[เสียงคนวงนอก] The Grandmaster : เรื่องของ “ชีวิตเหงาๆ” และ “ทางที่เดิน” ( อาจมีสปอยบางฉาก )

กระทู้สนทนา
[เสียงคนวงนอก] The Grandmaster : เรื่องของ “ชีวิตเหงาๆ” และ “ทางที่เดิน” ( อาจมีสปอยบางฉาก )


โดย : TonyMao_NK51
E-Mail : tonymao_nk51@hotmail.com
FaceBook :TonyMao NK

ออกตัวกันไว้ก่อน ผมไม่ใช่แฟนคลับของคุณหว่องกาไว และไม่เคยดูหนังที่แกทำสักเรื่อง เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์มานานแล้วว่า หนังของแก “แนว” ( อินดี้ ) มากเสียจนคนทั่วไปอาจจะดูไม่สนุก เพราะไม่รู้ว่าแกจะสื่ออะไร ซึ่งจะคล้ายๆ กับ ผกก.ไทยอย่างเป็นเอก รัตนเรือง ที่แต่ก่อนแต่ไร ผมก็ไม่เคยดูหนังของคุณเป็นเอกสักเรื่อง เพราะได้ยินชื่อเรื่องความแนว มานานแล้วเช่นกัน (    และพอผมดู The Grandmaster ความรู้สึกก็ทำให้นึกถึง “ฝนตกขึ้นฝ้า” หนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวของคุณเป็นเอกที่ผมเคยดู เพราะลักษณะการดำเนินเรื่องคล้ายๆ กัน)

เหตุผลง่ายๆ ที่ผมใช้ในการตัดสินใจที่จะซื้อตั๋วเข้าไปชม The Grandmaster เพียงเพราะก่อนหน้านี้ นั่งอ่านเว็บบอร์ดที่เขาคุยกันเรื่องมวยจีน และมีบางความเห็นบอกว่าจะมี “ปาจี๋ฉวน” ( Ba Ji Quan – 八极拳 - หมัด 8 ปรมัตถ์ – Eight Extremities Fist ) อยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย แค่นี้ผมก็รู้สึก “หูผึ่ง” ขึ้นมาทันที เพราะโตมาในยุคที่การ์ตูนมวยจีนอย่าง “เค็นจิ” เป็นกระแสหนึ่งของเด็กผู้ชายยุค 1980-1990’s  ( ดู “นามปากกา” ผมก็แล้วกัน มีที่มาจากการ์ตูนเรื่องนี้แหละครับ  ใช้มาได้กว่า 10 ปีแล้ว ) ชื่อของ “หลี่ซู่เหวิน-ลิโฉะบุน” เจ้าของฉายาหอกเทพเจ้า ( เพราะแกฝึกจนใช้หอกแทงแมลงวันที่บินอยู่ได้ ) หรือ “หลิวหยุนเฉียว-ริวอุนโช” ศิษย์คนสุดท้ายของ อ.หลี่ สายลับของรัฐบาลจีนคณะชาติ ( ก๊กมินตั๋ง ) ที่ปฏิบัติงานใต้ดิน ในช่วงกลียุคที่ทั้งฝรั่ง ทั้งญี่ปุ่นเข้ามารุกรานเมืองจีน จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง รวมแผ่นดินได้สำเร็จ จีนก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค ก็ต้องหนีไปตั้งประเทศไต้หวันจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าบรรดาชาวยุทธ์หลายต่อหลายคน ต้องอพยพไปไต้หวันเช่นกัน ( รวมทั้ง อ.หลิว ด้วย )

แต่ทั้งที่เป็นมวยดังขนาดนี้ ก่อนหน้านี้กลับไม่มีภาพยนตร์ทั้งจีนและฝรั่ง ( ที่ว่าด้วยกังฟู ) สักเรื่อง ที่นำมวยดังกล่าวมาประกอบคิวบู๊ ไม่เหมือนมวยสารพัดสัต.ว์ของวัดเส้าหลิน , มวยไท้เก็ก ( ที่ล่าสุดมีกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีจาก Taiji Zero-Taiji Hero หนัวบู๊อินดี้ ที่ว่าด้วยประวัติของ “หยางลู่ฉาน” ปรมาจารย์ไท้เก็กท่านหนึ่งที่มีตัวตนจริง ) หรือ 3-4 มวยที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้อย่างปากัวจ่าง , สิ่งอี้ฉวน , หวิงชุนและฮุงกา ( 2 วิชาหลังนี้ คงคุ้นกันดีจากยิปมันฉบับดอนนี่ เยน ) ดังนั้นพอมีคนบอกว่าในเรื่องนี้มาการนำมาใส่ไว้ด้วย ผมจึงไม่ลังเลใจที่จะเข้าไปชมทันที แถมไม่ใช่โปรฯ วันพุธราคาถูกอีกต่างหาก

