เปิด20หุ้นเด่น เก็บเข้าพอร์ตด่วน!

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2013 เวลา 16:58 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน Financial - คอลัมน์ : การเงิน-ตลาดทุน


งูเล็กกำลังเลื้อยลาจากโค้งแรกหรือไตรมาส 1 ของปี 2556  เข้าไปทุกทีแล้ว ขณะที่"กระทิง"ก็ยังคึกอยู่กับ"ตลาดหุ้นไทย"แบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  นักลงทุนในประเทศทั้งกระเป๋าหนักกระเป๋าเบาก็เมามันกับการ "เก็งกำไร" หุ้นแบบไม่กลัวตกดอย จากที่ราคาหุ้นบางตัวปรับขึ้นไปสูงมากแล้ว

      เช่นเดียวกับภาพรวมตลาดหุ้นที่เหล่านักวิเคราะห์เห็นพ้องกันว่าอยู่ในภาวะที่ "เปราะบาง" มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯจ่อทดสอบที่ระดับ 1,600 จุด และมีการคาดการณ์ว่าจะได้เห็นแน่ ๆ ก่อนสิ้นไตรมาสแรกนี้

    การลงทุนในตลาดหุ้นก่อนลาโค้งแรก บริษัทหลักทรัพย์(บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ได้ชูหัวข้อหรือ "ธีม"การลงทุนจากปรากฏการณ์ "วินโดว์ เดรสซิ่ง"หรือการทำราคาปิดสิ้นงวดบัญชี (window dressing) โดยมองว่าจะหนุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ทดสอบ 1,600 จุด

    ทั้งนี้โนมูระ มองว่าช่วงก่อนปิดไตรมาส 1 ของทุกปี ถือเป็นช่วงหนึ่งที่ตลาดหุ้นมักมีภาพของการแกว่งตัวไซด์เวย์-ไซด์เวย์ อัพ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงหนุนของปรากฏการณ์ วินโดว์ เดรสซิ่ง ที่มักเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในไตรมาสนี้ บวกกับฤดูกาลจ่ายเงินปันผล (ขึ้นXD มี.ค.-เม.ย. 2556) เป็นปัจจัยพยุงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือฟันด์โฟลว์ ให้ยังคงอยู่ในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้

    จากแรงหนุนดังกล่าว บวกกับความมั่งคั่งของคนในประเทศเพิ่มสูงมากในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ทำให้โนมูระคาดว่าจะหนุนให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯเดือนมีนาคมนี้ปรับตัวขึ้นทดสอบที่ระดับ 1,600 จุด  โดยจะได้อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พีอี เรโช)ปี 2556 ที่ 14.5 เท่า

    โนมูระ ยังได้กางสถิติของการเกิดปรากฏการณ์วินโด เดรสซิ่ง โดยพบว่าไตรมาสแรกของทุกปี มักมีวินโดว์ เดรสซิ่ง (ก่อนปิดไตรมาส สองสัปดาห์สุดท้าย) ภาพรวมรายไตรมาสย้อนหลัง 8 ปี บ่งชี้ว่า SET มักปรับตัวขึ้นจริงก่อนสิ้นทุกๆ ไตรมาส 1.5-2 สัปดาห์ ราว 0.38-0.58% ด้วยความน่าจะเป็นสูง 72% น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าวินโดว์ เดรสซิ่ง มีอยู่จริง และหากพิจารณาเฉพาะไตรมาส 1 ของทุกปี พบว่าวินโดว์ เดรสซิ่ง เกิดขึ้นบ่อยเช่นกัน ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยราว 0.75-0.9% (ช่วงก่อนปิดไตรมาส 1.5-2 สัปดาห์) ด้วยโอกาสในการเกิดสูงถึง 75%(หรือเกิดขึ้นถึง 6 ปี จาก 8 ปี ) ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากในช่วงนี้เป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการประจำปี จึงหนุนให้นักลงทุนสถาบัน และต่างชาติทยอยซื้อมากกว่าขายทำกำไรทำให้วินโดว์ เดรสซิ่ง มักเกิดขึ้น

