Melancholia อ้างว้างกลางอวกาศ (รีวิว)

Melancholia
อ้างว้างกลางอวกาศ




    มีคำในภาษาไทยอยู่หลายคำที่ต่างคนต่างหาเพื่อนำมาใช้อธิบายเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Melancholia ของ ผกก. ชื่อดังชาวเดนมาร์กอย่าง Lars von Trier นับตั้งแต่ชื่อภาษาไทยฉบับทางการของหนังเรื่องนี้ที่ฟังดูหวานซึ้งอย่าง “รักนิรันดร์ วันสิ้นโลก” ไปจนถึงคำที่ฟังดูแหวกแนวออกไปอย่าง “วันโลกแตกของสาวจิตตก” แต่ถึงกระนั้น สำหรับตัวของฮารุกิเอง มีหลายคำที่ปรากฏขึ้นมาในหัวเมื่อได้ดูหนังเรื่องดังกล่าว (แม้จะได้ดูแบบไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าใดนัก) ไม่ว่าจะเป็น “ยิ่งใหญ่” “อลังการ” รวมถึงคำอย่าง “เวิ้งว้าง”

    ภาพยนตร์เรื่อง Melancholia โหมโรงด้วย prologue นานหลายนาทีที่โชว์งานภาพขั้นเทพ ทั้งภาพจากหนังเอง ภาพในเชิงสัญลักษณ์ รวมทั้งภาพเขียนอย่าง The Hunters in the Snow ของจิตรกรชาวเฟลมมิชอย่าง Pieter Bruegel พร้อมทั้งกระหน่ำโสตประสาทด้วยบทบรรเลง Tristam and Isolde อุปรากรนักประพันธ์ชาวเยอรมันยุคโรแมนติก Richard Wagner (คนเดียวกับที่เกี่ยวคล่องกับปราสาท Neuschwannstein)

    แม้เราอาจไม่เคยรู้จักชื่อของ Lars von Trier มาก่อน แต่เราก็คงจะรู้ได้แต่ทีแรกที่ได้ชมบทโหมโรงว่า นี่คงไม่ใช้หนังสิ้นโลกในสไตล์ของ Hollywood อย่าง Deep Impact หรือ Amargeddon โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโหมโรงสิ้นสุดลงด้วยภาพการปะทะกันของโลกกับดาวเคราะห์สีฟ้าอีกดวงหนึ่ง

    “Melancholia” อันแปลว่า “ความเศร้าโศก” คือ ชื่อของดาวเคราะห์ดวงนั้น...

    เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวช ชื่อแรกๆ ที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงคงจะเป็น A Beatiful Mind, ที่เป็นเรื่องราวของผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) อย่างไรก็ตาม มีความป่วยไข้ทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง ที่พบอยู่บ่อยยิ่งกว่า และผลกระทบต่อผู้ป่วย แม้อาจจะไม่ได้รุนแรงเท่า แต่ว่าก็เป็นภาระหนักต่อชีวิตของผู้ป่วยเช่นกัน คือ โรคซึมเศร้า หรือที่เรียกเป็นศัพท์ทางวิชาการว่า Major depressive disorder (MDD)

    สำหรับฮารุกิแล้ว อ้างอิงจากประสบการณ์ของตัวเองที่เคยประสบพบเจอมา พบว่า Melancholia เป็นหนังที่แสดงภาพพจน์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดีมาก  บางทีอาจจะเป็นเพราะตัวของ Lars von Trier เองก็ต้องเผชิญกับภาวะนี้อยู่เช่นกัน และตัวของ von Trier เองก็กล่าวไว้ว่าหนังเรื่องนี้มาจากการที่ประสบการณ์ depressive episode ของตัวเขาเอง ร่วมกับการตัวของผู้กำกับได้พบว่า คนที่มีภาวะซึมเศร้าจะรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดสิ้นหวังได้ดีกว่าคนทั่วไป

    เนื้อหาของ Melancholia นั่นเป็นเรื่องราวของสองสาวพี่น้องนามว่า แคลร์ (พี่สาว) และ จัสทีน (น้องสาว) โดยเริ่มจากเรื่องราวของจัสทีน ผู้ซึ่งป่วยด้วยโรคซึมเศร้า พยายามปรับตัวเข้ากับโลก และพยายามใช้ชีวิตแบบคนปกติ แต่เธอก็ล้มเหลว ชีวิตเริ่มเสียสูญและเสียการควบคุมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่อาจทำงานได้ ต้องมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของพี่สาว โดยตัวของจัสทีนนั้นแทบจะช่วยเหลือหรือดูแลตัวเองไม่ได้เลย แม้กระทั่งการอาบน้ำ



