'เขา'ว่าปีนี้จะเป็นยุคทองของ KSL

กระทู้สนทนา
'น้ำตาลขอนแก่น' ยุคทองต้องรอ
วันที่ 13 สิงหาคม 2553  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ขาดทุนราคาน้ำตาล ล่วงหน้าเป็นเรื่องเล็ก 'ชินธรรมมิตร์' ยอมเปิดทางลดสัดส่วนหุ้น ส่งเทียบนักลงทุนดักอนาคตหุ้น KSL ที่จะ'ฉายแสง'ใน 3ปีข้างหน้า

จำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลขอนแก่น ยอมเปิดทางให้นักลงทุน "รายย่อย" มีโอกาสเป็นเจ้าของหุ้น KSL มากขึ้น บนแผนธุรกิจหลัก 3 ปีรายได้จะโตขึ้นอีก 100%

จำรูญ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ถึงตัวเลขกำไรไตรมาส 2/2553 สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน มีกำไรสุทธิ 101.39 ล้านบาท ลดลง "ฮวบฮาบ" จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 283.28 ล้านบาท และงวด 6 เดือนมีกำไรสุทธิ 303.19 ล้านบาท ลดลงจาก 696.84 ล้านบาท เป็นเพราะขาดทุน 645 ล้านบาทจากการเข้าไปประกันความเสี่ยงราคาน้ำตาลในตลาดล่วงหน้า

ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนรุนแรงจากการเก็งกำไรของพวก "เฮดจ์ฟันด์" ทำให้บริษัทตัดสินใจซื้อสัญญาขายล่วงหน้าไปที่ราคาปอนด์ละ 20 เซนต์จากราคาในตอนนั้น 12-13 เซนต์ แต่ปรากฏว่าราคากลับพุ่งไปถึง 27 เซนต์ และมีแนวโน้มจะไปถึง 35 เซนต์ จึงตัดสินใจขายก่อนแม้จะรู้ว่า "ขาดทุน" ถึงอย่างไรได้บันทึกผลขาดทุนไปทั้งหมดแล้ว

นอกจากเรื่องนี้นายใหญ่น้ำตาลขอนแก่น เล่าต่อว่า โรงงานที่อำเภอบ่อพลอยที่เพิ่งเปิดใหม่ยังเดินการหีบอ้อยต่ำกว่าที่คาดไว้ เพียงแค่ 50% เท่านั้นรวมทั้งต้องเข้าไปถือหุ้นโรงหีบอ้อยที่ประเทศกัมพูชามากขึ้นจาก 20% เป็น 70% เพราะตกลงเรื่องแผนธุรกิจกับผู้ร่วมทุนไม่ลงตัว ที่ผ่านมามีปัญหาเกษตรกรเก็บผลผลิตอ้อยได้ต่ำกว่าเป้าหมาย การผลิตก็ทำได้ไม่ถึงเป้าเช่นกัน

"เรื่องร้ายๆ เราคงผ่านไปหมดแล้ว จากนี้ไปทิศทางน่าจะเริ่มกลับมาปกติ" เขายืนยัน

แนวโน้มความต้องการน้ำตาลในปีนี้ จำรูญ มองว่า อากาศที่ร้อนทำให้เกิดความต้องการมากขึ้น รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงจีนมีความต้องการมากขึ้นด้วย ประเมินว่าตัวเลขรวมกันน่าจะอยู่ที่ 23 ล้านตันมากกว่าที่ทางการประเมินที่ 22 ล้านตัน ประกอบกับราคาน้ำตาลยังคงวนเวียนอยู่ในระดับที่สูง แต่ปัญหาใหญ่คือเกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยได้ตามที่เราต้องการ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก น่าเสียดายโอกาสเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามแนวโน้มรายได้งวดปีนี้ 2553-2554 ยังไงก็น่าจะหีบอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 7 แสนตัน หรือประมาณ 10-15% จากโรงงานใหม่ที่เริ่มทยอยเปิดไปก่อนหน้า รับรองได้ว่ายังมีการเติบโต

“เรื่องรายได้คงไม่มีปัญหาคงโตได้ 15% ตามเป้า เพราะราคาและความต้องการในตลาดเริ่มสูงขึ้น แต่กำไรสุทธิคงลดลงประมาณ 20-30% หลักๆ คือขาดทุนจากการประกันความเสี่ยง”

สำหรับแผนการเพิ่มทุนยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อรองรับการขยายโรงงานเฟสสอง ที่อำเภอบ่อพลอยและโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดเลย หลังได้ออกวอร์แรนท์ชุดแรกไปแล้วมีกำหนดใช้สิทธิแปลงสภาพสิ้นปีนี้ถ้ามีผู้ ใช้สิทธิทั้งหมดจะได้เงินมา 1,500 ล้านบาท โดยจะนำไปคืนหนี้ให้ภาระดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง จากนั้นต้นปี 2554 ก็จะขายหุ้นเพิ่มทุนให้บุคคลทั่วไป (PO) จำนวน 155 ล้านหุ้นพร้อมวอร์แรนท์ชุดที่สอง

