หนูรู้ไหม...มีความลับอะไรอยู่ในข้าวโพด

กระทู้ข่าว

***กิจกรรมลุยสวนข้าวโพดจำลอง

.......................นอกจากข้าวที่เป็นอาหารหลักแล้ว หลายคนคงจะได้ทานข้าวโพดอยู่เป็นประจำ อย่างอาหารเช้าซีเรียล หรือน้ำนมข้าวโพด แต่จะมีใครรู้บ้างไหมว่า กว่าที่ข้าวโพดจะโตขึ้นมาให้เราได้ทาน กว่าจะเป็นอาหารรูปแบบต่างๆนั้น ผ่านกระบวนการความมหัศจรรย์มากมาย และรู้หรือไม่ว่าข้าวโพดเป็นได้มากกว่าอาหารให้เรากิน
       
                      เราเคยสงสัยถึงต้นกำเนิดของข้าวโพดบ้างไหมว่า แท้จริงแล้วข้าวโพดถือกำเนิดมาได้อย่างไร? ชื่อว่า "ข้าวโพด" ทำให้เราสันนิษฐานได้ว่า เป็นพืชตระกูลเดียวกับข้าว และให้สารอาหารประเภทแป้งเช่นกัน แต่ข้าวโพดนั้นได้มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา และในปีพ .ศ. 2463 ม.จ.สิทธิพร กฤษดากร ได้นำข้าวโพดเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกพร้อมหมูและไก่พันธุ์ดีให้เกษตรกรได้ปลูกเลี้ยงประกอบอาชีพกัน
       
                      ข้อมูลน่าอัศจรรย์ทั้งหลายของข้าวโพดเปิดเผยภายใน “ค่ายนักสืบข้าวโพด...พืชมหัศจรรย์ทางเลือกในอนาคต” ที่ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดกิจกรรมศึกษาความรู้ ความสำคัญของข้าวโพด ต้อนรับปิดเทอมสำหรับเด็กและเยาวชน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 เข้าร่วมกิจกรรมขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 เม.ย. 2556 ณ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
       
                      ด้วยความอร่อยของข้าวโพดทำให้กลายเป็นพืชที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่นิยมทานเป็นอาหารจานหลักจึงมียอดสถิติในการเพาะปลูกมากที่สุดในโลก รองลงมาคือ จีน สหภาพยุโรป และบราซิล ตามลำดับ แต่ในปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามคิดค้นหาประโยชน์จากข้าวโพดมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเป็น “เอทานอล” เพื่อผลิตเชื้อเพลิง ซึ่งให้มูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของโลกในตอนนี้ และสหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญในการสกัดน้ำมันจากข้าวโพดเป็นอันดับหนึ่งและสูงถึง 40% ของทั้งหมด นอกนั้นก็นำมาประกอบอาหาร ใช้เป็นอาหารสัตว์ แปรรูปส่งอออกต่างประเทศ สารให้ความหวาน จนถึงน้ำเชื่อม
       
                      ใช่ว่าข้าวโพดจะมีลักษณะฝักอวบ สีเหลือง รสหวานชวนน้ำลายสออยู่แบบเดียว นั่นเป็นเพียงข้าวโพดพันธุ์ยอดนิยมคือ "ข้าวโพดหวาน" ที่เราเห็นบ่อยๆ และหาซื้อได้ทั่วไป ถ้าเราลองได้มีโอกาสได้เดินทางไปยังต่างจังหวัดแถบอีสาน บริเวณสองข้างทางจะมีร้านขายของเรียงราย หนึ่งในนั้นต้องเป็นข้าวสีขาวขุ่นๆ ขนาดเล็กกว่า เราเรียกกันว่า "ข้าวโพดข้าวเหนียว" พันธุ์ข้าวโพดนั่นมีมากมายเกินกว่าจะกล่าวหมด
       
                      ภายในค่ายได้เชิญ นายลิขิต มณีสินธุ์ นักปรับปรุงพันธุ์พืชหรือกรรมการผู้จัดการบริษัทรีลซีด (Real Seed) และกรรมการคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มาเป็นวิทยากรให้ควารู้แก่เยาวชนในค่าย
       
                      ลิขิตกล่าวว่าข้าวโพดมีมากมายหลายพันธุ์ เพราะมีการผสมข้ามสายพันธุ์กันจนแตกย่อยออกมามากมาย แต่แบ่งตามลักษณะของแป้งและเปลือกหุ้มเมล็ด ได้ 7 ชนิด ก็คือ ข้าวโพดหัวบุบ (dent corn), ข้าวโพดหัวแข็ง (flint corn), ข้าวโพดหวาน (sweet corn), ข้าวโพดคั่ว (pop corn), ข้าวโพดข้าวเหนียว (waxy corn), ข้าวโพดแป้ง (flour corn), และข้าวโพดป่า (pod corn) ซึ่งแต่ละชนิดก็จะนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป
       
