"ไฮสปีดเทรน" สไตล์ "พันศักดิ์" "มีไว้ขนผักแล้วผิดตรงไหน"

กระทู้ข่าว
>> ไปเจอมาน่าสนใจเอามาให้เพื่อนๆ อ่านกัน .. เกินสามบรรทัด แมงสาป กะ สลิ่ม คงไม่อ่าน อิอิ
สัมภาษณ์พิเศษ
=========
เมื่อวาระพิจารณาร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ถูกกดปุ่มเดินหน้าเข้าสู่สนามรบกลางสภา

แผนเมกะโปรเจ็กต์ที่เคยอ้างถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศทั้งระบบจะปรากฏรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านรถไฟรางคู่ ถนนทางหลวง 4 เลนทั่วประเทศ

คำชี้แจงถูกฝ่ายค้าน-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สับละเอียดให้เหลือเพียงการกู้เงินเพื่อซื้อรถไฟขนผัก

เหตุที่มาจากคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่กล่าวว่า "รถไฟความเร็วสูงจะทำให้เศรษฐกิจแนวชายแดนเติบโต ลดต้นทุนการขนส่งของเกษตรกร ขนผัก ผักไม่เน่า อาหารมีคุณภาพ ประชาชนจะได้บริโภคอาหารสด"

เสียงติติง-นินทาจึงลอยหลุดจากสภา ไกลถึงกลุ่มสังคมออนไลน์ ตั้งคำถาม "ทำไมคนไทยต้องยอมให้รัฐบาลกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อซื้อรถไฟมาขนผัก ?"

เป็นคำถามที่ถูกขยายผลหาตัวผู้ก่อการในฐานะ "ต้นตำรับ" ก่อนถูกปั่นออกมาเป็นสคริปต์ในมือ "ยิ่งลักษณ์"

บรรทัดต่อจากนี้ คือคำยืนยันจากปากที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" หนึ่งในผู้คนคิดแผนสร้างมูลค่าเพิ่มจากแผนเมกะโปรเจ็กต์ ตอบคำถามทำไมรถไฟความเร็วสูงจึงมีไว้ขนผัก ?

- สรุปแล้วรถไฟความเร็วสูงจะมีไว้ขนผัก

ถูกต้อง เอารถไฟไปขนผักแล้วผิดตรงไหน มันเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบการขนส่งที่เราเรียกมันว่า Light Cargo หรือการขนสินค้าที่มีน้ำหนักไม่มาก เช่น น้ำตาล ข้าว ขอถามทุกวันนี้ว่าชนชั้นกลางไทยทั่วประเทศกินผักสดที่ส่งตรงจากประเทศออสเตรเลีย ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาหรือไม่ คำตอบคือกิน กินทั้ง ๆ ที่รู้ว่าของเหล่านี้ขนส่งมาทางเครื่องบิน แต่เชื่อหรือไม่ว่าบางรายการมีราคาถูกกว่าผลไม้ที่ผลิตขึ้นในประเทศเสียอีก ผมยกตัวอย่าง แอปเปิลส่งตรงมาจากวอชิงตัน ทำไมราคาถูกกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้ของไทย มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมกินอาหารที่ขนมาทางเครื่องบินราคาถูกกว่า

คำตอบคือ ระบบโลจิสติกส์ของเขาดีมาก และเมื่อต้นทุนถูกกว่า เขาก็สามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่า

แน่นอนว่าสินค้าประเภทนี้ ส่วนใหญ่รัฐไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนธุรกิจอีก เพราะประชาชนจะเป็นผู้ผลิตเอง หาตลาดเอง เสี่ยงลงทุนเอง เรามีกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกรด AAA อยู่แล้ว เขาโตและทำกำไรมาอยู่แล้ว

นอกจากสินค้าประเภทอาหาร ผมยังมองไปถึงสินค้าขนส่งที่เขาทำธุรกิจผ่าน E-commerce ที่นับวันตัวเลขในไทยกำลังโตขึ้นอย่างมหาศาล

เพราะนิสัยคนรุ่นใหม่ต้องการความเร็ว แต่ราคาต้องไม่แพง ไอ้ของที่ขนส่งทางเครื่องบินมันแพงเกินไปสำหรับธุรกิจนี้ กระบวนการยุ่งยากเกินไป

เอาแค่วันนี้เดินทางกรุงเทพฯ-อุดรธานี ผมต้องไปรอล่วงหน้ากี่ชั่วโมง ต้องเสียเวลาไปเท่าไร ยิ่งเมื่อเทียบกับขนส่งโดยรถไฟมันแตกต่างกันเยอะ

- แต่หลายประเทศที่ลงทุนสร้างรถไฟ ตกอยู่ในภาวะขาดทุน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

(สวนทันที) ไม่มีรถไฟที่ไหนในโลกนี้ที่ขายตั๋วอย่างเดียวแล้วมีกำไร เว้นเสียจากจะขายราคาแพงเท่าตั๋วเครื่องบิน (หัวเราะ) แน่นอนว่าขาดทุนแน่ ถ้าบริหารไม่เป็น

