"ท็อปทรีโลก” ความลับ BGH ธงผืนใหญ่ “นพ.ปราเสริฐ"

วันที่ 25 มีนาคม 2556 01:00
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

                    

“3ปี เบอร์3 โลก จากเบอร์4” สารสั้นๆของ “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม “กรุงเทพดุสิตเวชการ” (BGH)ส่งผ่าน“ลูกน้องคนสนิท"

“3 ปี เบอร์ 1 ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค” ยุทธศาสตร์โตนอกบ้านที่ “หมอเสริฐ” บอกต่อหน้าสาธารณะชน “ทิ้งปริศนา” ก่อนโดดขึ้นรถยนต์ส่วนตัว ภายหลังเสร็จสิ้นพีธีการตัดริบบิ้น เปิดงานโรงพยาบาลพญาไท 1

หลังใช้เวลาหลายปี ในการ “ตะลุยซื้อ” หุ้นโรงพยาบาลเอกชน จนกลายเป็น “เบอร์ 2” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เป็นรองแค่กลุ่มไอเอชเอช (IHH) กลุ่มทุนมาเลย์-สิงคโปร์ ที่มีจำนวนเตียงกว่า 10,000 เตียง มากกว่า BGH เท่าตัว
ปัจจุบัน “กรุงเทพดุสิตเวชการ” ถือหุ้นใหญ่ในหลายๆโรงพยาบาลเอกชน อาทิเช่น บมจ.ประสิทธิ์พัฒนา (PYT) ของ

“วิชัย ทองแตง” เจ้าของฉายา “ทนายนักช้อป” จำนวน 97.47% (ตัวเลข ณ วันที่ 9 มี.ค.55) บมจ.สมิติเวช (SVH) จำนวน 95.76% (4 ธ.ค.55)

บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) จำนวน 38.24% (2 พ.ย.55) บมจ.โรงพยาบาลกรุงธน (KDH) 20.01% (15 พ.ค.55) บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) 23.93% (8 มี.ค.56) และบมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ของ “นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์” 1.50% (29 ส.ค.55)

“หากต้องการเห็นกลุ่ม BGH ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเซีย เท่ากับว่าภายในปี 2558 ต้องมีโรงพยาบาลในพอร์ต 50 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 30 แห่งทั่วประเทศ นั่นแปลว่า กลุ่ม BGH ต้องตั้งหน้าตั้งตาขยายธุรกิจ ด้วยการ “ซื้อกิจการ” (Take Over) หรือ “ควบรวมกิจการ” (M&A) (งานถนัดของ “หมอเสริฐ”) ทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง จากนั้นเป้าหมาย “3 ปี เบอร์ 3 ของโลก” ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก” สารนี้ถูกขยายความอีกครั้งผ่านปาก “ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ” รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพญาไท

ก่อนจะสลับหน้าที่ “สปีคเกอร์หนุ่ม” ให้ “ลูกชายคนโต” ของ “วิชัย ทองแตง” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล “สิ้นปี 2556 กลุ่ม BGH น่าจะมีโรงพยาบาลในเครือราวๆ 35 แห่ง เรามีแผนเปิดโรงพยาบาลใหม่อีก 6 แห่ง นี่คือ ปฎิบัติการณ์ก้าวแรกของการมุ่งหน้าสู่ธงผืนใหม่ของ “หมอเสริฐ” “อัฐ ทองแตง” ถ่ายทอดแผนธุรกิจให้ฟัง

เราจะเน้นควบรวมกิจการโรงพยาบาลตามหัวเมืองใหญ่ หรือติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ขอนแก่น อุดรธานี และเชียงใหม่ จริงๆแล้วเราอยากโฟกัสในประเทศให้มีความเข้มแข็งก่อน จากนั้นค่อยออกไปต่างประเทศ เพราะตลาดในเมืองไทยยังมีโอกาสอีกมากมาย ตอนนี้กำลังศึกษาว่าจะเข้าไปซื้อโรงพยาบาลในรูปแบบใดระหว่าง “ควบรวมกิจการ” หรือ “Greenfield Investment” (การลงทุนเริ่มสร้างกิจการแห่งใหม่)

ถามว่าถ้าสร้างโรงพยาบาลใหม่จะใช้เงินลงทุนเท่าไร? “หนุ่มอัฐ” ตอบว่า อาจใช้เงินราวๆ 1,500 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูง แต่ถ้าควบรวมกิจการน่าจะลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อ 1 โรงพยาบาลที่มีเตียงจำนวน 150-200 แห่ง
การขยายกิจการของกลุ่ม BGH จะแตกต่างจากกลุ่ม IHH ที่มีหัวหอกอย่างกลุ่มโรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย เขาเน้นขยายกิจการในต่างประเทศเป็นหลัก เพราะประเทศเขามีขนาดเล็กกว่าเมืองไทยหลายเท่า ทำให้การเดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศทำได้ค่อนข้างยาก และมีขีดจำกัด

