เจาะเบื้องหลัง ราคาตั๋วหนังพุ่ง-ป็อปคอร์นแพง อันดับ 3 ของโลก!!

กระทู้สนทนา
จากที่ไม่ค่อยสบอารมณ์กับอัตราราคาค่าตั๋วหนังทุกวันนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอทาง สคบ. ออกมายืนยันว่า “ประเทศไทยครองอันดับอัตราค่าบริการภายในโรงภาพยนตร์สูงมากเป็นที่ 3 ของโลก” คอหนังจำนวนมากจึงออกอาการเซ็งมากกว่าเดิมเข้าไปอีก
       
       
       ระหว่างเฝ้ารอคอยให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบตามข้อร้องเรียน เพื่อค้นหาราคาที่เป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค หลายคนคงอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมบันเทิงชนิดนี้ เหตุใดจึงปั่นราคากันเป็นว่าเล่นภายในเวลาไม่กี่ปี ความข้องใจนี้ มีคำอธิบาย...
       

       คอหนังข้องใจ จะแพงอะไรกันนักกันหนา!
       “เอาราคาน้ำเปล่าก่อนเลย ข้างนอกขวดละ 10 บาท ก็มีกำไร แต่ทำไมโรงหนังขายได้ 20 บาท... ต้นทุนต่างกัน???” Giant-Garuda
       
       
       “จะมาดูหนัง ไม่ได้มาดูโฆษณาสินค้า เบื่อมาก...” LiN2
       
       
       “ใช่ครับ เบื่อโฆษณาหนังมาก แถมตั๋วก็แพงอีก” ชีสเค้ก นมสด
       
       
       “ในเมื่อผมจ่ายเงินเข้าไปดูหนัง ทำไมผมต้องเข้าไปนั่งดูโฆษณาอะไรอีกไม่รู้ตั้ง 7-8 ตัว ถ้าคุณอยากแปะโฆษณา คุณต้องแปะไว้ข้างนอก ไม่ใช่ยัดเยียดคนที่จ่ายตังค์ไปดูหนังแบบนี้ ลูกค้าไม่ใช่คนที่ต้องมารับผิดชอบส่วนนี้ ส่วนเรื่องของกิน ป็อปคอร์นขนาดเท่ากัน ข้างนอกขาย 20-25 (ได้กำไร) ทำไมข้างในขาย 90 ราคาต่างกัน 5 เท่า (มีเชฟมาคั่วให้เหรอ)
       
       น้ำ แก้วขนาดใหญ่กว่าบิ๊กกัลฟ์ใน 7-11 ไม่เกิน 200 มล. แต่ราคาแพงกว่ากัน 3 เท่า มันฝรั่งต่างๆ ในร้านปกติขาย 25 ซึ่งมันก็สั่งมาจากโรงงานและขายได้กำไร ทำไมข้างในขาย 40-50 บาท คุณรับมาจากยี่ปั๊วแล้วโดนกินหัวคิวเหรอ ก็ไม่ใช่ ต้นทุนก็เท่าๆ กัน ถ้าโรงหนังคุณมีรถเข็น มีพนักงานเข็นลูกค้ามาส่งที่หน้าโรง มีคนยกน้ำ ข้าวโพด มาส่งที่โรง ถ้ามีแบบนี้ ผมก็พอเข้าใจ” Nublur
       
       
       “ปล่อยไว้ระวัง คนจะไม่เข้าดูหนังเพราะกรณีพวกนี้แหละ” ช่อดอกไม้แห่งท้องฟ้าน้ำแข็ง
       
       
       ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนเพียงบางส่วนบนโลกออนไลน์ ซึ่งระบายความในใจกันเอาไว้ในกระทู้พันทิป เว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความคิดยอดนิยมอันดับต้นๆ ในไทย บ่งบอกถึงความคับข้องใจในฐานะ "ผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบ" แต่ไม่รู้จะรับมือกับสถานการณ์เรื้อรังเหล่านี้เช่นไร
       ยังดีที่มีคนกลุ่มหนึ่งส่งเรื่องร้องทุกข์ไปยัง “คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” หรือ สคบ. บวกกับเสียงก่นด่าตามระบบคอนเน็คหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ผู้รับเรื่องจึงออกมาประกาศให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเรียกผู้ประกอบการมาประชุม แล้วเกลี่ยทุกอย่างให้อยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น
       