    ในมุมมองเชิงกลยุทธ์ของฝ่ายวิเคราะห์โนมูระ เมื่อวิเคราะห์สถิติในอดีต บวกกับแนวโน้มเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงคาดหวังของนโยบายการเงินอ่อนตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และญี่ปุ่น หลังเตรียมตั้งประธานาธิบดีจีนคนใหม่ และผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)น่าจะทำให้โมเมนตัมตลาดเกิดปรากฏการณ์วินโดว์ เดรสซิ่งในไตรมาส 1 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะเกิดก่อนสิ้นไตรมาสราว 2 สัปดาห์นี้

    สำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากวินโดว์ เดรสซิ่งไตรมาสแรกมักเป็นหุ้นในกลุ่มปันผลสูง และเป็นบริษัทที่อยู่ในช่วงฤดูกาลของธุรกิจช่วงไตรมาสแรก ผลการศึกษาของฝ่ายวิเคราะห์โนมูระ พบว่า หุ้นที่มีวินโดว์ เดรสซิ่ง ก่อนสิ้นไตรมาสแรกส่วนใหญ่กระจายอยู่ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเป็นช่วงฤดูกาลของธุรกิจคือ กลุ่มค้าปลีก โรงพยาบาล และท่องเที่ยว บวกกับหุ้นในกลุ่มที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง คือ กลุ่มค้าปลีก วัสดุอุตสาหกรรม วัสดุก่อสร้าง กลุ่มธนาคาร เป็นหลัก

    สำหรับกลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นที่มักมีปรากฏการณ์วินโดว์ เดรสซิ่ง  และปัจจัยพื้นฐานแกร่ง โดยมีหุ้น 8  บริษัทที่ฝ่ายวิเคราะห์โนมูระ ยกให้เป็นหุ้นเด่นและแนะนำให้ลงทุนดังนี้ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT), บมจ. ทุนธนชาต(TCAP), บมจ.ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน( ROBINS), บมจ.จีเอฟพีที(GFPT)(ดูตารางประกอบ)

    ส่วนหุ้นที่มักมีวินโดว์ เดรสซิ่ง ก่อนปิดไตรมาสแรก เรียงตามลำดับโอกาสในการเกิด และผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด มี 20 บริษัท ดังนี้ คือ SAT, TCAP, ROBINS, GFPT,  บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า(STANLY), บมจ.สหมิตรเครื่องกล(SMIT), บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์(HMPRO), บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC), บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN)

    บมจ.การบินไทย(THAI), บมจ.ธนาคารกสิกรไทย(KBANK), บมจ.อาปิโก้ ไฮเทค(AH), บมจ.ซีพีออลล์(CPALL), บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล(MINT),บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB),บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC),บมจ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้(AP),บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) ,บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BGH )และ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ(BBL)

    อย่างไรก็ตามแม้หุ้น BBL โอกาสในการเกิดจะน้อยแต่ฝ่ายวิเคราะห์โนมูระเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานและมูลค่าของหุ้นที่ต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นน่าจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดี

    ด้านบทวิเคราะห์บล.ทิสโก้ฯ ประเมินว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเชิงบวกอยู่ ทำให้ยังเก็งกำไรระยะสั้นได้ต่อไป
    สำหรับกลยุทธ์การลงทุนท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่เปราะบางนี้ บล.ทิสโก้ฯ แนะนำให้ลงทุน "หุ้นรายตัว" เท่านั้น และพร้อมกำหนด "จุดหยุดขาดทุน" หรือ "ล็อกกำไร" ทันทีเมื่อตลาดส่ออาการไม่ดี

    สำหรับหุ้นเด่นเล่นรอบสั้นที่แนะนำคือ บมจ.คาร์มาร์ท(KAMART),บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย(SINGER) และบมจ.ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น(SYMC) กลุ่มหลักทรัพย์แนะนำ บมจ.หลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส(ASP), บมจ.หลักทรัพย์(บล.)ฟินันเซีย ไซรัส(FNS)และบมจ.หลักทรัพย์(บล.)ซีมิโก้ และหุ้นที่มีสัญญาณเชิงบวกอย่างบมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค(CEN),บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้(BEAUTY),บมจ.สหวิริยาสตีล(SSI) และบมจ.ค้าเหล็กไทย(TMT) เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,827  วันที่  17 - 20  มีนาคม พ.ศ. 2556

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่