อ.นิธิบอกว่าพุทธศาสนาเชิงคัมภีร์กำลังเสื่อมลง

สมาชิกใหม่.. ฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ

ท่านคิดอย่างไรกับบางส่วนของบทความ ศาสนาในอุษาคเนย์ โดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์

"พุทธอุษาคเนย์ก็ยังถนัดในการดูดกลืนวัฒนธรรมที่ไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเหมือนเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความพยายามจะนิยามขอบเขตที่ชัดเจนของพุทธศาสนาอยู่บ้าง ในประเทศไทย น่าสนใจที่ผู้นิยามไม่ใช่คนของรัฐอย่างที่เคยเป็นมาอีกแล้ว แต่เป็นคนที่อยู่ชายขอบขององค์กรสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็ถูกอัปเปหิออกจากองค์กรสงฆ์เลย แต่การนิยามใหม่นี้ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะไม่ได้มาจากรัฐและไม่ได้มาจากแหล่งกำเนิดศาสนาในอินเดีย (ซึ่งเลิกนับถือพระพุทธศาสนาไปหลายร้อยปีแล้ว)

ดังนั้น พุทธที่ “ถูกต้อง” สำนวนเดียว จึงไม่มีในสังคมไทยอีกแล้ว ผู้รู้ต่างสำนักต่างความคิดต่างนิยามความ “ถูกต้อง” ไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าสายเกินไปแล้วที่คณะสงฆ์แห่งรัฐจะสามารถช่วงชิงการนิยามพุทธที่ “ถูกต้อง” หรือ “แท้จริง” แต่เพียงผู้เดียวกลับคืนมาได้อีกแล้ว แม้มีพระภิกษุในคณะสงฆ์ที่เป็นทางการบางรูป อาจมีความรู้อย่างลุ่มลึก และพยายามนิยามอย่างนักวิชาการ คือมีหลักฐานคัมภีร์อ้างอิงได้ทุกบรรทัด ก็เป็นได้แต่เพียงอีกสำนวนหนึ่งของพุทธศาสนาที่คนไทยบางกลุ่มให้ความเชื่อถือเท่านั้น

พุทธศาสนาเชิงคัมภีร์ (Scriptural Buddhism) ซึ่งเคยเป็นกระแสหลักของการปฏิรูปศาสนานับจาก ร.4 และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นต้นมา กำลังเสื่อมอิทธิพลลงในพุทธศาสนาไทย และพุทธศาสนาเชิงประสบการณ์ (Experiential Buddhism) เช่น การจาริกแสวงบุญ, การทำกัมมัฏฐาน, การฟังเทศน์มหาชาติ, การสร้างศาสนสถานและการสร้างศาสนวัตถุ, การบริจาคทานแก่สงฆ์ในรูปต่างๆ ฯลฯ อันเป็นพุทธศาสนาที่เคยมีและปฏิบัติกันมาในเมืองไทยก่อนการปฏิรูป กำลังกลับมาใหม่ และกำลังกลายเป็นลักษณะเด่นของพุทธศาสนาไทย

โดยสรุปก็คือ พุทธศาสนา (อย่างน้อยในประเทศไทย) ก็ไม่ต่างจากความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่เกิดในประเทศอื่นของอุษาคเนย์ คือกำลังถูกนิยามกันใหม่ เพียงแต่ในกรณีของไทยกระบวนการนิยามได้หลุดจากมือของ “ผู้รู้” ทั้งเก่าและใหม่ไปแล้ว และเช่นเดียวกับอีกในหลายประเทศของอุษาคเนย์ ก็คือรัฐไม่มีอำนาจเข้ามากำกับการนิยามศาสนาอีกแล้ว"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่