       โรงหรู ต้นทุนแพง ต้องถอนคืน
       นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็น “ค้ากำไรเกินควร” ของโรงหนังเครือยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว การยัดเยียดหนังโฆษณาในอัตราเกินพอดีให้แก่ผู้ตีตั๋วเข้าไปดูหนัง ก็ทำเอาหลายคนเลือดขึ้นหน้าจนต้องลุกขึ้นมาประท้วงอย่างดุเดือด ถึงขั้นจัดตั้ง “กลุ่มผู้ต่อต้านการโฆษณาในโรงภาพยนตร์อย่างบ้าระห่ำ” จนทำให้ทาง สคบ. ต้องลงมาควบคุมดูแลให้ลงตัวกันไปได้ช่วงหนึ่ง
       
       
       ถึงตอนนี้ อุตสาหกรรมบันเทิงเจ้าใหญ่รายเดิมๆ ก็ยังคงนึกถึงแต่เรื่องผลกำไรเป็นหลัก ทำให้อดนึกเปรียบเทียบกับโรงภาพยนตร์ทางเลือกอย่าง ลิโด้ สกาล่า และ เฮ้าส์ อาร์ซีเอ ไม่ได้ว่า เหตุใดจึงยังอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีหนังโฆษณาฉาย ไม่ได้ขายป็อปคอร์นราคาเกินจริง แถมยังเก็บค่าตั๋วทุกเรื่องทุกโรงทุกรอบ 100 บาทเท่ากันหมด แม้กระทั่งม้วนหนังเรื่องเดียวกับเจ้าของโรงเครือยักษ์เรียกเก็บแพงกว่าเป็นเท่าตัว สรุปแล้ว ต้นทุนมันอยู่ตรงไหนกัน วันนี้ ป้อง-นภสร แย้มอุทัย ผู้จัดการโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ (House RCA) พร้อมเปลือยเบื้องหลังอุตสาหกรรมนี้อย่างหมดเปลือก
       
       
       “มันต้องเริ่มจากว่า ต้นทุนของแต่ละโรงไม่เท่ากัน เช่น ผมมีค่าเช่าที่ราคาเท่านี้ แต่เครือเมเจอร์หรือเอสเอฟ เขาอาจจะมีค่าเช่าที่ที่แพงกว่า หรือสกาล่า ลิโด้ ก็จะมีค่าเช่าที่ที่แพงกว่าผมเหมือนกัน เพราะเขาอยู่ใจกลางเมือง พอโรงหนังแต่ละที่มีต้นทุนไม่เท่ากัน มันเลยทำให้แต่ละแห่งคิดถึงเรื่อง “จุดคุ้มทุน” และ “กำไร” มาเป็นตัวกำหนดราคาตั๋วหนังต่างกันครับ อย่างโรงหนังบางโรงก็จะรวมค่าตกแต่งเข้าไปด้วย เขาต้องหารายได้จากส่วนอื่นเข้ามาเสริมนอกจากการขายตั๋วเพื่อให้คุ้มทุน อย่างที่รู้ๆ กันก็เป็นโฆษณาในโรงหนัง”
       
       
       โรงภาพยนตร์บางแห่งที่มีพื้นที่ของตัวเอง จะอาศัยวิธีเปิดให้ร้านค้ามาเช่าที่ ยกตัวอย่าง ลิโด้ มีพื้นที่ด้านล่างโรงภาพยนตร์ให้เช่าขายเสื้อผ้า ส่วน เฮ้าส์ฯ เอง เลือกเปิดพื้นที่ให้เข้ามาจัดอีเวนต์ ที่ผ่านมาก็มีรายการ The Voice และ Academy Fantasia (AF) เข้ามาถ่ายทำรายการอยู่เหมือนกัน
       