แน่นอนว่า “ผิดคาด” ครับ และคงไม่ใช่ผิดคาดเฉพาะผมเท่านั้น เชื่อว่าหลายคนคงอยากเห็นคิวบู๊เท่ๆ ตื่นเต้น แบบที่ “ยิปมัน” ฉบับดอนนี่ เยน ทำไว้ดีมากทั้ง 2 ภาค ( วลี “ขอ 10 คน” จาก Ip Man ภาคแรก กลายเป็นคำพูดที่หลายคนเอามาล้อเล่นกัน ไม่ต่างอะไรกับ “This is Sparta” ในหนังเรื่อง 300 ) ก็คงจะผิดหวังไปตามๆ กัน เพราะเห็นกระทู้หนังเรื่องนี้ หลายความเห็นบอกน่าเบื่อบ้าง เผลอหลับบ้าง ต้องลุกออกตั้งแต่กลางเรื่องบ้าง เพราะนอกจากฉากบู๊ของยิปมัน ฉบับหว่องกาไว จะน้อยกว่าแล้ว การดำเนินเรื่อง ยังดูงงๆ อีกต่างหาก

แต่..ตรงกันข้าม ทั้งที่ผมไม่ชอบหนังที่ดูไม่รู้เรื่องแบบนี้ แต่ผมกลับชอบทั้งดนตรีประกอบ มุมกล้อง การจัดแสง การดำเนินเรื่อง และคิวบู๊ของเรื่องนี้ อย่างน่าประหลาด เอาเป็นว่าผมไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ทั้งหมด แต่องค์ประกอบดังกล่าว อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ผมไม่หลับ ไม่ลุกไปไหน และ “อิน” ไปกับมัน องค์ประกอบดังกล่าวที่ผมว่ามา จะทำให้ผู้ชมรู้สึกฮึกเหิม ( แบบยิปมันของดอนนี่ เยน ) หรือ?..ก็ไม่ใช่ แต่จะเศร้า เรียกน้ำตาผู้ชม อย่างนั้นหรือ?..ก็ไม่ใช่อีก แต่องค์ประกอบเหล่านี้ เมื่อรวมกันแล้ว กลับทำให้รู้สึกถึงความ “เหงาและโดดเดี่ยว” อย่างน่าประหลาด

แถมจริงๆ แล้ว ชื่อไทย “ยอดปรมาจารย์ยิปมัน” อาจจะทำให้คนดูสับสนเสียด้วยซ้ำไป เพราะแม้ อ.ยิป จะเป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งหมด ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงเสียชีวิต ไล่เรียงตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงบั้นปลายที่สอนมวยหวิงชุนในฮ่องกง แต่ก็อยู่ในฐานะเพียง “ผู้เฝ้ามองและรับรู้เหตุการณ์” เท่านั้น เพราะเนื้อหาหลัก กลับเป็นวิถีชีวิตและความขัดแย้งของคนอีกกลุ่มหนึ่ง คือบรรดาสำนักมวยทางเหนือ อันมีสิ่งอี้ฉวนกับปากัวจ่าง เป็น 2 วิชาที่มีชื่อเสียงที่สุด

