พระพุทธโฆษาจารย์ ผู้มีคุณต่อชาวพุทธเถรวาท

จะวิจารณ์เรื่องส่วนตัวของพระพุทธโฆษาจารย์กันบ้าง ไม่ใช่จ้วงจาบไม่ใช่นินทาไม่ใช่ใส่ร้าย แต่เอามาเป็นเหตุผล สำหรับประกอบการอธิบายปฏิจจสมุปบาทของท่าน ซึ่งมันมีแง่ให้เราตั้งข้อสังเกตเพียงตั้งข้อสังเกตว่า พระพุทธโฆษาจารย์นั้น ท่านเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด ท่านเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพราหมณ์ ท่านจบไตรเพทอย่างพราหมณ์ทั่วไป มีวิญญาณอย่างพราหมณ์แล้วจึงมาบวชในพุทธศาสนานี้ แล้วได้รับสมมติกันในหมู่คนบางพวกว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เมื่อ พ.ศ.ร่วมพันปี นักโบราณคดีถือว่าท่านเกิดทางอินเดียใต้มิใช่ชาวมคธ บางพวกดึงท่านเป็นมอญก็มีไม่เหมือนในอรรถกถา ที่ถือว่าท่านเป็นชาวมัธยมประเทศ ท่านเป็นพราหมณ์โดยเลือดเนื้อแล้วมาเป็นพระอรหันต์ในพุทธศาสนานี้ แล้วถ้าเกิดไปอธิบายปฏิจจสมุปบาทของพุทธให้กลายเป็นพราหมณ์อย่างนี้มันยิ่งสมเหตุสมผล คือท่าน “เผลอ” ไปก็ได้ ถ้าท่านเผลอท่านไม่ใช่อรหันต์แน่ ข้อนี้จะว่าอย่างไร ก็ต้องพูดอย่างที่เรียกว่า ขอฝากไว้ให้ท่านผู้มีสติปัญญาพิจารณาดูเถิด


ใส้เดือนเห่าใส่พญานาคราช


พุทธเถรวาททั้งประเทศไทยหายโง่เพราะท่านผู้นี้


พระพุทธโฆษาจารย์

ในจำนวนพระอรรถกถาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถา หากเอ่ยนามของพระพุทธโฆษาจารย์แล้ว นักบาลีทั้งหลายย่อมรู้จักเป็นอย่างดี เพราะคณะสงฆ์ได้กำหนดใช้คัมภีร์อรรถกถาซึ่งเป็นผลงานของท่าน ตั้งแต่อรรถกถาธรรมบทเป็นต้น จนถึงคัมภีร์วิสุทธิมรรคให้เป็นหลักสูตรเรียนบาลี พระพุทธโฆษาจารย์เป็นนักปราชญ์ชาวอินเดีย ผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถาอธิบายข้อความในพระไตรปิฎกที่มีชื่อเสียงมากของฝ่ายเถรวาท ประวัติความเป็นมาของท่านนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในที่นี่จึงขอนำประวัติของท่านซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ และที่ได้มีผู้เรียบเรียงไว้ โดยจะนำในส่วนของประวัติที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ 2 เล่ม คือ คัมภีร์มหาวังสะ(พงศาวดารลังกา) ซึ่งรจนาโดย พระธัมมกิตติเถระ และในคัมภีร์พุทธโฆสุปปัตติ ซึ่งรจนาโดย พระมหามงคลเถระ ก่อน จากนั้นจะได้นำส่วนที่มีผู้เรียบเรียงไว้มาเสนอ เพื่อเป็นการเสริมความรู้และจะได้ศึกษาเทียบเคียงกันได้ต่อไป

ในคัมภีร์มหาวังสะ พระธัมมกิตติเถระได้กล่าวไว้ว่า มีพราหมณ์คนหนึ่งเกิดใกล้กับสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีความรู้แตกฉานในไตรเพท ด้วยความหยิ่งผยองในความรู้ของตนพราหมณ์คนนั้น จึงได้เที่ยวไปโต้ตอบปัญหากับนักปราชญ์ทั่วชมพูทวีปจนไม่มีใครเทียบเขาได้ วันหนึ่ง เขาไปพักยังวัดแห่งหนึ่ง ตกกลางคืนก็สาธยายมนต์ชื่อ ปตัญชลี พระเรวตะเถระผู้เป็นสังฆเถระในวัดนั้น ได้สดับเสียงสาธยายมนต์นั้น จึงร้องถามไปว่า “ลาที่ไหนมาร้องอยู่ที่นี่” พราหมณ์หนุ่มได้ยินก็เดือดดาลจึงร้องสวนไปว่า ชิชะ สมณะ ท่านรู้หรือไม่ว่า เสียงลานี้หมายความว่าอย่างไร? พระเถระได้อธิบายความหมายขอมนต์นั้นให้เขาฟังอย่างถูกต้องทุกประการ จึงทำให้เขาเกิดความพิศวง ในที่สุดพระเรวตะเถระได้ยกปัญหาอภิธรรมมาถามบ้าง พราหมณ์หนุ่มตอบไม่ได้ อยากจะได้มนต์นั้น จึงขอบวชศึกษาพระไตรปิฎกอยู่กับพระเรวตเถระ จนมีความรู้แตกฉาน ภายหลังจึงปรากฏนามว่า “พุทธโฆสะ” หรือ “พระพุทธโฆษาจารย์”