       
       “เราไม่มีโฆษณา อยู่ด้วยค่าตั๋วอย่างเดียวไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้าไม่นับเงินจากการแบ่งพื้นที่จัดอีเวนต์ ถามว่าขายเฉพาะตั๋วอย่างเดียว ทำไมเราถึงขายถูกได้ เพราะเรามีต้นทุนที่มันไม่ได้สูงมากไงครับ ตอนนี้ที่เฮ้าส์ฯ มีพนักงานทั้งหมด 4 คน มีผมเป็นผู้จัดการ มีน้องขายตั๋ว 1 คน แม่บ้าน 1 คน และคนฉายหนังอีก 1 คน ซึ่งทำหน้าที่ฉีกตั๋วด้วย ส่วนต้นทุนอย่างอื่นของเราก็มีแค่ค่าเช่าที่ ค่าเงินเดือนพนักงาน แล้วก็ค่าน้ำค่าไฟ
       
       เราไม่ต้องตกแต่งโรงให้สวยเหมือนกับเครือใหญ่ๆ เขา หรือเทียบกับโรงหนังในต่างประเทศ โรงบ้านเขาไม่จำเป็นต้องหรูหราเลยนะ คนก็เข้าไปดูกันปกติ แต่บ้านเราเน้นสวย เน้นหะรูหะราไว้ก่อน เลยทำให้ต้นทุนมันแพง พอแพง ผู้ประกอบการก็ต้องคิดหาวิธีคืนทุน ทำให้เกิดกำไร เลยเป็นที่มาที่ทำให้ค่าตั๋วแพงเอาๆ อย่างที่เห็นนั่นแหละครับ”
       
       

       
       ที่มาของ “ราคาแพงโคตร”
       ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยก่อตั้งโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ ใหม่ๆ ราคาตั๋วทุกโรงภาพยนตร์ ทั้งเล็ก-ใหญ่-ในกระแส-อินดี้ อยู่ในเรตเท่ากันหมดคือ 100 บาท แต่ตอนนี้ เครือใหญ่กลับปั่นราคาขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่ต่ำกว่า 180-220 บาท ถามว่ามันเป็นเพราะอะไร? ผู้จัดการโรงหนังทางเลือกจึงเริ่มอธิบาย
       
       
       “พอระบบหนังมันเริ่มเปลี่ยนจากฟิล์มเป็นดิจิตอล โดยเฉพาะยุคหลังๆ ที่ 3D มีเยอะมาก โรงหนังเลยตัดสินใจซื้อเครื่องฉายดิจิตอลเพิ่ม พอซื้อเพิ่ม เขาก็ต้องหาทางให้คุ้มทุน ก็เลยตกลงกันว่าต้องขึ้นราคาค่าตั๋วหนัง จาก 100 เป็น 120 เป็น 140 ขึ้นมาทีละ 20 บาท และขึ้นมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ผมไม่รู้แล้วว่าพุ่งขึ้นไปเท่าไหร่ แต่ล่าสุด ผมไปดูที่โคราช ขนาดต่างจังหวัดราคายัง 160 เลยครับ คิดดูแล้วกัน ในต่างประเทศเขาก็ราคาขึ้นเหมือนกัน แต่เขาขึ้นสมเหตุสมผลตามราคาค่าครองชีพ แต่ของเราไม่ใช่แบบนั้น”
       
       
       เมื่อเห็นเรื่องกำไรเป็นสำคัญ จึงเป็นที่มาของการสรรหาเหตุผลที่ไม่สู้จะสมเหตุสมผลในการขึ้นราคามาเป็นข้อต่อรองเต็มไปหมด เช่น “ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายด้วยระบบดิจิตอล” ราคาจึงแพงกว่าฉายด้วยฟิล์ม 20 บาท ซึ่งถือเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เพราะไม่ว่าจะเลือกฉายแบบไหน ทางโรงก็ใช้ต้นทุนค่าไฟเท่ากันอยู่ดี และเหตุผลคลาสสิคอีกประการคืออ้างว่า “หนังยาวแพงกว่าหนังสั้น” บอกว่าหนัง 3 ชั่วโมง ต้องตีตั๋วแพงกว่าหนัง 2 ชั่วโมง นี่ก็ถือว่าอ้างเหตุผลไปเรื่อยอีกเช่นกัน
       
