีให้รอดพ้นจากภูตผี ซึ่งจะได้ไม่เข้าไปปะปนกับเมล็ดข้าวและต้นข้าว ถ้าพระเจ้าแผ่นดิน ไม่เสด็จในงานพิธีนี้ การเพาะปลูกจะไม่เป็นผลเลย และถ้าหากพระองค์ ทรงทำพิธีนี้เอง พระองค์จะดำรงพระชนมชีพไปได้ไม่เกิน ๓ ปี

อาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณในแถบนี้ของโลกซึ่งสดับเรื่องราวสำคัญนี้ได้กล่าวว่า ตนได้ ตรวจเห็นในวิถีโครจรของดวงดาวว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เปลี่ยนประเพณี นี้ และมอบหน้าที่นี้ให้แก่ขุนนางแล้วพระราชวงศ์จะสิ้นสูญไปในไม่ช้า ฉะนั้น จึงทรงมอบหมายหน้าที่ให้แก่เจ้านายคนหนึ่งของราชสำนัก ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมุหนายก แต่คนผู้นี้ไม่สามารถทำพิธีนี้ได้เพราะได้สิ้นชีวิต ลงอย่างกะทันหัน ทรงขอความเห็นในเรื่องเหตุบังเอิญนี้ อาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณได้ทูลตอบว่า ดาวต่าง ๆ เป็นเหตุให้เกิดโชคร้ายทำนองนี้แก่ผู้ได้ รับมอบหน้าที่จากพระองค์ทุกคน เพื่อรักษาพิธีนี้ไว้ จำเป็นต้องมอบหน้าที่นี้แก่ขุนนางที่มียศต่ำ โดยให้เหตุผลว่า เหล่าภูตผีพากันกำเริบยะโส เพราะผู้มีเกียรติยศสูงมาทำพิธีขับไล่ และเทพเจ้าไม่ทรงพอพระทัยที่กษัตริย์และสมุหนายกถ่อมตนมากเกินไป โดยมาร่วมในการขับไล่ภูตผี

พระเจ้าแผ่นดินและที่ประชุมเสนาบดีเห็นว่าเหมาะสมแล้วที่เห็นด้วยกับความคิดนี้ซึ่งเป็นไปตามหลักการของโหราจารย์และพระภิกษุสงฆ์ จึงทรงแต่งตั้งผู้มีตำแหน่งเป็นออกญาข้าว (Oya Khauw) เป็นพระยาแรกนา เมื่อได้รับเลือกให้ทำพิธี ออกญาข้าวก็ถูกส่งไปอยู่ตามลำพังในที่ ๆ ห่างไกลพระนคร และไม่ออกจากที่พักหรือบริเวณรอบ ๆ บ้านด้วย จนกระทั่งถึงวันกำหนดสำหรับทำความสะอาดประเทศ จึงได้กลับไปยังราชสำนัก และเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ได้พระราชทานพระภูษา ใหม่อันเป็นฉลององค์ของกษัตริย์และให้สวมมงกุฎรูปกรวยแหลมลงบนศีรษะ ออกญาข้าวต้องนั่งในบุษบกเล็ก ๆ ทรงปิระมิด มีคน ๘ คนหาม ออกเดินจากพระราชวังไปตามถนน มีบริวารล้นหลามพร้อมด้วยเครื่อง ดีดสีตีเป่าติดตามไปยังชนบท ทุก ๆ คนแม้แต่เสวกามาตย์และชาววังคน อื่น ๆ ถวายเกียรติยศทำนองเดียวกับที่ถวายพระเกียรติยศแก่พระเจ้า แผ่นดิน ทั้งนี้ เพราะเขาได้ถูกสมมติให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ออกญาข้าวไม่ได้รับค่าตอบแทนอื่นใด นอกจากเงินที่เก็บจากค่าปรับไหมจากคนที่พบกลางทาง และคนที่ไม่ปิดประตูบ้านเมื่อขบวนผ่านมา หรือคนที่เปิดร้าน หรือแผงลอยในถนนโล่ง ๆ จ่ายให้ เพราะเขามีสิทธิแย่งยื้อเอาจนกว่าคนเหล่านั้นจะยอมจ่ายเงินชดเชยให้ ทั้งนี้ เขาได้รับเงินรวม ๓ ชั่ง เป็นเงินสยาม ซึ่งมีค่ามากกว่า ๔๐ เหรียญโบราณของเสปญเล็กน้อย สำหรับวันนั้น ในทันทีที่ออกจากพระราชวังก็มีอำนาจและเกียรติยศเช่นเดียวกับพระเจ้าอยู่หัว ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้สมเหตุสมผล พระเจ้าแผ่นดินเองจะไม่เสด็จจากพระราชวังเลย และไม่ปรากฎองค์ให้ใครเห็นด้วย