สำหรับแผนขยายการลงทุนนอกบ้าน เขาย้ำชัดๆอีกครั้งว่า สนใจเข้าไปในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อาทิ เมืองจีนตอนใต้ โดยเฉพาะ “มณฑลยูนนาน” ซึ่งอยู่ติดกับประเทศพม่า เบื้องต้นอาจเห็นเราจับมือกับพันธมิตรกับโรงพยาบาลท้องถิ่น ตอนนี้ที่โน่นเขาสนใจการให้บริการเกี่ยวกับคนที่มีบุตรยาก

ที่ผ่านมาก็ได้เข้าไปลงทุนในประเทศพม่าและลาวแล้ว แผนงานนี้สอดคล้องกับคำพูดของ “นพ.ชาตรี ดวงเนตร” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ BGH “ตลาดจีน ถือว่าอยู่ในแผน ASEAN+1 เศรษฐกิจเมืองจีนร้อนแรง คนของเขาทยอยมาใช้บริการโรงพยาบาลเมืองไทยมากขึ้น” ระหว่างที่ “อัฐ” กำลังโชว์แผนงานอย่างออก “อรรถรส” อยู่นั้น “ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ” รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1แทรกขึ้นว่า เราสนใจเข้าไปทำธุรกิจในประเทศรัสเซีย แต่ละปีมีคนจากประเทศดังกล่าวเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แผนกโรคมะเร็ง “ฮอตฮิต” มาก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าหลายเท่าตัว และมีคุณภาพที่ดีเทียบเท่าแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศ ในส่วนของโรงพยาบาลพญาไทมีอยู่ประมาณ 10% ที่เหลือเป็นลูกค้าคนไทย 90% ลูกค้าต่างชาติอันดับแรก คือ ชาวรัสเซีย รองลงมาเป็นพม่า และกัมพูชา คาดว่าสิ้นปี 2556 สัดส่วนลูกค้าต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ส่วนปี 2557 จะขยับขึ้นเป็น 20-25% หลังโรงพยาบาลเปิดบริการใหม่ๆ เรียกว่าสร้างความประทับใจจนลูกค้าติดใจ (ยิ้ม)

สำหรับสัดส่วนลูกค้าต่างชาติที่บินตรงมาใช้บริการของทั้งกลุ่ม BGH น่าจะอยู่ราวๆ 49% ที่เหลือเป็นคนไทยประมาณ 40% อีก 10% เป็นกลุ่มต่างชาติที่อาศัยในเมืองไทย (Expat) ลูกค้าต่างชาติอันดับหนึ่ง ต้องยกให้ประเทศพม่า รองลงมาเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ถัดมาเป็นประเทศการ์ต้า สุดท้าย คือ ประเทศคูเวต ที่เพิ่งขึ้นมาแทนที่ประเทศเอธิโอเปีย

ถามว่าถึงการลงทุนในเมืองจีน? เขา ตอบว่า อาจร่วมมือกับโรงพยาบาลหรือคลินิกชั้นนำในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะคลินิกหรือสถานพยาบาลสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก หลังพบว่าเป็นที่นิยมสำหรับคนจีนที่ต้องการมีบุตร ส่วนประเทศพม่า ตอนนี้กำลัง “ฮิต” เกี่ยวกับความสวยงาม เรียกว่าเป็นที่นิยมมาก

ระยะแรกๆ คงต้องมีพันธมิตร เพื่อที่จะได้ดูว่ามีโรงพยาบาลหรืออคลินิกแห่งใดน่าสนใจ เบื้องต้นอาจมีการส่ง หรือแลกเปลี่ยนคนไข้ระหว่างกันไปก่อน อันนี้เป็นแผนระยะสั้นๆ ส่วนระยะยาวคงมองเรื่องการ “ควบรวม” หรือ “ซื้อกิจการ” ตามกลยุทธการลงทุนของทางกลุ่ม

การลงทุนคงต้องดูจังหวะและความเหมาะสม การขยายธุรกิจโรงพยาบาลออกไปก่อนย่อมทำไม่ได้ เพราะจะต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและพยาบาลที่ตอนนี้หายากมากๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องค่าจ้างที่ทางโรงพยาบาลจะต้องดูแลให้ดี เพื่อให้บุคลากรสามารถอยู่ได้โดยไม่ลำบาก

“รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1” เล่าต่อว่า กลุ่ม BGH จะเดินหน้าขยายตลาดการรักษาโรคให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม อาทิ การเปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยจิตเวชแห่งแรกในโรงพยาบาลเอกชน เราจะเริ่มจากโรงพยาบาลกรุงเทพก่อน ภายใต้ชื่อ “ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ” ทุกวันนี้มีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า ติดยา และติดเหล้า
แผนกนี้เปิดมาเพื่อรองรับตลาด “ชนชั้นกลาง” โดยเฉพาะปัจจุบันมีคนไข้ระดับกลาง-ล่าง ประมาณ 15-20% นโยบายนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ต้องการทำให้กลุ่ม BGH เป็นโรงพยาบาลสำหรับคนไทย วันนี้ต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีสถานที่ที่จะเข้าไปรักษาตัว ส่วนที่มีอยู่ก็ไม่อยากไป เพราะยังยึดติดกับภาพลักษณ์เดิมๆ ของสถานรักษานั้นๆ เช่น ศรีธัญญา กับ มโนรมย์ เป็นต้น