ไม่ว่าจะญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ทำไม่เป็นก็เจ๊ง การเริ่มต้นรถไฟความเร็วสูงส่วนใหญ่จะเริ่มต้นให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนก่อน ฉะนั้นปัญหาคือจะจัดการ Business Model อย่างไร จะขายตั๋วอย่างเดียวหรือให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเหมือนกับที่ทำถนนของกรมทางหลวง ที่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเราใช้เงินซ่อมสร้างไปแล้ว 500,000 ล้านบาท และประมาณ 40% หรือ 200,000 ล้านบาทหมดไปกับการซ่อมถนนเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่เราเถียงกันทุกวันนี้ ยังไม่ได้สนใจกันเลยว่า รถไฟจะมีผลที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจอย่างไร ยอมรับกันก่อนว่าโปรเจ็กต์ที่คิดออกไปจากรัฐบาล ไม่มีทางที่จะทำกำไรได้ในตัวของมันเอง เพราะกำไรของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษี ซึ่งภาษีมาจากการบริหารเศรษฐกิจให้เติบโต

- รัฐควรบริหารอย่างไรให้มีกำไร

(สวนทันที) พูดว่าทำให้รัฐใช้เงินอุดหนุนน้อยที่สุดจะดีกว่า ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่มาพร้อมกับรถไฟคือสินทรัพย์ที่ติดตัวมาด้วย ที่ดินรอบ ๆ สถานีต้องบริหารจัดการให้ดี ต้องทำให้เป็นสถานที่ให้บริการทั้งผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการขนส่ง นี่คือแหล่งที่จะทำให้เกิดกระแสเงินสดจำนวนมาก

เราได้ศึกษาโมเดลธุรกิจประเภทนี้จากหลายประเทศ พบข้อเสียแตกต่างกันไป บางประเภทแก้ปัญหาได้แล้ว และพบสัจธรรมว่า ขายตั๋วอย่างเดียวมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง จึงวางแผนเอาสินทรัพย์รอบสถานีมาบริหารจัดการ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งโมเดลที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยมากที่สุดอยู่ที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น

เกาะคิวชูเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก เขาก็ไม่ได้มีคนขึ้นรถไฟวันละ 17 ล้านคนเหมือนเมืองโตเกียว แต่ทำไมถึงอยู่ได้ เพราะเขามีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ถึง 58% ต่อปี หรือประมาณ 3.3 แสนล้านเยนต่อปี ซึ่งธุรกิจที่ทำรายได้ให้เขา คือ การบริหารสถานี ร้านค้าปลีกย่อย ร้านอาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม รีสอร์ต ฯลฯ

ผมถึงอยากให้ทุกคนคิดว่าเมื่อการสร้างสถานีรถไฟจะมาพร้อมกับที่ดิน นั่นย่อมหมายถึงย่านศูนย์การค้าที่บังเอิญมีรางรถไฟมาอยู่ด้วย นั่นคือกระแสเงินสดที่จะกลับมาอุดหนุนระบบรางได้เอง

- ถ้ายึดตามโมเดลนี้ไทยก็มีโอกาส

ทำสำเร็จเหมือนญี่ปุ่น ต้องยอมรับก่อนว่ารถไฟความเร็วสูงสำคัญกว่าระบบเศรษฐกิจ คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจึงนำเรียนท่านนายกฯว่า เราควรบริหารรถไฟให้มีรายได้ทางตรงจากการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และมีรายได้เสริมที่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ (Cargo & Passengers + Affiliated Businesses from Existing Assets)

นั่นคือที่มาของแผนบริหารสินทรัพย์ให้เกิดกระแสเงินสด คุณเชื่อหรือไม่ ที่สถานีใหญ่ของเกาะคิวชู มีร้านอาหาร ร้านค้าอยู่เยอะมาก นั่นจะเป็นคำตอบให้กับประเทศไทย และเป็นคำตอบให้อีกหลายคำถาม ทั้งเรื่องทำกำไรจากระบบราง ทั้งการพัฒนาสินค้าโอท็อปบ้านเรา

- หมายความว่ารถไฟจะทำกำไรก็ต่อเมื่อเชื่อมต่อถึงประเทศเพื่อนบ้าน

สร้างรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก เราใช้เงิน 700,000 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ผมยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลจะต้องเชื่อมต่อระบบรางไทย-จีนให้ได้ นั่นคือทางออกของปัญหาทั้งหมด

ดังนั้นเมื่อทำเฟสแรกสำเร็จ ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยาก หลังจากเฟสแรกเสร็จก็ใช้เวลา 2-3 ปี ควรจะต้องสมบูรณ์ทั้งระบบ ในรอบ 10 ปีมานี้เราชอบนินทาคนจีนว่าพวกนี้บ้า เร่งทำรถไฟความเร็วสูงไปทำไม ถ้าจะตอบแบบผิว ๆ ก็บอกว่ามีไว้ขนคนกลับบ้านไปฉลองตรุษจีน แต่อย่าลืมว่ารางขนาด 1.4 เมตร

