งบประมาณประจำปี สร้างรถไฟความเร็วสูง (โคราช - หนองคาย) ???

กระทู้สนทนา
นั่งฟังคลิป คุณชัชชาติ พูดที่อุดรวันเสาร์ จับใจความสำคัญได้ว่า รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - หนองคาย จะเสร็จพร้อม กรุงเทพ - เชียงใหม่



แล้วนั่งฟัง ที่พูดที่ขอนแก่นวันอาทิตย์ เนื้อหาสองคลิปนี้ ใกล้เคียงกัน ผมจับประโยคเดิม คือคำว่า รถไฟความเร็วสูง ถึงหนองคาย เสร็จพร้อมเชียงใหม่




ขอพูดถึงตัวอย่าง ที่คุณชัชชาติยกตัวอย่าง ทั้งสองที่ (อันเดียวกัน) คือเรื่องร้านก๋วยเตี๋ยว

ผมขอแย้งประเด็นเดียว คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวที่กู้เงินมาขยายร้าน มีข้อมูลครบถ้วนดีพร้อมขนาดไหน ที่มั่นใจได้ว่า พอขยายร้านแล้ว ลงทุนเพิ่มปรับปรุงร้านแล้ว จะทำกำไรได้เพิ่มขึ้น จนคุ้มกับที่ลงทุนไปหรือไม่

เพราะถ้าหากลงทุนแล้ว เกิดกำไรได้ไม่เท่ากับที่คาด แทนที่ขายแบบปกติ กำไรมามีเงินใช้แบบไม่อัตคัต

แต่พอกู้เงินแล้ว กำไรที่ได้เพิ่ม มาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยังไม่พอ ต้องเอากำไรก้อนแรก มาช่วยจ่าย

อยู่ไปแบบนี้ เงินต้นก็ยังไม่ลด

สุดท้ายก็อาจจะต้องเสียสินทรัพย์ที่มีตอนแรกไป

แทนที่จะบรรลุเป้าหมาย กลับกลายเป็นเสียที่เคยมีไปหมด

ผมมีประสบการณ์เห็นคนเปิดร้านอาหารมาเยอะ ตอนแรกคิด ก็มีวิมานที่สวยหรู มองโลกในแง่ร้าย (แบบดีสุด ๆ) อย่างน้อยก็น่าจะขายได้ เท่านั้นเท่านี้

แต่ในโลกความเป็นจริง ขายได้แค่รายจ่ายประจำวันแค่นั้นก็แย่แล้ว และสุดท้าย ก็ต้องปิดกิจการไป เพราะแค่ค่าใช้จ่ายยังไม่ได้เลย ยิ่งทำยิ่งเข้าเนื้อ แล้วจะทำต่อทำไม





กลับไปที่ประเด็น จะสร้างกรุงเทพหนองคาย เสร็จพร้อม กรุงเทพเชียงใหม่

ก็ไปเห็นข่าวในกรุงเทพธุรกิจ คิดว่าน่าจะเป็นข่าวที่สัมภาษณ์วันนี้ เป็นคำตอบว่า เงินที่จะสร้าง โคราช หนองคาย มาจากไหน ที่ทำให้สามารถสร้างเสร็จได้ พร้อมสายเหนือ

http://bit.ly/187c5rh



สรุปจากข่าว ที่อ่าน ก็เข้าใจว่า งบการสร้าง สายโคราช หนองคาย จะไม่อยู่ในสองล้านล้าน แต่จะนำงบประมาณประจำปีมาทำ

ซึ่งจากเหตุผลแรก ๆ ที่ใช้ในการอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องออก พรบ.สองล้านล้านนี้ก็คือ ความต่อเนื่อง


"...โครงการที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องเกินกว่าจะจัดสรรงบประมาณปกติ ซึ่งโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะมีแหล่งเงินที่แน่นอน โดยใช้เงินกู้และไม่ปะปนกับโครงการอื่นๆ ทำให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจ และสามารถเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการต่างๆได้ "



