กรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ในพุทธศาสนา

ก่อนอื่นเราต้องแยกกันให้ออกว่า คำสอนเรื่องกรรม ที่สอนว่าเมื่อเราทำกรรมใดไว้ในชาตินี้ จะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นในชาติหน้าเมื่อตายไปแล้วนั้น เป็นคำสอนระดับศีลธรรม ที่เอาไว้สอนชาวบ้านที่ด้อยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์   ส่วนเรื่องกรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นความจริงแท้ของธรรมชาติ ที่เอาไว้สอนคนมีความรู้นั้น จะเป็นเรื่องกรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนา
ซึ่งคำว่า กรรม  ที่เป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนานั้น จะหมายถึง การกระทำด้วยเจตนา  ซึ่งเจตนาในที่นี้ก็คือกิเลส (อยากได้ - อยากทำลายหรืออยากหนี - ลังเลใจ) คือทุกครั้งที่เราทำอะไรลงไปด้วยกิเลส หรือมีเจตนา (จงใจ) จะเรียกว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น และจะมีผลเรียกว่า วิบาก
    โดยกรรมนี้ก็มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่
    ๑. กรรมชั่ว  หรือ การกระทำชั่ว ที่เกิดขึ้นทางกาย หรือวาจา หรือใจก็ได้ ซึ่งได้แก่การมีเจตนาในการเบียดเบียนชีวิต, ทรัพย์สินของ, และกามารมณ์ของผู้อื่น, รวมทั้งเจตนาในการพูดโกหก, พูดคำหยาบ, พูดส่อเสียด, พูดเพ้อเจ้อ, และความคิดโลภ (อยากได้ของของผู้อื่น), ความคิดโกรธ, รวมทั้งการมีความเห็นผิดจากธรรมนองคลองธรรม (เช่นเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี แต่ทำชั่วกลับได้ดี เป็นต้น)  
    ๒. กรรมดี  หรือ การกระทำดี  ที่เกิดขึ้นได้ทางกาย หรือวาจา หรือใจก็ได้  อย่างเช่นการมีเจตนาที่จะไม่ทำกรรมชั่ว, การช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์หรือมีความสุขด้วยการให้ทรัพย์หรือสิ่งของบ้าง ให้ความรู้บ้าง ให้ธรรมะบ้าง  ให้โอกาสบ้าง ให้อภัยบ้าง, รวมทั้งการเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์, การเลี้ยงดูบิดามารดาให้เป็นสุข, การทำหน้าที่การงานที่สุจริต, การปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างถูกต้อง, และการปฏิบัติสมาธิกับปัญญาเพื่อดับทุกข์นี้ด้วย เป็นต้น
วิบาก หมายถึง ผลของกรรม  คือทุกครั้งที่เกิดกรรม ก็ย่อมที่จะมีวิบากตามมาด้วยเสมอ  ซึ่งวิบากนี้ก็คือผลที่เกิดขึ้นแก่จิตโดยตรง โดยวิบากนี้ก็มีอยู่  ๒ ประเภทตามชนิดของกรรม อันได้แก่
    ๑. วิบากชั่ว  หรือ ความรู้สึกที่ไม่ดี อันได้แก่ ความทุกข์ใจ ความเสียใจ ไม่สบายใจ เศร้าหมองใจ  
    ๒. วิบากดี หรือ ความรู้สึกที่ดี อันได้แก่ ความสุขใจ ความอิ่มเอมใจ ดีใจ สบายใจ
วิบากกรรมนี้จะมากเท่าไรและจะตั้งอยู่นานเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับว่าได้ทำกรรมชนิดใดและทำมากหรือน้อยเพียงใด  ซึ่งวิบากนี้อาจจะให้ผลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจากทั้ง ๓  ช่วงนี้ก็ได้ คือ
    ๑.ทันทีที่ทำกรรมอยู่  คือเมื่อทำกรรมใดอยู่ก็จะได้รับผลในขณะที่กำลังทำอยู่
    ๒.เมื่อทำกรรมเสร็จแล้ว  หรือไม่อย่างนั้นก็จะได้รับผลหลังจากทำกรรมนั้นเสร็จแล้ว
    ๓.ต่อจากนั้น  หรือไม่อย่างนั้นก็จะได้รับในเวลาต่อมาอีกก็ได้
    เรื่องกรรมของพุทธศาสนานี้ก็คือ การสอนเรื่องของจิตใต้สำนึกของเรานี่เอง คือเมื่อเราทำอะไรลงไปด้วยเจตนาแล้ว  จิตใต้สำนึกมันก็จะรู้และจะเกิดความรู้สึกไปตามเจตนาที่ทำนั้นทันที โดยไม่สามารถบังคับได้  คือถ้ามีเจตนาดีจิตก็เป็นสุข แต่ถ้ามีเจตนาชั่วจิตก็เป็นทุกข์ ซึ่งนี่คือ “ผลโดยตรง” ที่มีผลแน่นอนอย่างไม่มีทางหลีกหนี้พ้น  
ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนาไม่เรียกว่าเป็นกรรม แต่เรียกว่า กิริยา และมีผลเป็น ปฏิกิริยา อย่างเช่นถ้าเราเดินไปเหยียบสัตว์เล็กๆตายโดยไม่เจตนาก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม แต่เป็นกิริยาและมีผลเป็นปฏิกิริยา คือสัตว์เล็กๆนั้นตายเท่านั้น  แต่ถ้าเราเจตนาที่จะเหยียบจึงจะเรียกว่าเป็นกรรมชั่ว และมีผลเป็นความเศร้าหมองขุ่นมัวของจิตใจ เป็นต้น
           เรื่องกรรมนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรยึดถือ หรือไม่ควรสนใจ เพราะมันเอาแน่นอนไม่ได้  อย่างเช่นขณะนี้เราทำกรรมดีอยู่ แต่อาจจะยังไม่ได้รับผลเป็นความสุขใจในขณะนี้ก็ได้ เพราะเราได้ทำกรรมชั่วที่รุนแรงกว่ามาก่อนหน้านี้ ดังนั้นผลของกรรมดีนี้ จึงถูกผลของกรรมชั่วนั้นหักล้างไปจนหมดเสียก่อน เราจึงไม่ได้รับผลดีจากการทำดีในขณะนี้ก็ได้ เป็นต้น และที่สำคัญเรื่องกรรมและวิบากนี้ก็ไม่คำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนาเลย เพราะยังเป็นเรื่องของความยึดถือด้วยกิเลสอยู่ หรือยังติดจมอยู่ในความทุกข์อยู่ คือถ้าทำกรรมดีก็ยังมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ แต่ถ้าทำกรรมชั่วก็จะมีความทุกข์เปิดเผย ดังนั้นถ้าเราปรารถนาความพ้นทุกข์ ก็ต้องมาปฏิบัติเพื่ออยู่เหนือกรรมทั้งหลาย โดยการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความหลุดพ้นจากความยึดถือว่ามีตัวตน ไม่ว่าจะเป็นตัวตนที่ดีหรือชั่วก็ตาม

(จากหนังสือ "พุทธศาสนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ จกาเว็บ http://www.whatami.net/ )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่