[Anita]มากกว่าเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง คือฉากชีวิตแห่งยุคสมัยของ‘ฮ่องกง’



“ในศตวรรษที่ 20 หากที่สุดแห่งวงการบันเทิงฝั่งตะวันตกอยู่ที่สหรัฐอเมริกากับอังกฤษ..ฝั่งตะวันออกย่อมหมายถึงฮ่องกงกับญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย”

ย้อนไปในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 หรือประมาณยุค 1960s เป็นต้นมา หากนับแบบพุทธศักราช ก็คือตั้งแต่ปี 2503 หรือสมัยล่วงเลยกึ่งพุทธกาลมาแล้ว ในขณะที่โลกตะวันตกครองอิทธิพลด้านบันเทิงทั้งภาพยนตร์และดนตรี นักแสดง นักร้องและวงดนตรี “ฝรั่ง” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแม้แต่ในประเทศที่ห่างกันคนละซีกโลก ช่วงเวลาเดียวกัน วงการบันเทิงในโลกตะวันออกก็กำลังเริ่มก่อตัวและมีอิทธิพลโดยเฉพาะกับผู้คน “ชาวเอเชีย” ร่วมทวีป หนังสือและภาพยนตร์การ์ตูน ตลอดจนบทเพลงของศิลปินจากญี่ปุ่น เช่นเดียวกับนิยายกำลังภายใน ภาพยนตร์ ละครซีรีส์และบทเพลงของศิลปินจากฮ่องกง แทรกตัวเข้าไปมีอิทธิพลกับชีวิตของผู้คนหลายประเทศแถบเอเชีย แน่นอนรวมถึงประเทศไทย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวัฒนธรรมที่เผยแพร่ผ่านสื่อบันเทิงตะวันตก 

“Anita ( อนิต้า…เสียงนี้ที่โลกต้องรัก )” แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยชีวิตของ “เหมยเยี่ยนฟาง (Anita Mui)” ศิลปินหญิงชาวฮ่องกงที่มีผลงานมากมายทั้งเพลงและภาพยนตร์ ก่อนที่โรคร้ายอย่างมะเร็งจะคร่าชีวิตของเธอไปในวัยเพียง 40 ปี แต่องค์ประกอบอื่นๆ นั้น กลับเหมือนเหมือนการบอกเล่าเรื่องราวของวงการบันเทิงฮ่องกงทั้งด้านที่ดีและไม่ค่อยดีนัก มีการกล่าวถึงคนดังท่านอื่นๆ ที่อยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวฮ่องกง ดินแดนเกาะที่ผ่านร้อนผ่านหนาว มีทั้งช่วงที่สว่างไสว หมองหม่น และหัวเลี้ยวหัวต่อจนน่ากังวล

ฉากชีวิตของอาเหมายถูกเล่าไปด้วยกันกับบรรยากาศของวิถีชีวิตของชาวฮ่องกง ตั้งแต่การอยู่อาศัยในห้องพักที่แคบมาก ( ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และแม้จะเป็นห้องแคบๆ แต่ราคาก็ถือว่าสูง ) ภาพของสลัมแบบอาคารสูงอย่างหมู่ตึกกำแพงเกาลูน (Kowloon Walled City) ที่ปัจจุบันถูกทุบทิ้งไปแล้ว แต่ในช่วงที่มันยังตั้งอยู่ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของฮ่องกงที่ชาวโลกนึกถึง ช่วงเวลาแห่งความกังวลเมื่อฮ่องกงต้องพ้นจากการปกครองของอังกฤษกลับไปอยู่ใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1997 รวมถึงการระบาดของโรคซารส์ (SARS) ในปี 2003 ขณะที่สิ่งปลอบประโลมใจอย่างวงการบันเทิง ชาวฮ่องกงก็นิยมทั้งผลงานของศิลปินฮ่องกงด้วยกัน ไปจนถึงศิลปินจากญี่ปุ่น และมีการออกผลงานร่วมกันของศิลปินทั้ง 2 ดินแดน 