    แต่ทว่าเมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป เมื่อความจริงปรากฏแก่ชาวโลกว่า ดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่มีนามว่า 'เมลันโคเลีย' กำลังจะพุ่งเข้าชนโลกจนแหลกเป็นผุยผง ไม่มีทางหนีทีไล่ใดๆ กลับกลายเป็นว่าคนที่เสียการควบคุมตัวเองกลับเป็นแคลร์ ในขณะที่จัสทีนเป็นผู้ซึ่งรับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่าและเป็นฝ่ายปลอบโยนลูกชายของแคลร์ที่กำลังเสียขวัญ

    ตำราทางการแพทย์และทางจิตวิทยาได้บอกไว้ว่า คนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั้น จะมีทั้งความรู้สึกสิ้นหวัง (Hopelessness) และความรู้สึกไร้ค่า (Helplessness) ซึ่งดูเหมือนว่าจัสทีนจะมีอยู่ครบทั้งสองอย่างนั้น

    แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อทั้งคนธรรมดา และคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามาพบกับเหตุการณ์ที่ Hopeless และ Helpless อย่างแท้จริงเช่นการปะทะกันของโลกและเมลันโคเลีย? บางทีนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ตัวผกก.อยากตั้งคำถาม

    มีคนวิเคราะห์ว่าที่จัสทีนรับมือกับเรื่องดังกล่าวได้ดีกว่าแคลร์นั้นเป็นเพราะว่า แคลร์มีชีวิตที่ดี (ในมุมมองของตัวเธอเอง) มาก่อน จึงทนไม่ได้ที่มันจะสูญเสียไป  ในขณะที่จัสทีน มองว่าชีวิต (และโลก) เป็นเรื่องเหลวไหลไม่มีแก่นสารมาตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่เสียดายหากจะต้องเสียมันไป

    น่าสนใจที่ตัว ผกก. อย่าง Lars von Trier ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่จบแบบ 'Happy ending' ซึ่งทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า นี่คือ ตอนจบที่มีความสุขจริงหรือ ในเมื่อโลกทั้งโลกสิ้นสลายไป

    ก็มีคนไปวิเคราะห์ต่อเช่นกันว่า บางที่นั่นอาจจะเป็น 'Happy ending' สำหรับจัสทีน ที่จบชีวิตลงไปโดยไม่มีใครต้องห่วง ไม่ได้จากไปด้วยความผิดบาปใดต่อการจบลงของชีวิตตนเอง  ซึ่งก็น่าสนใจ เพราะฮารุกิเองก็ได้พบว่า คนที่มีโรคซึมเศร้านั้น มักจะมีมุมมองต่อชีวิตในทางที่ไม่ได้ pro-life อยู่แล้ว และหลายครั้ง พวกเขาก็จะถามตัวเองว่า 'ชีวิตมีค่ามากพอที่จะเหนี่ยวรั้งเอาไว้จริงหรือ'

    หนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ มีตัวละครอยู่เพียงไม่กี่ตัว และเรื่องราวทั้งหมดก็อยู่รอบบ้านที่ดูเหมือนกับปราสาทหลังใหญ่ของครอบครัวแคลร์ ดังนั้นเราจึงไม่ได้เห็นเลยว่าเกิดอะไรขึ้นใน 'โลก' ที่อยู่นอกอาณาบริเวณของปราสาทหลังนั้น

    เราไม่รู้ว่าจะมีภาพความวุ่นวาย เหมือนในตอนท้ายของหนังเรื่อง Knowing (ซึ่งเป็นหนังอีกเรื่องที่จบลงด้วยการสิ้นสุดของโลก) หรือไม่

    เรารู้เพียงว่าในท้ายที่สุดแล้ว โลกทั้งโลกก็ต้องสิ้นสุดลง ไม่ว่าคนบนโลกนี้จะดิ้นรนสักเพียงไร



    Melancholia ทิ้งท้ายเราด้วยคำถามเดียวกับคำถามใน Knowing ว่า ท้ายที่สุดแล้วเราจะเลือกจากไปอย่างไร อย่างสงบหรืออย่างทุรนทุราย

    ...ในเมื่อมีจุดเริ่มต้นก็ต้องมีจุดสิ้นสุด และ 'การจากไป' ก็เป็นส่วนหนึ่งของ 'ชีวิต' อยู่แล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่