แล้วสายอีสาน กรุงเทพ -โคราช -หนองคาย ที่มีความต้องการสร้างให้เสร็จพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว ก็น่าจะเรียกว่าเป็นโครงการเดียวกัน เหตุผลอะไร ที่ต้องแยกกองเงิน ส่วนหนึ่งใช้ในงบสองล้านล้าน อีกส่วนเอาจากงบปกติ

เพราะถ้าไม่มั่นใจว่า ทิ้งให้ตั้งงบในงบประมาณประจำปี งานจะไม่ต่อเนื่อง ก็น่าจะเพิ่มงบสองล้านล้าน ให้สูงขึ้นไปอีกหน่อย (ก็ไม่น่าเกินสองแสนล้านบาท) เพื่อให้สายอีสานมีเงินพอสร้างทั้งสาย เป็นโครงการเดียวกัน เงินก้อนเดียวกัน

หรือไม่ก็ตัดลดโครงการเล็ก ๆ ลง แล้วนำโครงการที่เป็นโครงการขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ โครงการ ย้อนไปใช้งบปกติในการสร้างแทน แล้วจัดเติมไปในงบประมาณประจำปีต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ตามงบประมาณที่เอื้ออำนวยในแต่ละปี

เพราะถ้าหากงบประมาณประจำปีมีปัญหาในบางปี บางงานก็อาจจะล่าช้าได้ ก็ไม่กระทบต่อภายรวมใหญ่

แต่ถ้าหากเป็นการเอาสายอีสานเฟสสองนี้ ไปไว้ในงบปกติ เกิดไม่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อมาสร้างได้ ก็จะทำให้การสร้างรถไฟความเร็วสูงสะดุดได้



ปล.ที่ตั้งกระทู้นี้ ไม่ใช่สนับสนุนการสร้างรถไฟความเร็วสูง เพราะผมยังยืนยันคำเดิมว่า ถ้าหากไม่คุ้มก็ไม่ควรสร้าง (ตามเหตุผลตามตัวอย่างร้านก๋วยเตี๋ยวของคุณชัชชาติ)

แต่เป็นเพราะผมงงกับแนวคิดการตั้งงบประมาณมาสร้างของคุณชัชชาติ เพราะตอนแรกบอกว่า ไม่ตั้งในงบปกติ เพราะกลัวไม่ต่อเนื่อง

แต่พอนายกฯ ไปพูด(น่าจะไม่ตั้งใจ) ว่าในสองล้านล้านบาทนี้ มีรถไฟความเร็วสูงถึงหนองคาย

ก็ทำให้คุณชัชชาติ ต้องรับภาระสร้างให้ถึง

จนต้องยอมไปเลือกใช้วิธีเดียวกับ รมต.คนอื่น ๆ ในครม.ชุดนี้ชอบใช้ คือการพูดโยนไปในอนาคต วันนี้ฟังแล้วดูดีก็พอ วันหน้ามาถึงทำไม่ได้ ถ้าคนไม่ลืม ก็หาข้อแก้ตัวอื่นมาแก้ตัวต่อไป

เพราะการบอกว่าจะใช้งบประมาณปกติ มันดูแล้วน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะจะไปติดขัดตรงจุดที่ว่า รัฐบาลจะทำงบประมาณสมดุลให้ได้ภายในปี 60 และช่วง 3-4 ปีนี้ จะลดการขาดดุลลงเรื่อย ๆ

ดังนั้น ถ้าตั้งงบประมาณในงบปกติไม่ได้ หรือตั้งได้แต่ไม่มาก กว่าจะสร้างได้ถึงหนองคาย คงไม่ใช่แค่ 2-3 ปีแน่ ๆ

ดูแล้วโอกาสที่จะเสร็จพร้อมเชียงใหม่ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสายเชียงใหม่ มีเงินพร้อมแล้ว แต่หนองคาย ยังไม่มีเงิน ต้องรอลุ้นไปปีต่อปี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่