วิกฤติไซปรัสจะลงเอยอย่างไร

ธุรกิจ : CEO Blogs วันที่ 25 มีนาคม 2556 07:18
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ    MoneyPro
โดย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

                

ดิฉันว่างเว้นไม่ได้เขียนถึงวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปมาเป็นเวลาครึ่งปี นับตั้งแต่วิกฤติสงบลงชั่วคราว
เมื่อมีการประกาศรับซื้อพันธบัตรของประเทศในยูโรโซนอย่างไม่จำกัด แต่ได้แสดงความเห็นว่าการเลือกวิธีนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าวิกฤติหนี้ของยุโรปจะถูกลากยาว และจะปะทุขึ้นมาเป็นระยะๆ

ดิฉันเขียนถึงไซปรัสไปเมื่อวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2555 เล่าข้อมูลพื้นฐานของประเทศไซปรัส ประกอบตำนานเทพนิยายกรีก ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้ค่ะ

ในวันนี้ ไซปรัสแสดงอาการป่วยออกมาอีก ธนาคารยักษ์ใหญ่สองแห่งของประเทศทำท่าว่าจะล้ม ถ้าท่านจำได้ ดิฉันเคยเขียนไปในบทความเดิมว่า ธนาคารของไซปรัสเจ็บตัวเพราะไปลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลกรีซเอาไว้มาก (เพราะมีเงินร้อนๆ จากรัสเซียไหลเข้าเยอะ)

ในปีที่แล้วไซปรัสก็เคยกู้ 2,500 ล้านยูโร จากรัสเซีย

คราวนี้ ไซปรัสต้องขอความช่วยเหลือจากยูโรเพื่อจะเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อไม่ให้ล้ม การช่วยเหลือไซปรัสของกลุ่มยูโรมีเงื่อนไขที่เสนอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ 10,000 ล้านยูโร ซึ่งทำให้เกิดอาการช็อกไปตามๆ กันคือ ผู้ฝากเงินต้องเป็นผู้รับภาระ โดยผู้ฝากเงินที่ฝากเกินกว่า 100,000 ยูโร จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 9.9% ของเงินฝาก และผู้ฝากเงินน้อยกว่า 100,000 ยูโร จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 6.75% ซึ่งจะทำให้ได้ภาษีประมาณ 5,800 ล้านยูโร ซึ่งสภาของไซปรัสไม่ผ่านกฎหมายนี้ แม้จะมีการเพิ่มข้อยกเว้นให้กับผู้ฝากเงินน้อยกว่า 20,000 ยูโรก็ตาม

ไม่ใช่เฉพาะคนไซปรัสเท่านั้นที่เกิดฮือฮาขึ้นมา ผู้ฝากเงินในประเทศที่รับความช่วยเหลือจากกลุ่มยูโรก็เกิดอาการสะดุ้งเหมือนกัน ธนาคารไซปรัสปิดมาหนึ่งสัปดาห์แล้ว และจะเปิดในวันอังคารที่ 26 มีนาคม (มีวันหยุดเดิมอยู่แล้วคือ 18 และ 25 มีนาคม และทางการประกาศหยุดเพิ่มในระหว่างที่ยังไม่มีข้อสรุป) การถอนเงินจึงทำได้จากตู้เอทีเอ็มเท่านั้น ชาวไซปรัสพากันเข้าคิวถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มกันยาวเหยียด แต่ถอนเงินจากตู้ถอนได้เพียง 260 ยูโร (ประมาณ 10,000 บาท) ต่อครั้งเท่านั้น และบางตู้ก็ไม่มีเงินสดให้ถอน

ทางกลุ่มรัฐมนตรีคลังของประเทศในยูโรพยายามบอกว่าสถานการณ์ของไซปรัสไม่เหมือนประเทศอื่นๆ เพราะผู้ฝากเงินรายใหญ่ของไซปรัสส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ โดยเฉพาะรัสเซีย ไซปรัสเป็นศูนย์กลางการเงิน และการทำรายการต่างๆ ของธุรกิจรัสเซีย เพราะมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายกว่า และมีอัตราภาษีที่ต่ำ โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลมีอัตราเพียง 10% เท่านั้น

มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ไซปรัสดูแบบอย่างจากไอซ์แลนด์ในตอนที่ไอซ์แลนด์จัดการกับวิกฤติ เพราะมีความคล้ายคลึงกัน ธนาคารของไอซ์แลนด์มีขนาดสินทรัพย์ 10 เท่าของจีดีพีไอซ์แลนด์ในปี 2008 ในขณะที่สินทรัพย์ของธนาคารไซปรัสมีขนาด 8 เท่าของจีดีพีประเทศ