บทสนทนา (Dialogue) ของตัวละครต่างๆ เต็มไปด้วยถ้อยคำที่คมคาย เป็นการแสดงออกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เน้นการต่อสู้ด้วยกำลัง มากไปกว่าการเชือดเฉือนด้วยสติปัญญาและความคิดผ่านคำพูด แต่ถึงกระนั้น..บทพูดดังกล่าว พอเอามารวมกับองค์ประกอบอื่นๆ ในฉาก กลับไม่ทำให้รู้สึกว่า คำคมพวกนี้ “เท่ว่ะ – โดนว่ะ” แต่มันกลับทำให้รู้สึกเหงา อ้างว้าง และหดหู่ ไม่ว่าจะเป็น “เราไม่อาจหยุดเดิน” , “คนทำงานในที่สว่างกับในเงามืด” , “ล้ม หรือยืนหยัด”  …คำคมเหล่านี้ ( ขออภัยที่ผมจำคำพูดเต็มๆ ไม่ได้จริงๆ ) สะท้อนให้เห็นถึง “วิถีแปลกแยก” ของใครสักคนหนึ่ง ที่ต้องดำเนินชีวิตในหนทางบางอย่าง ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ หรือถึงเข้าใจ บางคนก็คงรับไม่ได้

“หม่าซัน” อันนี้ผมขออภัยเพราะผมไม่รู้ว่าใครแสดงบทนี้นะครับ แต่ผมว่าแกเท่และโหดดี สมกับที่ใช้ “สิ่งอี้ฉวน” ( 形意拳 , Hsing-I Quan , Xing Yi Quan , หมัดแห่งจิต ) ศิษย์เอกของปรมาจารย์ผู้รวมวิชาสิ่งอี้กับปากัวเข้าด้วยกัน เป็นผู้ที่ได้รับผลจากคำคม “เราไม่อาจหยุดเดิน” โดยได้ตีความไปอีกทางหนึ่ง แน่นอน มุมหนึ่งผู้ชม หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นี้ อาจจะมองว่าเขาเลวก็ได้ ความทะเยอทะยาน เป็นใหญ่ภายใต้หุ่นเชิดของญี่ปุ่น จนถึงกับฆ่าอาจารย์ตัวเอง แต่ในอีกทางหนึ่ง.. ผมว่าตัวละครนี้ น่าจะออกแนว “ทั้งรักทั้งเกลียด” อาจารย์ตัวเองมากกว่า ตั้งแต่ฉากแรกๆ ที่เราเห็นหม่าซันถูกอาจารย์เตือนเรื่องความหยิ่งผยอง แต่กลับกัน เขายังยึดคำสอนอาจารย์ในเรื่องไม่หยุดเดินอยู่เสมอ ( แม้ว่าจะตีความมันไปคนละอย่างก็ตาม )

“คุณหนูกง” ลูกสาวคนเดียวของอาจารย์ท่านนี้ หากหม่าซันเป็นผู้สืบทอดสิ่งอี้ฉวน อันเป็นวิชาที่เน้นความแข็งแกร่ง คุณหนูกง ก็เป็นผู้สืบทอด “ปากัวจ่าง” ( 八卦掌 , Ba Gua Zhang , Eight Trigrams Palm , ฝ่ามือ 8 ทิศ) อันเป็นวิชาที่แสดงถึงความพลิ้วไหว และเธอเลือกที่จะแบกรับ “ภารกิจ” ที่เธอคิดว่าต้องทำ แม้ว่าทั้งพ่อ และลูกน้องเก่าของพ่อเธอ ได้พยายามห้ามปรามหลายครั้งแล้วก็ตาม สำหรับบทนี้ “จางซิยี่” ( Zhang Ziyi ) แสดงว่าถือว่าดีมาก ทั้งในแง่ของบุคลิกที่ดูนิ่งๆ แข็งกร้าวแบบลูกสาวเจ้าสำนักใหญ่ และตัวเองก็อยู่ในระดับยอดฝีมือ หรือในแง่ของคิวบู๊ ผมว่าเธอ OK กับการใช้ปากัวจ่างในการเข้าฉากต่อสู้มากๆ ทั้งฉากที่สู้กับ อ.ยิป-เหลียงเฉาเหว่ย หรือฉากดวลกับหม่าซัน ที่สถานีรถไฟ ( ซึ่งผมว่าฉากนี้แหละคือ Hi-Light ของเรื่อง เพราะเป็นการปะทะกันระหว่าง 2 วิชา ที่เหมือนเหรียญอีกด้านของกันและกัน เฉกเช่น Wing Chun กับ Hung Gar ในยิปมันฉบับดอนนี่ เยน ภาค 2 ) บอกกันตามตรง “64 ฝ่ามือ” ที่เธอใช้ในเรื่องนี้ ทำให้รู้สึก “ลื่นไหลและคุ้นเคย” อย่างน่าประหลาด