พระยาแรกนาเมื่อมาถึงโรงพิธี ก็อนุญาตให้ทุก ๆ คน เข้าโจมตีต่อสู้กับพรรคพวกและบริวารผู้ติดตาม มีกฎอยู่ว่า ผู้ที่เข้าโจมตีจะแตะต้องตัวหรือองครักษ์ของพระยาแรกนาไม่ได้ และถ้าหากพระยาแรกนาได้ชัยชนะในการต่อสู้กับ ฝูงชนแล้ว จะเป็นสัญญลักษณ์ว่า ปีนั้นข้าวจะอุดมสมบูรณ์ และถ้าการ กลับตรงกันข้าม พระยาแรกนาต้องหนีกระเจิง ก็ทำนายได้ ว่าเป็นลางร้าย และเกรงว่าภูตผีจะทำลายพืชผลของแผ่นดิน พิธีขำ ๆ เหล่านี้จบลงอย่าง ง่าย ๆ แต่มีบ่อยครั้งที่การต่อสู้รุนแรงถึงมีผู้เสียชีวิตหลายคน

สุดท้ายของ พิธีนี้ พระเจ้าแผ่นดินปลอมได้กลับไปยังพระราชวังในเวลาเย็นเพื่อได้ถอด มงกุฎและเครื่องทรงกษัตริย์อื่น ๆ ออกและกลับมียศตำแหน่งสามัญดังเดิม ตลอดปีนั้นเขาจะอยู่เย็นเป็นสุขหรือว่าเจ็บไข้ ก็แล้วแต่โชคดีร้ายและค่า ปรับสินไหมที่ได้รับในวันนั้น

ขณะนั้นออกญากลาโหมเพิ่งมียศเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ และมีอายุประมาณ ๑๘ ปี วันหนึ่งเมื่อมีการทำพิธีนี้ เขาได้อยู่ที่ชนบทนั้นด้วย โดย มากับน้องชายซึ่งบัดนี้เป็นฝ่ายหน้าหรือมหาอุปราช ทั้ง ๒ คนขี่ช้างมีบ่าว ไพร่ติดตามมาหลายคน และได้เข้าโจมตีพระยาแรกนาอย่างดุเดือด ดูเหมือนว่ามีเจตนาจะฆ่าพระยาแรกนาและกลุ่มผู้ติดตามทั้งหมดด้วย ฝ่ายองครักษ์เห็นดังนั้นก็เข้าต่อสู้ป้องกันพระเจ้าแผ่นดินตัวปลอม ต่อต้านสองขุนนางหนุ่ม และขว้างก้อนหินไปถูกน้องชายได้รับบาดเจ็บ จมื่นศรีสรรักษ์ก็ถอดดาบและโถมเข้าสู้อย่างดุเดือดจนพระยาแรกนาและองครักษ์จำต้องถอยหนี

พระยาแรกนากลับมายังพระราชวังและนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นโดยจมื่นศรีสรรักษ์ เป็นผู้ก่อ พระเจ้าอยู่หัวกริ้วเป็นกำลังถึงเรื่องความชั่วร้ายที่ได้เกิดขึ้น พระองค์รับสั่งให้ค้นหาตัวจมื่นศรีสรรักษ์ และให้นำมายังพระราชวัง แต่คน ชั่วผู้นี้รู้ตัวดีว่ามีผู้ติดตามจับ จึงซ่อนตัวอยู่ในโบสถ์กับบรรดาสงฆ์ และ ไม่กล้าเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินในขณะที่ทรงพิโรธหนัก เมื่อพระเจ้าแผ่นดิน ไม่อาจลงโทษให้สมกับพระอารมณ์ขุ่นเคืองได้ ออกญาศรีธรรมาธิราช ( Oya Sidarma Thyra ) จำต้องได้รับผลการกระทำนี้

พระองค์รับสั่งว่า จะประหารชีวิตเขาถ้าหากไม่นำตัวบุตรชายมาเฝ้า จมื่นศรีสรรักษ์เมื่อทราบข่าว จึงออกจากที่หลบซ่อนมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว และทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ถูกมหาดเล็กจับตัวไว้ พระเจ้าแผ่นดินทรงฟันเขา ๓ ทีที่ขา ทั้ง ๒ ข้าง จากหัวเข่าลงมาถึงข้อเท้า แล้วพระองค์จับเขาโยนเข้าไปใน คุกใต้ดิน รับสั่งให้พันธนาการไว้ด้วยโซ่ตรวนที่ส่วนทั้ง ๕ ของร่างกาย จมื่นศรีสรรักษ์ถูกจำขังอยู่ในคุกมืดเป็นเวลา ๕ เดือน จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ ( Zian Croa Mady Tjan ) ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระ โกศ คือ พระ Marit หรือพระองค์ดำได้ทูลขอ จึงได้กลับเป็นที่โปรดปรานอีก


พิธีแรกนาในสมัยอยุธยานี่ดูแปลกๆ ดีนะครับ ทีนี้มีคำถามให้ทายนะครับว่า

๑. พิธีแรกนาครั้งนี้ จัดขึ้นในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด..?

๒. ผู้ที่คิดจะฆ่าพระยาแรกนา ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระนามว่าอะไร..?
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่