"หลังเพิ่มทุนหนี้ต่อทุนเราจะลดลงเหลือไม่เกิน 1.5 เท่า และกลุ่มชินธรรมมิตร์จะลดสัดส่วนถือหุ้นลง 10% เพิ่มพื้นที่ให้รายย่อยเป็น 30% คิดว่าน่าจะดึงดูดให้มีคนสนใจได้"

เขาให้เหตุผลถึงความน่าสนใจของหุ้น KSL เพราะบริษัทมีแผนโรดแมพ 3 ปีที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร อนาคตเราจะมีธุรกิจอื่นนอกเหนือจากน้ำตาลได้แก่ พลังงานทดแทน เช่น "เอทานอล" แม้ตอนนี้อาจยังไม่มีอนาคตเพราะดีมานด์ลดลงแต่ก็จะไม่ทิ้ง รวมถึงธุรกิจปลายน้ำอย่าง "ไบโอพลาสติก" ซึ่งเป็นไปตามกระแสของโลกที่หันมาใช้พลังงานสีเขียว นอกจากนี้ยังมี "โรงไฟฟ้า" ที่จะเปิดพร้อมโรงน้ำตาลเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

"ขายน้ำตาลได้มีมาร์จินแค่ 8-10% แต่ธุรกิจโรงไฟฟ้าได้ถึง 20% เอทานอล 30% และไบโอพลาสติกอาจสูงถึง 50% อีกไม่นานคงบันทึกเข้าเป็นรายได้แม้ไม่เยอะแต่กำไรสูง"

แผนการเติบโตในอนาคต จำรูญ บอกอีกว่าบริษัทเพิ่งอนุมัติแผนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ อำเภอวังสะพุงจังหวัดเลย ผ่านมติของ ครม. เรียบร้อยแล้ว จะมีกำลังหีบอ้อย 24,000 ตันต่อวัน หรือ 3 ล้านตันต่อปี บนพื้นที่ปลูกอ้อย 1 แสนไร่ แต่เฟสแรกจะเริ่มที่กำลังผลิต 50% ก่อนถึงค่อยเปิดเฟสสอง และยังมีโรงผลิตไฟฟ้ากำลังผลิต 90 เมกะวัตต์ โรงงานเอทานอล ปุ๋ย และไบโอแก๊ส คาดว่าใช้เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท คงเป็นการลงทุนคนเดียว แต่ไม่แน่อาจมีกลุ่มทุนญี่ปุ่นมาร่วมหุ้นด้วย 20-30%

“ขั้นตอนแรกจะต้องผ่านการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อม EIA ภายใน 1 ปี คาดใช้เวลาสามปีถึงเริ่มผลิตน้ำตาลได้”

ปัจจุบันบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์น้ำตาลในประเทศ 6% ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 8% คาดว่าในครึ่งหลังของปีนี้จะชิงมาร์เก็ตแชร์กลับมาได้  แผนภายใน 5 ปีข้างหน้าเมื่อโรงงานทุกแห่งเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลังจะช่วยให้มาร์เก็ต แชร์เพิ่มเป็น 10% อันดับน่าจะสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 3 หรือ 4

"บนแผนการลงทุนทั้งหมดภายใน 3 ปีข้างหน้าเราจะสามารถหีบอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 100% จากตอนนี้ 4 ล้านตันต่อปีเป็น 8 ล้านตัน หมายถึงรายได้ที่จะโตตามด้วย" จำรูญบอกกลายๆ ว่ายุคทองยังต้องรอต่อไป

การที่บริษัททำธุรกิจการเกษตรซึ่งมีความผันผวนสูงรายได้ที่คาดการณ์ใน อนาคตอาจไม่เป็นไปตามที่หวังก็ได้ จำรูญ บอกว่าบทเรียนที่ขาดทุนครั้งนี้ทำให้บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการบริหาร ความเสี่ยงมากขึ้น ที่ผ่านมาตนเองให้เวลากับการติดตามแผนการลงทุนใหม่มากเกินไป จากนี้คงต้องกลับมาโฟกัสกับการจัดการภายในมากขึ้น

สำหรับผลตอบแทนเงินปันผลที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 1-2% จำรูญ บอกว่าช่วงสามปีนี้ต้องมีการลงทุนเยอะ แต่ถ้าไม่ลงทุนบริษัทก็จะไม่เติบโต ขอให้ผู้ถือหุ้นใจเย็นอดทนรอเพราะจากนี้ไปจะไม่มีการลงทุนหนักๆ อีกแล้วเมื่อทุกอย่างลงตัวก็จะได้เวลาเก็บเกี่ยวเสียที

"ราคาหุ้นเราเคยสูง 15 บาท ตอนนี้ก็ลงมาพอสมควร เชื่อว่าจะไม่มีขาดทุนอีกราคาหุ้นคงไม่ลงอีกแล้ว ในอนาคตเมื่อการลงทุนนิ่งแล้ว เรามีแผนจ่ายปันผลมากขึ้นที่คิดไว้อีกประมาณ 0.50 บาทต่อหุ้น"


..........

ข่าวย้อนหลังเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนตกต่ำของ KSL

มาตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วสินะ

เดี๋ยวมาช่วยๆกันเช๊คว่าแต่อย่างไปถึงไหนกันแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่