เขาเรียกว่าสแตนดาร์ดเกจ รางเขาชนกับรัสเซีย ต่อยาวไปถึงยุโรป ซึ่งตั้งแต่ปี 2011 เมืองฉงชิ่ง ขนส่งคอมพิวเตอร์กว่า 4 ล้านเครื่องขึ้นรถไฟไปขาย และขากลับก็ขนเอาชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศผู้ผลิตกลับมาประกอบในประเทศ ทำอย่างนี้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3-7 ขบวน

บ้านเราในอดีตใช้เรือแจวพายอยู่แถวบ้าน พอโปรตุเกสเข้ามาใช้เส้นทางสายไหม หลายแห่งเกิดเป็นเมืองท่า ต่อมากลายเป็นประเทศมหาอำนาจ กระทั่งเราเปลี่ยนมาใช้เครื่องบิน ใครมีสนามบินก็กลายเป็นมหาอำนาจ แล้วถามว่าเศรษฐกิจไทยที่ข้นอยู่กับกลุ่ม SMEs เกษตรกร จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไร เขาจะมีความสามารถขนสินค้าขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ 20-30 ตู้ไหวหรือไม่ เขาจะทนขาดทุนจากการขนส่งผลไม้ อาหาร ที่ใช้เวลาเดินทางนาน สุดท้ายส่วนใหญ่ก็เน่าเสียได้หรือไม่

หากเรายังพึ่งพาการส่งออกผ่านทางทะเลและเครื่องบิน ยังต้องลุ้นว่าค่าน้ำมันจะขึ้นราคามากระทบต้นทุนอีกหรือไม่ ผมว่าทางออกที่ดีที่สุดคือรถไฟความเร็วสูง ที่มีสถานีขายสินค้ารองรับหลายพันสถานี ต่อไปนี้ SMEs เกษตรกรไม่ต้องไปขายของผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่ต้องผ่านนายหน้าอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องฝัน แต่พวกเขาทำกันอยู่แล้ว พวกเรานั่นล่ะที่ดันไม่รู้ (หัวเราะ)

- สุดท้ายแล้วไทยมีความสามารถพอที่จะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้

ผมได้ประสานงานกับไปรษณีย์ไทยให้หาทางแยกตัวเป็นบริษัทโลจิสติกส์แล้ว เข้าใจว่าเรื่องอยู่ที่กระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งไปรษณีย์ไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ มีกำไรมาจากการขนส่งพัสดุ ไม่ใช่จากการส่งจดหมาย หมายความว่าเขาเก่งในเรื่องบริหารจัดการมาอยู่แล้ว ขอแค่มีโครงสร้างพื้นฐานไปสนับสนุน เขาจะส่งของเร็วขึ้น ลดต้นทุนได้ กำไรก็สูงขึ้น อนาคตก็มีโอกาสที่จะแข่งขันกับธุรกิจใหญ่อย่าง DHL ได้

ดังนั้นการขนผัก การขนอาหารผ่านรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่เรื่องฝัน ไม่ใช่เรื่องบ้าบอ แต่เขาทำกันอยู่แล้ว มีกำไรกันอยู่แล้ว อยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้กำไรมันเพิ่มพูนให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็นี่ไง เอาโครงกระดูกไปช่วยเขา เอาไปช่วยขนของในสิ่งที่ผมเรียกมันว่า Light Cargo

และผมทราบมาว่า ตอนนี้ลาวกำลังจะมีข่าวดี เขาตกลงเรื่องระบบรางกับจีนแล้ว ท่านนายกฯเองก็เล็งเห็นว่า ควรจะต้องมีการหารือระหว่างรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศโดยเร็ว ในเมื่อเขาเดินหน้ากันไปแล้ว เราจะยอมหลุดขบวนรถไฟนี้หรือไม่ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องคุยกัน เช่น ระบบความปลอดภัย ฯลฯ ฉะนั้นผมเชื่อว่า อีกไม่นานรัฐบาลไทยน่าจะรวมกับประเทศอื่นที่จะตั้งองค์กรรวมขึ้นมา อาจเรียกว่า Europe-Asia Railway System Organization เพราะจะต้องตกลงกันหลายเรื่องมาก ทั้งกฎระเบียบ ขนาดตู้คอนเทนเนอร์ เรื่องศุลกากร สิทธิบนรถไฟ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตอนนี้เราก็ต้องกล้อมแกล้มกันไปก่อน นี่แค่เริ่มก็เอากันแล้วนะ บริษัทต่างชาติก็เล็งหาโอกาสแล้ว แต่บ้านเรามันบ้า ยังทะเลาะกันเรื่องขนผักอยู่เลย (หัวเราะ)
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1365920071&grpid=09&catid=16&subcatid=1600
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่