มีคนบอกว่า “วิถีแปลกแยกมักโดดเดี่ยว” เพราะผู้ที่มุ่งในวิถีดังกล่าว มักจะต้องทิ้งสิ่งอื่นๆ เกือบทั้งหมด เพื่อทุ่มเทให้กับทางที่จะเดินไปเท่านั้น ไล่ตั้งแต่กว่าจะฝึกกันจนเก่งระดับยอดฝีมือ คนๆ นั้น ต้องฝึกฝนหนักในระดับที่เรียกว่า “หมกมุ่น-คลั่งไคล้” ซึ่งก็ไม่ใช่แค่มวย แต่มันรวมถึงทุกอย่าง ทุกวงการ หากคุณต้องการเป็น “หัวกะทิ” ( Elite Class ) เช่น ผมเคยได้ยินว่า บรรดาคนจบนิติศาสตร์ ไปสอบเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษา หลายคนหมกมุ่นอยู่กับการอ่านตำรากฏหมาย เรียกได้ว่าทั้งวันทั้งคืน บางคนถึงขนาดอ่านจนลืมกินข้าวก็มี เรื่องเพื่อนฝูง เฮฮาปาร์ตี้น่ะหรือ? ลืมไปได้เลย พวกเขายอมละทิ้งความสุขในกระแสของคนปกติ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายอื่นที่พวกเขามองว่าเป็น “จุดสุดยอด” ในชีวิต ซึ่งคนปกติทั่วไป มักจะมองว่าคนเหล่านี้ “ต้องเหงามากแน่ๆ” (อัยการก็ดี ศาลก็ดี แม้ว่าได้เป็นแล้ว ก็ต้องรักษาธรรมเนียมบางอย่าง ทำให้ไม่อาจลงมาคลุกคลีกับคนทั่วไปได้)

เฉกเช่น 2 ตัวละครหลักในเรื่อง ( ที่ผ่านจากมุมมองการเล่าของ อ.ยิป ) หม่าซันเป็นเหมือนภาพของ “นักธุรกิจ – นักการเมือง ” แน่นอน ถ้าคุณอยากเป็นมหาเศรษฐี หรือนักการเมืองผู้ทรงอำนาจอิทธิพล สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือ “ความทะเยอทะยาน” ( ซึ่งฝ่ายศีลธรรมนิยมใช้คำว่า “มักใหญ่ใฝ่สูง” ) เป็นแรงขับ คนประเภทนี้ต้องกระหายที่จะมีอำนาจ ต้องทำทุกอย่าง ที่แม้กระทั่งสิ่งที่สามัญสำนึกของคนทั่วไปมองว่าไม่ถูกไม่ควร ( เช่นยอมขายชาติ หรือยุคสมัยนี้คือการ Corruption ) เพื่อให้มีอำนาจ เพราะถ้ามีอำนาจแล้ว “ย่อมไม่มีอะไรไม่เหมาะสม - Power is Realistic Ruler” มีปืน มีเงิน มีกฎหมายในมือ ใครอยากบ่นบ่นไป เพราะพวกคุณก็ได้แค่บ่น ถึงเวลาก็ต้องก้มหัวให้ผู้มีอำนาจอยู่ดี.. แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากมองในแง่ตัวผู้มีอำนาจ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาคงรู้สึกโดดเดี่ยวไม่น้อย เพราะรู้ดีว่ารอบตัวไม่อาจไว้ใจใครได้ และคนภายนอกก็ยังก่นด่า ประณาม สาปแช่ง และรอวันโค่นล้มอีก จึงไม่ต่างอะไรกับขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้