                      หากแบ่งตามการใช้ประโยชน์จะแบ่งได้อีก 4 ด้าน คือ ข้าวโพดใช้เมล็ด (grain corn) ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดแก่ใช้เป็นอาหารสัตว์และมนุษย์ หรือทำอุตสาหกรรมอย่างอื่น, ข้าวโพดหมัก (silage corn) ปลูกเพื่อตัดต้นสดมาหมักใช้เป็นอาหารสัตว์, ข้าวโพดอาหารสัตว์ (fodder corn) ปลูกเพื่อตัดต้นสดไปใช้เลี้ยงสัตว์, ข้าวโพดฝักอ่อน (baby corn) ใช้ฝักอ่อนปรุงอาหาร
       
                      ลิขิตให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ข้าวโพดโบราณมีแค่ 3 ชนิด คือ ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน และข้าวโพดหวาน แต่ปัจจุบันมีข้าวโพดมากกว่า 100 ชนิด โดยประเทศไทยนิยมปลูกข้าวโพดหัวบุบและหัวแข็งมาทำอาหารสัตว์มากที่สุด และปลูกข้าวโพดหวานส่งออกต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
       
                     “ตอนแรกผมนึกว่าข้าวโพดใช้กินได้อย่างเดียว แต่พอมาเข้าค่ายก็รู้เพิ่มอีกว่าข้าวโพดยังทำน้ำมันได้อีก ผมชอบความแปลกของข้าวโพดตรงที่เวลาติดฝักและโตแล้ว จะมียอดด้านบนเหมือนรวงข้าว อันนั้นคือเกสรละอองเรณูตัวผู้ พอมีเวลาลมพัดมาละอองเรณูก็จะถูกพักลงมาด้านล่างที่ตรงโคนใบที่มีไหมเป็นเส้นใยม้วนๆ อยู่ เค้าเรียกว่า รังไข่ จากนั้นจะผสมพันธุ์กันกลายเป็นฝักข้าวโพด เวลาเราปลูกก็ต้องปลูก 10 ต้นขึ้นไป ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ติดฟัก และต้นนึงจะติดฟักได้ไม่เกิน 3 ฟักเท่านั้นครับ” น้องฟรอส หรือ ด.ช.อภิรักษ์ เมืองเกษม จากโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมเล่าให้ฟัง
       
                      ภายในงานมีกิจกรรมให้น้องได้เข้าสัมผัสเรื่องราวของข้าวโพดมากกว่าในหนังสือหรือทีวี อย่างกิจกรรมไร่ข้าวโพด โดยจะนำข้าวโพดนับสิบพันธุ์มาให้น้องๆ ได้ดู สัมผัส หรือแกะฝักออกจากต้นให้เห็นกับตาเลยว่ามีลักษณะเช่นไร ต้นใบ ดอก สูง ยาวเพียงไร เด็กๆ ต่างตื่นตาตื่นใจกับการได้สัมผัสธรรมชาติอย่างเต็มที่ เด็กๆ ได้ลองนำข้าวโพดมาปรุงอาหารกันอย่างสนุกสนาน ทั้งข้าวโพดอบเนย น้ำนมข้าวโพด และสลัดข้าวโพด
       
                      น้องมิ้นท์ หรือ เมธาพร กนกวรานนท์ จากโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมเล่าว่า เราสังเกตข้าวโพดได้ไม่ยาก อย่างข้าวโพดอ่อน จะมีขนาดเล็กๆ และยาวไม่เท่าฝักพันธุ์อื่นๆ เพราะยังไม่โตเต็มที่ เมล็ดบนฝักจะเล็กมาก ฝักอ่อนๆ กรอบๆ กินได้ทั้งฝักเลยค่ะ ส่วนข้าวโพดสีม่วงได้ชื่อนี้มาเพราะสีเมล็ดที่เป็นม่วงเข้มจนเกือบดำ ซึ่งเรามักจะเอาไปต้มกินกัน ส่วนข้าวโพดเทียน พันธุ์นี้แม้ว่าจะโตเต็มที่แล้วก็มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 15 เซ็นติเมตร เมล็ดบนฝักก็น้อยกว่า มีแถวน้อยกว่า แต่ความหวานนั้นเป็น 2 เท่าของข้าวโพดหวาน ส่วนข้าวโพดที่เป็นสีขาวขุ่นเรียกว่า ข้าวโพดข้าวเหนียว
       
                     "มีการผสมข้ามสายพันธุ์ด้วย ตัวอย่างเช่นเอาข้าวโพดข้าวเหนียวมาผสมกับข้าวโพดม่วง ได้ชื่อว่า ข้าวโพดข้าวเหนียว 24 เรนนี่ มีสีขาวขุ่นสลับกับสีม่วงอ่อนๆ รสชาติอร่อยมาก เหนียวๆหนืดๆ ไม่ติดฟัน อันสุดท้ายนี้เราเห็นกันบ่อยที่สุด คือข้าวโพดหวาน มันจะมีขนาดฝักที่ใหญ่และยาว สีเหลืองๆ เค้ามักเอาไปทำพวกอาหารเช้าซีเรียล เพราะมีรสชาติหวาน แต่หนูไม่ค่อยชอบกินแล้วมันชอบติดฟัน" น้องมิ้นท์เล่าอย่างฉะฉาน

***ภาพหมู่เยาวชนและวิทยากรที่เข้าร่วมกิจกรรม“ค่ายนักสืบข้าวโพด...พืชมหัศจรรย์ทางเลือกในอนาคต”


***ม.จ.สิทธิพร กฤษดากร ผู้นำข้าวโพดเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่