แม้จะแทบไม่รู้จักชื่อเพลงที่ใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย แต่เชื่อว่าคนไทยที่โตทันรู้ความในยุค 1980s-1990s น่าจะคุ้นหูกับหลายๆ บทเพลงบ้างไม่มากก็น้อยเพราะช่วงนั้นสื่อบันเทิงฮ่องกงเข้ามาในไทยและได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วนหนังฮ่องกงที่ถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์เรื่องนี้เชื่อว่าหลายคนที่อยู่ในยุคนั้นน่าจะได้ดูกันในโรง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมชอบมากใน Anita คือบทสนทนาที่เหมือนกับอยู่ในเรื่องราวยุทธจักรกำลังภายใน เช่น การเปรียบเปรยชีวิตมนุษย์กับวัฎจักรของธรรมชาติ และคุณธรรมน้ำมิตรที่ว่าด้วยความผูกพันไว้ใจในพี่น้องเพื่อนพ้องที่ร่วมลำบากต่อสู้ด้วยกันมา ซึ่งวิถีแบบนี้ภาพยนตร์หรือซีรีส์จากฮ่องกงมักถ่ายทอดได้ดี แม้จะไม่ใช่เรื่องราวที่มีจอมยุทธ์ถือกระบี่ก็ตาม

สุดท้ายผมอดไม่ได้ที่จะเทียบกับ Bohemian Rhapsody หนังแนวเดียวกันจากโลกตะวันตกที่เข้าฉายในช่วงปลายปี 2018 สิ่งที่แตกต่างกันคือ ชีวิตของเฟรดดี เมอคิวรี และวง Queen ใน Bohemian Rhapsody ดูจะหวือหวาโลดโผน ในชณะที่ชีวิตของเหมยเยี่ยนฟางใน Anita ดำเนินไปอย่างเนิบช้าและเปลี่ยวเหงา ถึงกระนั้นสิ่งที่เหมือนกันคือการจำลองฉากคอนเสิร์ตงานต่างๆ ไปจนถึงโชว์สุดท้ายที่จะทำให้ศิลปินกลายเป็นตำนานได้เหมือนกับงานนั้นจริงๆ อีกทั้งยังเล่นกับประเด็น “เวลาที่อาจมีไม่พอ” ทั้งที่ยังมีอะไรอยากทำอีกมากมาย และ “เมื่อรู้ว่าอยู่ได้อีกไม่นาน ก็ขอจากไปในแบบที่ดีที่สุด” ทิ้งภาพประทับใจเหลือไว้เป็นความทรงจำ อย่างที่ตัวอย่างหนังซึ่งตัดมาบอกไว้ละครับ

"ฉันคงจากไปในอีกไม่นาน..คุณจะยังจำฉันได้ไหม?" 

"ฉันหวังไว้ว่าเมื่อคุณมองไปบนฟ้า คุณจะยังจำชื่อเพื่อนที่เคยทำให้คุณมีความสุขได้"

--------------------------------------------

หมายเหตุ : เพลง 夕陽之歌 ( Song of Sunset ) ซึ่งน่าจะเป็นเพลงที่รู้จักเป็นวงกว้างที่สุดของเหมยเยี่ยนฟาง เพราะเป็นเพลงประกอบหนัง A Better Tomorrow 3 ( โหดเลวดี 3 ) ที่เธอแสดงนำประกบคู่กับโจวเหวินฟะ ในปี 1989 และเป็นเพลงที่ใช้โปรโมทภาพยนตร์ Anita ต้นฉบับมาจากเพลง夕焼けの歌 ( ชื่อเพลง Song of Sunset เหมือนกัน  ) ของศิลปินชาวญี่ปุ่น Kondo Masahiko ส่วนของไทย ในยุคไล่ๆ กัน ก็มีเพลง “หอบฝัน” ของคุณแจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ 

夕陽之歌 ( เวอร์ชั่นคอนเสิร์ตที่เป็นตำนาน )
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

 夕焼けの歌 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

หอบฝัน
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ปล.เสียดายมากที่ Anita ไม่มีพากย์ไทย ผมโตมากับหนังจีนยุค 90s ถึงต้น 2000s คุ้นชินกับเสียงทีมพันธมิตรครับ 
ปล2.มีฉากที่มาประเทศไทย ได้เห็นมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ ผมนี่ยิ้มเลย (ตอนหนังไทย 4Kings ก็ทีนึงละ) 
 
TonyMao_NK51 ( ใช้แทนอมยิ้มที่ถูกแบน )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่