       
       “ถามว่าแล้วทำไมตอนฉายหนังสั้น ชั่วโมงนิดๆ ไม่ลดราคาค่าตั๋วบ้างล่ะ มันเป็นแค่ข้ออ้างจะขึ้นราคาครับผมว่า จริงๆ แล้วมาจากเหตุผลที่ว่า พอหนังมันยาว 3 ชั่วโมง มันจะทำให้รอบของหนังมีน้อยลง เพราะถ้าหนังยาว 2 ชั่วโมง เริ่มฉายเที่ยง รอบสุดท้าย 4 ทุ่ม เราก็จะทำรอบได้ 6 รอบ แต่ถ้าหนังยาว 3 ชั่วโมง จะทำให้เหลือรอบแค่ 4 รอบต่อวัน ทำให้รายได้หายไป ทางโรงหนังก็เลยเอาส่วนที่ตัวเองเสียผลประโยชน์ส่วนนี้แหละครับ มาคิดเป็นค่าตั๋วหนัง ให้คนดูอย่างเรารับผิดชอบแทน”
       
       ทุกวันนี้โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ฯ และสกาล่า ก็เพิ่งติดเครื่องฉายระบบดิจิตอลเข้าไปเช่นกัน แต่ก็ไม่คิดจะขอขึ้นราคาค่าตั๋วหนัง ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะเราไม่ได้มองว่ามันคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาไงครับ แต่มองว่ามันคือราคาที่เราต้องรับผิดชอบ เดี๋ยวต่อไปหนังจะเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว ถ้าไม่ซื้อก็จะฉายไม่ได้ และไม่มีความจำเป็นต้องผลักภาระให้คนดู”
       
       

       
       กระแสสั้นๆ อย่าหวังพึ่งระบบ
       ส่วนเรื่องการโฆษณาในโรงภาพยนตร์อย่างบ้าระห่ำนั้น หากทุกโรงทำตามที่ สคบ. เคยออกหนังสือขอความร่วมมือ ระบุเวลาไว้หน้าโรงชัดเจนว่า จะฉายหนังโฆษณานานเท่าใดก่อนฉายหนังตัวจริง ก็จะไม่เป็นปัญหา แต่ทุกวันนี้เริ่มจะกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง เนื่องจากข้อตกลงที่เคยปฏิบัติกันชักจะหละหลวมเสียแล้ว หากต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ป้อง-นภสร แนะนำว่าให้ลองโมเดลแบบในต่างประเทศดู
       
       
       “เท่าที่ผมเห็นมา หลายที่เขาจะไม่ใช้วิธีจองที่นั่งแบบบ้านเราด้วยนะ ทั้งโรงหนังทางเลือก ทั้งโรงหนังใหญ่ๆ แบบ Multiplex เลย แต่เขาจะใช้วิธีใครมาก่อนได้ก่อน ถ้าอยากได้ที่นั่งดี คุณต้องเดินเข้าไปก่อน ซึ่งการไปนั่งดูก่อนก็คือการบังคับให้ดูโฆษณาไปทางอ้อมนั่นเอง แต่ถ้าคุณไม่อยากดูโฆษณา คุณก็ไม่ต้องเข้าไปก่อนครับ แต่ก็อาจจะไม่ได้ที่นั่งดีเท่าไหร่ แต่ก็ดีกว่าบ้านเราครับ บอกว่าหนังฉาย 12.00 น. แต่กว่าจะฉายจริงก็ปาเข้าไปอีกเกือบครึ่งชั่วโมง ผมว่าโรงหนังเครือใหญ่ๆ ในบ้านเรา แค่ขายโฆษณาอย่างเดียวก็อยู่ได้แล้วครับ คุ้มทุนแล้ว”
       