ธนาคารไอซ์แลนด์มีสัดส่วนของผู้กู้ต่างประเทศ และผู้ฝากเงินจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะผู้ฝากจากสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ เมื่อประสบกับปัญหา รัฐได้ย้ายผู้กู้ไอซ์แลนด์และผู้ฝากเงินไอซ์แลนด์ไปที่ใหม่ ส่วนผู้กู้ต่างประเทศและผู้ฝากเงินพร้อมกับเจ้าหนี้ต่างประเทศถูกทิ้งไว้ในธนาคารเดิม และปล่อยให้ธนาคารล้มไป สรุปแล้วผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ชาวต่างชาติก็ไม่ได้เงินคืน (แต่รัฐบาลของสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินในภายหลัง) และไอซ์แลนด์ประกาศควบคุมเงินไหลออกด้วย

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของธนาคารในไอซ์แลนด์แตกต่างกับธนาคารไซปรัสตรงที่ ธนาคารในไอซ์แลนด์กู้เงินจากตลาดโดยการออกตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ธนาคารในไซปรัสใช้เงินฝากในการนำมาปล่อยกู้หรือลงทุน ผลกระทบจึงแตกต่างกัน ในทางปฏิบัติเรามักจะถือว่าสถาบันหรือผู้ลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้เหล่านี้มีความรู้และรับความเสี่ยงได้มากกว่าผู้ฝากเงิน ในการคุ้มครองเงินฝากโดยทั่วไปจึงไม่คุ้มครองเจ้าหนี้ค่ะ

ไซปรัสกำลังหมดทางเลือก หลังจากสภาลงมติไม่รับเงื่อนไขที่ผู้ฝากเงินจะต้องเสียภาษีในอัตราสูงตามที่กลุ่มยูโรเสนอมา ตอนนี้กำลังเจรจากันว่าผู้ฝากเงินจำนวนน้อยกว่า 100,000 ยูโร จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะให้ผู้ฝากเงินมากกว่า 100,000 ยูโรรับภาระแต่เพียงกลุ่มเดียว และคงจะต้องควบคุมเงินไหลออกในไม่ช้า ซึ่งนักธุรกิจและผู้มีความมั่งคั่งสูงชาวรัสเซียคงได้รับความเสียหายมากทีเดียว

อย่างไรก็ดีในแง่ของความรุนแรง เนื่องจากไซปรัสเป็นประเทศเล็ก และมีธุรกรรมกับประเทศอื่นไม่มาก เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่ในแง่ของความรู้สึกก็อาจจะทำให้รู้สึกว่า หากเกิดขึ้นกับไซปรัสได้ ก็อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน
อีกมุมหนึ่งที่ต้องจับตาดูก็คือเรื่องของภูมิศาสตร์การเมือง ซึ่งไฟแนนเชียลไทม์สวิเคราะห์ว่าไซปรัสอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่ใกล้อิสราเอล ใกล้ตุรกี และกรีซ และมีอิทธิพลของรัสเซียมาก ทั้งยังเชื่อว่ามีแหล่งก๊าซและน้ำมันสำรองอยู่ในน่านน้ำ ดังนั้น จะต้องดูแลแก้ไขปัญหาของไซปรัสให้ดี
วิกฤติไซปรัสจะลงเอยอย่างไรอีกไม่ช้าก็ทราบแล้ว เพราะยูโรขีดเส้นตายให้ไซปรัสในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคมนี้ หากไม่ยอมให้ผู้ฝากเงินต้องจ่ายภาษีสูง ก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ และอาจจะเป็นประเทศแรกที่ต้องออกจากกลุ่มที่ใช้เงินยูโร อัศวินม้าขาวรัสเซียจะเข้ามาช่วยได้หรือไม่ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ค่ะ

แต่ที่แน่ๆ คือ หลังจากนี้ไซปรัสคงไม่สามารถดำรงเป็นศูนย์กลางการเงินที่มีอัตราภาษีถูกและมีต่างชาติมาใช้บริการแบบเดิมได้อีกต่อไป และหากดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยไม่ได้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักอีกอย่างหนึ่งของไซปรัสก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยค่ะ

หมายเหตุ : ล่าสุดสภาของไซปรัสได้ผ่านกฎหมายที่จะระดมทุน 5,800 ล้านบาท เพื่อให้ได้ตามเงื่อนไขของอีซีบี โดยผู้ฝากเงินจะถูกเก็บภาษีเพียง 1% ของเงินฝากและมีมาตรการอื่นๆ เสริม

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่