ขณะที่พักอยู่กับพระอุปัชฌาย์นั้น พระพุทธโฆสะ ได้แต่งคัมภีร์ ญาโณทัย เสร็จแล้วจึงได้เริ่มแต่งอรรถกถาพระอภิธรรม ชื่อ อัตถสาลินีและอรรถกถาพระปริตร (พระสูตร) พระอุปัชฌาย์ทราบเข้า จึงแนะนำให้แปลอรรถกถาพระไตรปิฎกที่ลังกาจากภาษาสิงหฬมาเป็นภาษามคธ แล้วนำกลับมาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก ท่านออกเดินทางไปยังเกาะลังกาตามคำแนะนำของพระอุปัชฌาย์เข้าพบกับพระสังฆปาลเถระพระสังฆราชแห่งลังกา แล้วขออนุญาตแปลอรรถกถาพระไตรปิฎก พระสังฆราชจึงตั้งกระทู้คาถาให้ 4 บาท เพื่อทดสอบสติปัญญาว่าท่านพระพุทธโฆษาจารย์จะสามารถทำงานใหญ่เช่นนี้ได้หรือไม่

พระพุทธโฆสะ ได้แต่งหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง พรรณนาพระคาถานั้นโดยพิสดาร ให้ชื่อว่า “วิสุทธิมรรค” ซึ่งนับเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุด หลังจากพระสังฆปาลเถระตรวจสอบปกรณ์ที่พระพุทธโฆสะแต่งขึ้นถวายแล้ว ก็อุทานด้วยความปลาบปลื้มว่า “ภิกษุหนุ่มรูปนี้เห็นจะเป็นพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์แน่แท้” แล้วได้มอบพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาให้ พระพุทธโฆสะได้ศึกษาจนช่ำชองแล้วจึงได้เริ่มถ่ายทอด (แปล) สู่ภาษามคธ ท่านใช้เวลา 1 ปี เสร็จแล้วจึงนำคัมภีร์เหล่านั้นกลับไปยังชมพูทวีป

ส่วนในคัมภีร์ พุทธโฆสุปปัตติ พระมหามงคลเถระกล่าวไว้ว่า มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งนามว่าโฆสะ เกิดในตระกูลเกสีพราหมณ์นายบ้านโฆสะ มีไหวพริบสติปัญญาเป็นเลิศ สามารถเรียนจบไตรเพทแต่เยาว์วัย วันหนึ่งพระเรวตะเถระผู้รู้จักคุ้นเคยบิดาของโฆสะได้ไปเยี่ยมและได้นั่งบนอาสนะของโฆสะทำให้เขาไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงได้ไล่เรียงความรู้กับพระเถระในเรื่องของมนต์ในไตรเพท ด้วยหมายใจจะให้พระเถระได้รับความอับอายและแสดงว่าผู้ที่ไม่รู้ไตรเพท ไม่ควรจะนั่งบนที่นั่งของเขา แต่การณ์หาได้เป็นดังนั้นไม่ พระเถระตอบปัญหาได้ทุกแง่ทุกมุม ในที่สุดได้ย้อนถามปัญหาในพระอภิธรรมบ้าง เด็กหนุ่มจนปัญญาไม่สามารถตอบได้ ด้วยความอยากได้มนต์จากพระเถระ จึงขออนุญาตจากบิดามารดาบวชอยู่กับพระเถระ ปรากฏนามว่าพระพุทธโฆสะ ต่อมาไม่นานพระพุทธโฆสะก็เกิดอคติมานะขึ้นในใจว่าเรากับพระอุปัชฌาย์ใครจะรู้มากกว่ากัน พระเรวตเถระทราบความหยิ่งผยองของศิษย์จึงเรียกไปตักเตือน ภิกษุหนุ่มสำนึกผิดกราบขอขมา พระเถระกล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่แปลอรรถกถาสิงหฬมาเป็นภาษามคธ เธอจะยังไม่พ้นโทษ ภิกษุหนุ่มจึงตกลงเดินทางมาลังกาด้วยเหตุนี้ ก่อนไปได้ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ไปโปรดบิดามารดาให้กลับเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วจึงเดินทางไปยังลังกาทวีป

