13 ตุลาคม 2561 -- วันนี้เรา มาย้อนดูกะทู้เก่าๆ กันครับ เมื่อสองปีที่แล้ว

https://ppantip.com/topic/35696761


13 ตุลาคม 2559 เวลา 12:42 น.


___________________



https://ppantip.com/topic/35699480

9 เรื่องยิ่งใหญ่ พ่อหลวงของแผ่นดิน



9 เรื่องยิ่งใหญ่ พ่อหลวงของแผ่นดิน




1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพในราชสกุล มหิดล อันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เสด็จพระราชสมภพที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น

2.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ พระชนมายุยังไม่เต็ม 19 พรรษา ไม่ทรงรู้พระองค์มาก่อนว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทย และขณะนั้นกำลังทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยโลซาน ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

3.เถลิงถวัลยราชสมบัติ 9 มิถุนายน 2489

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 สืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลกที่มีพระชนมชีพอยู่ และยาวนานที่สุดในประเทศไทย

4.ในหลวงไม่ทิ้งประชาชน

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า จะทรงครองราชสมบัติเพียงชั่วระยะเวลาจัดงานพระบรมศพพระบรมเชษฐาให้สมเกียรติเท่านั้น แต่ความจงรักภักดีของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ที่มีต่อพระองค์อย่างแน่นแฟ้น ยังผลให้ตัดสินพระราชหฤทัยรับราชสมบัติ  

ซึ่งมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในวันเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 เพื่อทรงศึกษาวิชาการเพิ่มเติม ระหว่างประทับรถพระที่นั่งไปสู่สนามบินดอนเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนลั่นว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”

5.การตัดสินพระทัยรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์

การตัดสินพระทัยรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศไทยและคนไทยคลายความโศกเศร้าที่ต้องเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไปเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศไทยและคนไทยได้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ผู้ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะอุทิศทั้งพระวรกายและพระหฤทัย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย ในทันทีที่ทรงรับราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาจากวิชาวิทยาศาสตร์ไปเป็นวิชาสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ โดยที่ทรงเห็นว่าเป็นวิชาที่สำคัญและจำเป็นสำหรับตำแหน่งประมุขของประเทศ

6. พระราชกรณียกิจบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงอยู่ในฐานะพระมหากษัตยริย์ พระราชกรณียกิจทั้งปวงที่ทรงปฏิบัติมานั้น เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาคิดถึงแต่การที่จะบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชน คนไทยส่วนใหญ่เป็นกสิกร อาศัยดินและน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพ เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในเรื่องดินและน้ำ ยังทรงคิดค้นหาวิธีที่จะให้กสิกรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นดินและแหล่งน้ำในประเทศไทยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปสารทิศใดก็ตาม ทรงศึกษาทั้งสองเรื่องอย่างละเอียดลึกซึ้ง

7. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ครั้งแรก

เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาคนโตของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ครั้งแรกที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ.2490 ขณะนั้นพระบิดาทรงเป็นอัครราชทูตและครอบครัวได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเสมอ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ได้เกิดงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสจัดขึ้น ณ พระตำหนักใหม่วังสระปทุม วันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระตำหนักชั้นบนพร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพแด่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าตอนกลางคืนมีงานพระราชทานเลี้ยงเป็นการภายใน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในหมู่พระประยูรญาติและข้าราชบริพารใกล้ชิดไม่เกิน 20 คน นับเป็นงานฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เล็กที่สุดงานหนึ่ง  

8.เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

ต่อมา วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตยริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเปล่งเสียงพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม หลังจากนั้น มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

9.พ่อของแผ่นดิน ทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม 10 เป็นธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน หรือคุณสมบัติของนักปกครองที่ดี สามารถปกครองแผ่นดินโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน มีด้วยกัน 10 ประการ คือ

1. ทาน การให้ทรัพย์สินสิ่งของ

2. ศีล ความประพฤติดีงาม

3.ปริจจาคะ ความเสียสละ

4.อาชชวะ ความซื่อตรง

5.มัททวะ ความอ่อนโยน

6.ตปะ ความทรงเดชเผากิเลสตัณหา ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ

7.อักโกธะ ความไม่กริ้วโกรธ

8.อวิหิงสา ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน

9.ขันติ ความอดทนเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย

10.อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม

ที่มา : หนังสือ พระเจ้าอยู่หัว กระทรวงศึกษาธิการ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่