บ้านขนาด 150-180 ตรม ต้องมีวิศวะเซ็นควบคุมงานหรือไม่

ยื่นขออนุญาิต ขนาดบ้าน 150-180 ตรม บ้าน 3 ชั้น
- แบบสถาปัต เซ็นรับรอง
- แบบโครงสร้าง เซ็นรับรอง
- สุขาภิบาล
- ไฟฟ้า
เกิน 150 ตรม. ต้องมี สถาปัตเซ็นควบคุมงานก่อสร้าง แล้วจำเป็นต้องมี วิศวะเซ็นควบคุมงานก่อสร้างไหมคะ
เจ้าของบ้านสามารถเซ็นควบคุมงานก่อสร้างได้เองไหม
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
ประเด็นเกี่ยวกับกรณีเรื่อง:- ผู้ควบคุมงาน จะกระทำโดยผู้ใดได้บ้างนั้น การพิจารณาต้องพิจารณาจากกฎหมาย ๓ ฉบับ คือ:-

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๔๙ ออกตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓
กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ ออกตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

มาตรา ๒๙ วรรคสอง บัญญัติว่า:- ผู้ควบคุมงานจะเป็นบุคคลใดหรือเป็นเจ้าของอาคารก็ได้ เว้นแต่จะเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมหรือกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม

พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า:- การควบคุมงานตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ นั้น โดยปกติแล้ว จะเป็นผู้ใดก็ได้ เช่น ผู้รับเหมา วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ หรือเจ้าของอาคารจะเป็นผู้ควบคุมงานด้วยตนเองก็ย่อมได้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเข้าข่ายควบคุมตามพ.ร.บ.สถาปนิกฯ หรือ พ.ร.บ.วิศวกรฯ จะต้องให้สถาปนิกกับวิศวกรควบคุมเท่านั้น ดังนั้น เรามาดูกฎหมายของสถาปนิกกับวิศวกร กันดูนะครับว่าบัญญัติไว้อย่างไรบ้าง

กฎกระทรวง กำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๔๙ บัญญัติว่า:-

ข้อ ๒ วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ได้แก่ วิชาชีพสถาปัตยกรรมในสาขา ดังต่อไปนี้ (๑) สาขาสถาปัตยกรรมหลัก ในงานตามข้อ ๓ ยกเว้นการออกแบบวางผังอาคารที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลพื้นที่รวมกันไม่เกิน ๑๕๐ ตารางเมตร หรืออาคารเพื่อการเกษตรพื้นที่ไม่เกิน ๔๐๐ ตารางเมตร

ข้อ ๓ งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละสาขา มีดังต่อไปนี้ (๓) งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง หมายถึง... การควบคุมการก่อสร้าง...

พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า:- การควบคุมการก่อสร้าง นั้น เข้าข่ายเป็นงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทุกประเภท ทุกขนาด ครับ รายละเอียด ตามข้อ ๓ ของกฎกระทรวงฯ ส่วนกรณีข้อยกเว้นตามข้อ ๒ นั้น:- หลักกฎหมายมีอยู่ว่า ข้อยกเว้นในกฎหมาย การตีความ ต้องตีความโดยเคร่งครัด พิจารณาจากข้อ๒ แล้ว จะเห็นได้ว่า:- กฎหมายใช้คำว่า ยกเว้น การออกแบบวางผังอาคาร เท่านั้น การควบคุมงานไม่มีการยกเว้นแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะเป็นอาคารพักอาศัยพื้นที่ ๑๕๐ ตารางเมตร ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องใช้สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบ แต่ เจ้าของอาคารจะควบคุมงานด้วยตนเองไม่ได้ครับ ต้องใช้สถาปนิกเป็นผู้ควบคุมงานให้ เท่านั้น.

กฎกระทรวง กำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐  บัญญัติว่า:-

ข้อ ๔ ประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา มีดังต่อไปนี้ (๑) อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๓ ชั้นขึ้นไป หรือโครงสร้างของอาคารที่ชั้นใดชั้นหนึ่งมีความสูงตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป หรืออาคารที่มีช่วงคานตั้งแต่ ๕ เมตรขึ้นไป

พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า:- การที่จะเข้าข่ายเป็นอาคารควบคุมตาม กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.วิศวกรฯ หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาองค์ประกอบ ๓ ประการด้วยกัน

ประการที่ ๑ อาคารมีความสูงตั้งแต่ ๓ ชั้นขึ้นไปหรือไม่?
ประการที่ ๒ โครงสร้างของอาคารที่ชั้นใดชั้นหนึ่งมีความสูงตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไปหรือไม่?
ประการที่ ๓ อาคารมีช่วงคานตั้งแต่ ๕ เมตรขึ้นไปหรือไม่?
กรณีคำถาม:- อาคารพักอาศัย สองชั้น พื้นที่ ๑๕๐ ตารางเมตร จึงไม่เข้าองค์ประกอบในเรื่องจำนวนชั้น หากโครงสร้างชั้นใดชั้นหนึ่งสูงไม่ถึง ๔ เมตรและช่วงคานไม่ถึง ๕ เมตร:- ย่อมไม่ต้องใช้วิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานแต่อย่างใด แต่หาก ชั้นใดชั้นหนึ่งสูงตั้งแต่ ๔ เมตร หรือมีช่วงคานตั้งแต่ ๕ เมตร แม้จะสูงไม่ถึง ๓ ชั้น ก็ต้องมีวิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานนะครับ.

สรุปได้ว่า:- อาคารพักอาศัย สองชั้น พื้นที่ ๑๕๐ ตารางเมตร เจ้าของอาคารเป็นผู้ควบคุมงานเองไม่ได้ครับ อย่างน้อยต้องมีสถาปนิกเป็นผู้ควบคุมงาน ส่วนต้องมีวิศวกรควบคุมงานหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาที่ความสูงระหว่างชั้นและช่วงคานประกอบครับ ^^
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่