       
       ตกลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบฟิล์มหรือดิจิตอล ส่วนแบ่งระหว่างโรงหนังกับค่ายหนังที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจ่าย ถ้าวัดจากโรงเฮ้าส์ฯ จะได้ส่วนแบ่งเท่ากันคือ 50:50 สมมติว่าตั๋วขายได้ 1 ล้านบาท โรงหนังจะได้ 5 แสน ค่ายหนังก็ได้ 5 แสน ส่วนโรงภาพยนตร์ในเครืออื่น ผู้จัดการโรงอย่างนภสรเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน น่าจะอยู่ที่ 60:40 หรือ 70:30 แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในฐานะคนรักหนังอีกหนึ่งคน เขามองว่า
       “ค่าตั๋วควรจะอยู่ที่ 120-140 บาท ไม่เกินนี้ครับ แต่ของอะไรที่มันขึ้นราคาไปซะขนาดนั้นแล้ว ไม่มีทางจะลงมาหรอก จะให้ สคบ. มาจัดการก็ยากครับ เพราะการฉายหนังมันไม่ใช่สิ่งของที่คนจำเป็นต้องซื้อ”
       
       
       และคงควบคุมอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ “ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติผมอยากประมูลงานสักงานหนึ่งของรัฐวิสาหกิจ ถ้าผมจะประมูลให้ได้ ผมต้องทำยังไงครับในประเทศนี้ ผมก็แค่ล็อบบี้ จ่ายเงินใต้โต๊ะก็จบแล้ว เราจะหวังพึ่งคนอื่นให้มานั่งควบคุม จัดการ คุ้มครองสิทธิให้เรา มันอาจจะได้ครับ แต่คงจะยากหน่อย
       แต่ถ้าคนไทยลองชวนกันไม่เดินเข้าโรงหนังพร้อมกันดูซิ สัก 1 สัปดาห์ คุณเชื่อไหมว่าเดี๋ยวผลกระทบมันจะส่งไปถึงโรงหนังเอง แต่ทุกวันนี้ มันยังไม่เกิดความพร้อมใจกันไงครับ คุณบ่น คุณด่า ว่าค่าตั๋วหนังแพง บ่นด่าว่าโฆษณาเยอะ เสร็จแล้วคุณก็เดินเข้าโรงหนังกัน ผมเห็นมาจนรู้แล้วครับว่าเป็นนิสัยของคนไทย ฉันจะบ่น บ่นเสร็จแล้วก็ทำเหมือนเดิม”
       
       ส่วนเรื่องการตรวจสอบนั้น ถ้า สคบ. อยากจำกัดราคาจริงๆ เจ้าตัวแนะนำให้เริ่มจากบังคับราคาป็อปคอร์นกับน้ำดื่มก่อน “เพราะเราเห็นๆ กันอยู่ว่าต้นทุนมีเท่าไหร่ ซื้อป็อปคอร์นมากระสอบหนึ่ง ควรจะได้กำไรเท่าไหร่ ไม่ควรได้กำไรเยอะเท่านี้นะ แต่พอเป็นเรื่องหนังปุ๊บ มันก็จะตรวจสอบยากแล้ว สุดท้ายก็จะถูกรวมไปกับค่าความหรู ค่าต้นทุนสารพัด แล้วเรื่องก็จะเงียบไป”
       
       

       
       
       สคบ. ย้ำ โปรดติดตามตอนต่อไป...
       “ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างจะเยอะ แม้การร้องเรียนมาจะมีไม่กี่รายก็ตาม แต่เท่าที่ถามหลายๆ ท่านบอกตรงกันว่าทำไมถึงแพงจัง ตัวผมเองก็เคยไปสัมผัสนะ เรื่องนี้มันมีคำถามที่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ 3 ประเด็นคือ 1.ราคาตั๋วหนังเป็นธรรมหรือไม่ 2.ค่าป็อปคอร์นทำไมถึงแพงจัง ยัดเยียดให้ซื้อด้วยหรือเปล่า 3.โฆษณาค่อนข้างจะเยอะมาก ซึ่งข้อสุดท้ายนี่ ทาง สคบ. เคยเรียกมาชี้แจงกันแล้ว
       ให้ทางโรงบอกเวลาให
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่