นาข้าวบนพื้นที่สูงบ้านส่วยอู

กระทู้ข่าว
......................ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง ในระดับความสูงประมาณ 500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จะดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวและผักต่าง ๆ โดยการทำนาดำและการทำข้าวไร่แบบหมุนเวียน คือจะกลับมาทำในพื้นที่เดิมทุก 5-10 ปี นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงหมู ไก่ วัว ควาย และช้าง เพื่อเป็นอาหารและทำพิธีกรรม และหากปีใดขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกก็จะเข้าเมืองขายแรงงานเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว
              
               อย่างที่โครงการหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแม่ส่วยอู จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 โดยให้พิจารณาจัดตั้งหมู่บ้านในรูปแบบ บ้านยามชายแดนในพื้นที่ด้านตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อพัฒนาราษฎรในพื้นที่ให้เข้มแข็งมีส่วนร่วมรักษาอธิปไตยของชาติอย่างมีระบบ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
        
                      บ้านแม่ส่วยอูมีประชากร 28 ครัวเรือน จำนวน 124 คน ราษฎรอาสาสมัครหมู่บ้านยามชานแดนบ้านแม่ส่วนอู ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเข้ามาของภัยคุกคามต่างๆ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน และได้รับการถ่ายทอดวิธีการในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการปลูกข้าวเพื่อใช้บริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการและไม่ต้องบุกรุกทำลายป่าเพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่ทำกินด้วยการปรับพื้นที่ลาดชันเป็นนาข้าวแบบขั้นบันใดและปลูกข้าวพันธ์ดั่งเดิมของพื้นที่
        
                      สภาพพื้นที่ของข้าวนาที่สูงมีลักษณะพิเศษบางอย่าง คือ พื้นที่นาเป็นลักษณะแบบขั้นบันไดอย่างชัดเจน ความกว้างของกระทงนาขึ้นกับสภาพความลาดชันของพื้นที่และคันนามีความสูงแตกต่างจากนาพื้นราบ อยู่ระหว่างหุบเขา อาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีการใช้ปัจจัยการผลิตค่อนข้างต่ำ ผลผลิตโดยเฉลี่ย 200-600 กิโลกรัม/ไร่
        
                      พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่ผ่านการคัดเลือก โดยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเป็นมรดกสืบทอดกันมา ค่อนข้างมีความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนใหญ่เป็นข้าวเจ้า พันธุ์บือโปะโละ บือพะทอ บือกิ บือพะโด่ะ บือแม้ว บือกิโพ บือกวา บือกอ บือพึ บือมูโป๊ะ บือเนอมู บือซอมี บือโซ เป็นต้น นอกจากข้าวเจ้ายังมีพันธุ์ข้าวเหนียว เช่น บือปิอีจอวะ บือปิอีปอซี ปลูกบ้างเช่นกัน
        
                      ที่บ้านแม่ส่วยอูจะมีเมล็ดพันธ์เป็นของตนเองซึ่งเก็บรักษาไว้ในทุกฤดูกาลผลิต โดยก่อนนำเมล็ดพันธุ์ไปตกกล้า จะใช้กระด้งฝัดทำความสะอาดเพื่อแยกเมล็ดดีและเมล็ดลีบออกจากกัน รวมถึงเมล็ดวัชพืชซึ่งอาจติดไปกับเมล็ดพันธุ์ อัตราเมล็ดพันธุ์ใช้ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปักดำ 1 ไร่
        
                      การเตรียมแปลงปักดำ จะทำการไถดะรอฝนตากดินและหมักทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ ไถแปรและไถคราดปรับผิวดินให้สม่ำเสมอ ระยะปักดำ 25x25, 30x30 เซนติเมตร โดยยึดหลักดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูก ควบคุมระดับน้ำในแปลงนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร กำจัดวัชพืชโดยใช้มือถอนและสารกำจัดวัชพืชจากธรรมชาติ โดยนำเปลือกไม้ประดู่มาแช่น้ำแล้วเทราดบริเวณต้นข้าวที่เป็นโรค สำหรับสัตว์ศัตรู เช่น หนู จะใช้กับดักแล้วนำมาเป็นอาหาร เก็บเกี่ยวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม ใช้เคียวในการเกี่ยวข้าว แปรรูปเป็นข้าวสาร ด้วยครกกระเดื่องหรือเรียกว่า การตำข้าว              
              
                      วันนี้ราษฎรบ้านแม่ส่วยอู มีข้าวเพียงพอในการบริโภคภายในครัวเรือน และมีเมล็ดพันธ์เพียงพอต่อการเพาะปลูกในทุกฤดูกาล และหลังนาก็ใช้พื้นที่ปลูกพืชผักเพื่อบริโภคและส่งขายในส่วนที่เหลือ จึงไม่ต้องออกไปขายแรงงานในเมืองเช่นที่ผ่านมา เพราะพื้นที่มีน้ำเนื่องจากระบบนิเวศน์ดีขึ้นจากการช่วยกันอนุรักษ์ป่าอย่างต่อเนื่องของโครงการฯ.

http://www.dailynews.co.th/agriculture/191775



***ข้าวสารดอย

***ข้าวสารเหนียวและเมล็ดพันธ์

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่