ในขณะที่เรือของพระพุทธโฆสะแล่นไปยังเกาะลังกานั้น ท่านได้สวนทางกับพระพุทธทัตตเถระ ภิกษุชาวชมพูทวีป ซึ่งเพิ่งกลับจากไปแปลอรรถกถาที่ลังกาเช่นเดียวกัน พระพุทธทัตตเถระเล่าว่าท่านได้แต่งคัมภีร์ ชินาลังการ, ทันตะวังสะและโพธิวังสะ เสร็จแล้วพร้อมทั้งได้สวดคาถาบางตอนจากชินาลังการให้พระพุทธโฆสะฟัง เมื่อพระพุทธโฆสะเรียนว่าหนังสือของท่านยากเกินไปกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ท่านจึงกล่าวว่า “คุณ ผมไปลังกาคราวนี้ตั้งใจจะแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาให้จบ แต่ก็ทำได้แค่นี้ เนื่องจากอายุสังขารไม่อำนวย ขอคุณจงทำให้สำเร็จเถิด” แล้วได้มอบเหล็กจารหินและสมอดีงูสำหรับฝนทาแก้ขัดยอกและแก้โรคต่างๆให้พระพุทธโฆสะแล้วแยกทางกันไป

เมื่อพระพุทธโฆสะถึงท่าวิชาฐาน ท่านได้พบหญิงคนใช้สองนางกำลังทะเลาะวิวาทโต้คารมกันอย่างถึงพริกถึงขิง นึกสนุกจึงจดบันทึกคำด่าของหญิงคนใช้ทั้งสองไว้หมดทุกคำ นึกในใจว่าถ้าเรื่องไปถึงศาล ท่านคงถูกอ้างเป็นพยานแน่และเรื่องก็เป็นดังคาด เมื่อท่านถูกตามตัวไปเป็นพยานท่านก็ได้มอบคำด่าให้เจ้าพนักงานไป ปรากฏว่าเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินคดีอย่างมากมาย

ต่อมาพระราชารับสั่งหาตัวให้มาเข้าเฝ้า การณ์ทั้งหมดนี้แสดงว่าพระพุทธโฆสะมีความเฉลียวฉลาด เชี่ยวชาญและเป็นเลิศในนิรุกติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นพระพุทธโฆสะไปเข้าไปยังวิหารเพื่อนมัสการพระสังฆปาลเถระพระสังฆราชแห่งลังกา บังเอิญเดินผ่านไปได้ยินเสียงพระสังฆราชกำลังสอนพระอภิธรรมอยู่และเกิดขัดข้องไม่สามารถจะให้ความกระจ่างในข้อความบางตอนได้ ภิกษุหนุ่มจึงได้แอบไปเขียนคำอธิบายไว้ วันรุ่งขึ้นพระสังฆราชไปพบเข้าจึงซักไซร้ไล่เลียง รู้ว่าเป็นคำอธิบายของภิกษุหนุ่มและรู้ว่าเธอมาเพื่อแปลพระพุทธพจน์จากภาษาสิงหฬสู่มคธ จึงได้มอบคาถาที่ขึ้นต้นว่า “สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ” ให้แต่งอธิบาย เพื่อทดสอบความสามารถ ภิกษุหนุ่มได้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค เสร็จแล้วนำไปถวาย ปรากฏว่าผลงานชิ้นแรกที่แต่งในลังกานี้ ได้สร้างความเชื่อถือแก่พระมหาเถระ จนกระทั่งพระมหาเถระทั้งหลายได้มอบหมายให้แปลพระไตรปิฎกตาม ปรารถนา พระพุทธโฆสะเขียนคัมภีร์อรรถกถาอยู่สามเดือน ออกพรรษาแล้วนำตำราทั้งหมดไปถวายพระสังฆราช ก่อนออกจากลังกามีเสียงพูดว่าพระพุทธโฆสะก็รู้แต่บาลี หารู้สันสกฤตไม่ ท่านกำจัดวิมติกังขาในเรื่องนี้ด้วยการแสดงธรรมเป็นภาษาสันสกฤตฝากลวดลายเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อนำคัมภีร์อรรถกถากลับมาตุภูมิคือประเทศอินเดียแล้ว ท่านได้ไปกราบขอขมาพระอุปัชฌาย์ แต่ตอนท้ายในคัมภีร์ทั้งหลายไม่ปรากฏว่าพระพุทธโฆษาจารย์มรณภาพที่ไหน อย่างไร นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่บ้าง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่