ขอคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะก่อนฟอกไต

กระทู้คำถาม
พอดีดิฉันได้หาข้อมูลเรื่องโรคไต และเจองานวิจัยของ ศ.พญ.นริสา ฟูตระกูล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคไตวายระยะก่อนฟอกไต ซึ่งได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ อยากจะทราบว่าจะสามารถใช้กับเคสโรคไตของดิฉันเองได้รึเปล่าน่ะค่ะ ตอนนี้ดิฉันอายุ 28 ปี มีค่า Cr 3.5 , bun 57 และมีขนาดไตด้ายซ้าย- ขวา 7.2, 7.3

ไตเสื่อมด้วยความดันโลหิตสูง

จึงอยากจะเรียนถามคุณหมอหรือผู้มีความรู้ มาช่วยให้ข้อมูลหน่อยน่ะค่า หรือผู้ป่วยโรคไตระยะก่อนฟอกไตด้วยก็ได้ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

----------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลที่ได้จากอินเตอร์เน็ต

กลไกการซ่อมแซมหลอดเลือดและการฟื้นฟูเนื้อไตในโรคไตอักเสบจากเบาหวานชนิดสอง : กลยุทธ์การรักษาป้องกันเพื่อลดจำนวนไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้าย    
งานวิจัยเด่น สกว. ปี ๒๕๕๕
วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2012 เวลา 14:00 น.


หัวหน้าโครงการ: ศ.พญ.นริสา  ฟูตระกูล  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระยะเวลาโครงการ: พ.ศ.๒๕๕๐ – พ.ศ.๒๕๕๓


งานวิจัยในโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาภาวะธำรงดุลของหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคไตอักเสบจากเบาหวานและโรคไตเรื้อรังทั่วไป เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของความล้มเหลวในการรักษาเพื่อฟื้นฟูไตในผู้ป่วยโรคไตที่มีภาวะไตเสื่อมค่อนข้างมาก (กว่า ๕๐% หรืออัตรากรองสารไตต่ำกว่า ๖๐ มิลลิลิตร/นาที/๑.๗๓ ตารางเมตร) ผลการศึกษาพบองค์ความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ คือ ความผิดปกติในภาวะธำรงดุลของหลอดเลือดในผู้ป่วยดังกล่าวที่มีภาวะพร่องของสารเสริมการซ่อมแซมหลอดเลือดที่ไม่สามารถผลิตสารไนตริกออกไซด์ (ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด) ทำให้หลอดเลือดจุลภาคไตที่เป็นโรคไม่สามารถตอบสนองต่อยาออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ไม่สามารถเพิ่มปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงไตได้ และในขณะเดียวกัน ปริมาณสารต้านการซ่อมแซมหลอดเลือดก็พบสูงผิดปกติ ทำให้ภาวะโรคหลอดเลือดจุลภาคไตรุนแรงขึ้น การศึกษาทางโลหิตพลศาสตร์ของไตพบปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงไตที่พร่อง (peritubular capillary flow reduction) ลดลงอย่างต่อเนื่อง และท้ายสุดเกิดภาวะไตวายเรื่อรังขั้นสุดท้าย

งานวิจัยส่วนนี้จึงอธิบายถึงความล้มเหลวในการฟื้นฟูไตของผู้ป่วยโรคไตอักเสบจากเบาหวาน (และมิใช่เบาหวาน) ที่ไตเสื่อมมากแล้วภายใต้เวชปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน

โรคไตอักเสบจากเบาหวานเป็นโรคไตเรื้อรังอันดับหนึ่งที่มักดำเนินโรคสู่ภาวะไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายที่ต้องพึ่งพาการฟอกไต หรือการผ่าตัดเปลี่ยนไต ภายใต้เวชปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบันดัชนีคัดกรองโรคไตไม่ดีพอ มีการตรวจเฉพาะซีรั่มคริอาตินิน หรือภาวะไข่ขาว (albumin) รั่วในไต ซึ่งตรวจจับได้เมื่อมีการทำงานของไตเสื่อมกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว การรักษาโดยทั่วไปเพื่อเพิ่มปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงไตด้วยยาออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด เช่น ACEI, angiotensin receptor blocker หรือ calcium channel blocker ในผู้ป่วยที่ไตเสื่อมมากแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่สามารถเพิ่มปริมาณเลือดเลี้ยงไตและฟื้นฟูการทำงานของไตได้


สาระสำคัญ
งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาภาวะธำรงดุลของหลอดเลือด (vascular homeostasis) และกลไกการซ่อมแซมหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดสอง โดยศึกษาถึงสารเสริมการซ่อมแซมหลอดเลือด เช่น vascular endothelial growth factor (VEGF), VEGF receptor 1 (VEGFR 1) or flt-1, angiopoietin 1 และสารต้านการซ่อมแซมหลอดเลือด อาทิ VEGF receptor 2 (VEGFR 2), หรือ KDR, angiopoietin 2 รวมทั้งศึกษาผลการรักษาด้วยยาออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดซึ่งประกอบด้วย angiotensin converting enzyme inhibitor (ACEI), angiotensin receptor blocker calcium channel blocker เพื่อเพิ่มปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงไต และฟื้นฟูการทำงานของไตในผู้ป่วยที่ไตเสื่อมระยะแรกซึ่งการรักษานี้ควบคู่ไปกับการแก้ไขภาวะผิดปกติของน้ำตาลในเลือดและภาวะไขมันสูงได้

งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคไตอักเสบจากเบาหวาน (และไม่ใช่เบาหวาน) ระยะเริ่มแรก (อัตรากรองสารไต ๖๐-๑๑๙ มิลลิลิตร/นาที/๑.๗๓ตารางเมตร : ค่าปกติ ๑๒๐ มิลลิลิตร/นาที/๑.๗๓ตารางเมตร) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ภายใต้เวชปฏิบัติทั่วไปได้ถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากดัชนีคัดกรองทั่วไปที่ใช้อยู่ไม่สามารถคัดกรองได้ ผู้วิจัยได้ใช้ดัชนีใหม่ที่ดีกว่า คือ ๑)  ดัชนี fractional excretion ของแมกนีเซียม (FE Mg) ที่สัมพันธ์กับการตายของเนื้อไต (tubulointerstitial fibrosis) ๒) ปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงส่วนเนื้อไต (peritubular capillary flow) 3)อัตรากรองสารไต ดัชนีดังกล่าวสามารถคัดกรองโรคไตที่มีภาวะไตเสื่อมในระยะเริ่มแรก การศึกษาภาวะธำรงดุลของหลอดเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ พบว่าค่อนข้างปกติ สามารถสร้างสารไนตริกออกไซด์ที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดได้เมื่อถูกกระตุ้นโดยยาออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ได้รับ

งานวิจัยขั้นต่อไปคือ การนำองค์ความรู้ใหม่ทั้งหมดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตอักเสบจากเบาหวาน (และไม่ใช่เบาหวาน) ที่ไตเสื่อมระยะแรกนี้ โดยยาออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด (ร่วมกับการแก้ไขภาวะน้ำตาลที่สูงไขมันที่ผิดปกติ)ผลการรักษาพบว่า สามารถเพิ่มปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงไตที่เพิ่มขึ้นทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตดีขึ้น (อัตรากรองสารไตเพิ่มขึ้น) ทำให้สามารถหยุดยั้งการดำเนินโรคสู่ภาวะไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายได้ ผลการศึกษาในผู้ป่วยไตอักเสบจากเบาหวานระยะเริ่มแรก (normotensive normoalbuminuria) ๕๐ ราย และผู้ป่วยที่ไม่ใช่เบาหวาน 65 ราย พบว่า สามารถฟื้นฟูการทำงานของไตได้หมด

การนำองค์ความรู้ใหม่ของภาวะธำรงดุลของหลอดเลือดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้รักษาป้องกันที่สามารถฟื้นฟูการทำงานของไตได้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน ความสำเร็จในการฟื้นฟูการทำงานของไตและการหยุดยั้งการดำเนินโรคสู่ภาวะไตวายขั้นสุดท้าย


คุณค่าและประโยชน์ของผลผลิตการวิจัย
ผลผลิตจากโครงการวิจัย ได้แก่ บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ๒๒ เรื่อง และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor สูงเช่น วารสาร Kidney International (impact factor 6.606) วารสารAmerican Journal Kidney Disease(impact factor 5.434) รวมทั้งได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางในฐานข้อมูล Web of Science

องค์ความรู้ที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคไต เพื่อลดภาวะไตวายได้



ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดจากโครงการวิจัย
การนำองค์ความรู้ใหม่ของภาวะธำรงดุลของหลอดเลือดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้รักษาป้องกันที่สามารถฟื้นฟูการทำงานของไตได้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน ความสำเร็จในการฟื้นฟูการทำงานของไตและการหยุดยั้งการดำเนินโรคสู่ภาวะไตวายขั้นสุดท้าย จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะลดจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายที่ต้องพึ่งพาการฟอกไตและการผ่าตัดเปลี่ยนไตลงอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลงานวิจัยดังกล่าว ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนขยายผลโดยสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ได้ดำเนินโครงการนำร่องศึกษาในผู้ป่วยโรคไตอักเสบจากโรคเบาหวานตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่จังหวัดกำแพงเพชรและกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษานำร่องในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

รวมทั้งยังได้ดัชนีคัดกรองใหม่ อาทิ อัตรากรองสารไตดัชนี fractional excretion ของแมกนีเซียม และดัชนีชี้บ่งภาวะโรคหลอดเลือดจุลภาคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ที่สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ไตเสื่อมไม่มากได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดที่ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้จะทำให้สามารถรักษาป้องกันภาวะโรคหลอดเลือดจุลภาคไตได้อย่างทันท่วงที  และทำให้ได้ยุทธวิธีการรักษาแนวใหม่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ไตเสื่อมไม่มาก ที่สามารถแก้ไขภาวะไตขาดเลือด และฟื้นฟูการทำงานของไตได้

ผลงานวิจัยจากโครงการนี้จะส่งผลกระทบหลายประการ กล่าวคือ ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีสุขภาพดีขึ้น สามารถลดอัตราการเกิดไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและของประเทศในการสนับสนุนค่ารักษาโรคไตวาย เช่น การฟอกไต และการผ่าตัดเปลี่ยนไต ให้กับประชากรในประเทศ   เมื่อระบบสาธารณสุขของไทยมีดัชนีชี้บ่งชี้ความเสื่อมของไตได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะส่งผลให้สามารถดำเนินการรักษาโรคไต และฟื้นฟูการทำงานของไตได้  และท้ายที่สุด สังคมไทยจะเปลี่ยนแนวความคิดจากเดิมที่มีความเชื่อเกี่ยวกับโรคไตว่า การรักษาที่ดีที่สุดทำได้แค่ชะลอการตายของไตให้ช้าลงแต่ฟื้นฟูไม่ได้ท้ายสุด ก็ต้องพึ่งพาการฟอกไตและการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่จากงานวิจัยนี้ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ว่าการฟื้นฟูการทำงานของไตสามารถกระทำได้หากเริ่มรักษาป้องกันตั้งแต่ระยะเริ่มแรกถือเป็นนวัตกรรมการรักษาแนวใหม่ในลักษณะบุกเบิก


ที่มา:
http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1056:2012-12-28-07-02-43&catid=144:2012-12-22-03-40-55&Itemid=280
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่