“อัฐ ทองแตง” ทิ้งท้ายว่า ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว เชื่อว่าในปี 2556 กลุ่ม BGH จะมีผลประกอบการเติบโตประมาณ 20% หรือใกล้เคียงปี 2555 ที่รายได้เติบโตเฉลี่ย 22% เพราะจะมีคนไข้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรครักษายาก “งานบริการน่าประทับใจ” คือ สิ่งภารกิจสำคัญของกลุ่ม BGH

มูฟครั้งใหม่ เทคออฟ “การบินกรุงเทพ” เข้าตลาดหุ้นมิ.ย.นี้
“นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เกิดในตระกูล “ช้างบุญชู” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเกี่ยวกับเวชกรรมโอสถ ผู้เป็น “อา” นามว่า“ทองคำ ช้างบุญชู” คือ อาจารย์หมอพื้นบ้านคนแรกของเขา เรียกได้ว่าเป็น “ผู้เปิดเส้นทางสู่เสื้อกาวน์” ขณะนั้น ผู้เป็นพ่อ “ทองอยู่ ช้างบุญชู” ได้เปิดโรงงานผลิตและจำหน่ายยาหอมขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณห้าแยกพลับพลาไชย ภายใต้ยี่ห้อ ยาหอมปราสาททอง ยาหอมอินทรแท่งทอง และยาข่าหอมปราสาททอง เป็นต้น

แม้ “หมอเสริฐ” จะเรียนจบด้านศัลยแพทย์จากศิริราช แต่ในช่วงวัยเยาว์เคยฝันอยาก “ใส่เสื้อสูท” สวมมาดนักธุรกิจ ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ผู้จัดการรายเดือนว่า ตอนอายุ 11 ขวบ ช่วงพ.ศ.2489 ผมขี่ควายกลางทุ่งนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบ้านเกิด ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมเห็นเครื่องบินทิ้งบอมบ์ มันเป็นลูกกลมๆสีเงินๆ ผมกลัวมาก ตกใจ วิ่งหนีตายอย่างเดียว ช่วงนั้นเกิดความคิด “สักวันต้องเป็นเจ้าของเครื่องบินให้ได้”

แรงบันดาลใจ!! ในวันนั้น ทำให้เขาผลักดัน “ความฝัน” ให้เป็นจริง ปัจจุบัน “หมอเสริฐ” เป็นเจ้าของบริษัท “การบินกรุงเทพ” ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ซึ่งถูกก่อตั้งเมื่อปี 2511 ในแผนกการบินสหกลแอร์ ของบริษัท กรุงเทพ สหกล จำกัด ต่อมาในช่วงปี 2551 เขาได้ยกหน้าที่ “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” ให้ ลูกชายคนโต "กัปตันเต๋" พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ รับช่วงต่อ ล่าสุดเขาเพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 45 ปี ของ บริษัท “การบินกรุงเทพ”

ปัจจุบัน “การบินกรุงเทพ” ได้นำเครื่องบิน ATR 72-500 ขนาด 70 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ จากประเทศฝรั่งเศส และเครื่องบิน Airbus 320 ขนาด 162 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ รวมถึงเครื่องบิน Airbus 319 ขนาด 144 ที่นั่ง จำนวน 1 ลำ Airbus 319 ขนาด 138 ที่นั่งจำนวน 2 ลำ และ Airbus 319 ขนาด120 ที่นั่ง มาให้บริการแล้ว

“ภายในเดือนมิ.ย.นี้ ผมจะนำพา “กรุงเทพการบิน” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตอนนี้ได้แต่งตั้งบล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว “หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” บอกสั้นๆ

ก่อนหน้านี้ “กัปตันเต๋” เคยเล่าว่า คุณพ่อวางกลยุทธ์ “การบินกรุงเทพ” คล้ายๆกับ “กรุงเทพดุสิตเวชการ” คือ ในอนาคต “บางกอกแอร์เวย์ส” ต้องติดอันดับสายการบินชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านมาเราปลุกปั้นแบรนด์จนได้รับรางวัล สายการบินระดับภูมิภาคยอดเยี่ยมของเอเชีย จาก Skytrax นิตยสารด้านการเดินทางโดยอากาศยานของยุโรป (รับรางวัลมาตั้งแต่ปี 2547-2552)

“เราน่าจะได้เงินที่ได้จากการระดมทุนราวๆ 10,000 ล้านบาท บริษัทจะนำมาขยายธุรกิจเน้นลงทุนขยายฝูงบินเพิ่มเติม ภายในปี 2558 เราน่าจะมีฝูงบินราว 30 ลำ จากสิ้น 2555 ที่มีเครื่องบิน 21 ลำ สำหรับรายได้ในปี 2556 น่าจะได้เห็นตัวเลข 14,000-15,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 10%”

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่