ส่วนคุณหนูกง เป็นภาพของ “นักอุดมการณ์” ช้าก่อน..อุดมการณ์ไม่ใช่แค่เรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา สิ่งแวดล้อม แบบที่เราคุ้นเคยกับบรรดานักปฏิวัติ หรือพวก NGO  นักกิจกรรม ( Activist ) เท่านั้น แต่การที่คนเรามีเป้าหมายบางอย่าง ที่พ้นไปจากสภาวะของเงินทอง-ลาภยศ สิ่งนั้นถือว่าเป็นการทำเพื่ออุดมการณ์ทั้งสิ้น ดังนั้นการสละความสุขส่วนตัว ทั้งการยกเลิกการแต่งงาน หรือการสาบานว่าจะไม่เป็นครู  ( ดังนั้นจึงไม่สามารถสอนใครได้อีก ไม่ว่าจะสอนหนังสือ หรือสอน 64 ฝ่ามือก็ตาม ดังตอนท้ายเรื่อง ที่บอกปัด อ.ยิป ตลอดเพราะ อ.ยิป จะขอให้สาธิตให้ดูอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมา 15 ปี จากการประลองกันครั้งแรก ) เพื่อแก้แค้นให้พ่อ อันเป็นธรรมเนียมของคนสมัยนั้น ( “บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ” ประโยคนี้คลาสสิกเสมอ ในครอบครัวหรือสังคมผู้มีเชื้อสายจีน ) สิ่งเหล่านี้เป็นภาระหนัก สำหรับคนที่ต้องการแบกมัน และหลังจากภารกิจเสร็จสิ้น ชีวิตที่เหลือคือความอ้างว้างในแต่ละวัน ก็เท่านั้น ( คล้ายกับนางเอกที่เป็น CIA ใน Zero Dark Thirty ที่หมกมุ่นอยู่กับการตามล่า “อุซมะห์ บิน ลาดิน” มาได้ตั้ง 12 ปีโดยไม่สนเรื่องอื่นๆ ในชีวิตเลย ตอนท้ายเรื่อง ภาพของฉากก็ชี้ไปในทางเดียวกัน )

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พรหมลิขิต ไม่ใช่โชคชะตา แต่เป็นสิ่งที่พวกเขา  ( และเราบางคน ) เลือกเดินไป และต้อง “จ่าย” ด้วยราคาที่แพงกว่าวิถีของคนเดินดิน หาเช้ากินค่ำทั่วไป แน่นอนไม่ได้จ่ายด้วยเงินอย่างเดียว แต่รายจ่ายส่วนใหญ่ คือเวลา และชีวิตที่ไม่อาจเหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ภารกิจจะจบไปแล้วก็ตาม

สรุปท้ายบทความนี้ หากคุณอยากดูหนัง Action มันส์ๆ คิวบู๊เท่ๆ เจ๋งๆ สักเรื่อง ผมไม่แนะนำ เพราะคุณจะเสียค่าตั๋วไปโดยเปล่าประโยชน์ อาจจะหลับคาโรง อาจจะลุกกลางคัน แล้วก็มาบ่นว่าหนังไม่ได้เรื่อง … แต่ถ้าคุณชอบหนังภาพสวย ดนตรีประกอบเพราะๆ ( ไม่เศร้า แต่ชวนให้เหงาๆ ตามสไตล์หว่องกาไว ) และต้องตีความกับฉากต่างๆ ที่ตัดไปมาแบบเวียนหัวบ้าง ผมว่าหนังเรื่องนี้ OK เลยทีเดียว

ก่อนจะจากกันไป ทิ้งคำถามให้ทุกท่านไปคิดกันเล่นๆ นะครับ … คุณคิดว่าตัวเอง สามารถ ที่จะเดินไปใน “วิถีแห่งความโดดเดี่ยวและแปลกแยก” แบบนี้ได้หรือเปล่า?

แล้วพบกันใหม่ครับ

……………………………

ปล.บทความแรกนับตั้งแต่หายหน้าไป ช่วงน้ำท่วม 2554 (พ.ย.54) ครับ ตอนนั้นน้ำเข้าบ้าน คอมเสีย เลยไปยกเลิก Internet แล้วอพยพ วันนี้มีคอม มีเน็ตที่บ้านแล้ว เลยกลับมาทำเหมือนเดิมครับ หุๆ

ปล.2 นับว่าผมไม่โดนดัก เพราะมีตัวละครที่ใช้ Bajiquan จริงๆ แม้จะโผล่มาแปบเดียวก็ตาม (พี่มีดโกนที่ตอนหลังไปเปิดร้านตัดผมนั่นแล)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่