คำสอนเรื่องกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าที่เป็นวิทยาศาสตร์

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำสอนเรื่องกรรมที่สอนว่า "เมื่อเราทำกรรมใดๆไว้ในชาตินี้ เมื่อตายไปแล้วก็จะต้องเกิดใหม่เพื่อมารับผลของกรรมนั้นในชาติหน้า" นั้นไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และไม่มีของจริงมายืนยัน มีแต่ความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น และเขาเอาไว้สอนเด็กหรือคนที่ยังมีความรู้น้อยเท่านั้น

ส่วนคำสอนเรื่องกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นจะเป็นวิทยาศาสตร์ คือมีเหตุผลและพิสูจน์ได้ โดยคำว่า กรรม แปลว่า การกระทำด้วยเจตนา ซึ่งเจตนานี้ก็คือกิเลส (โลภ โกรธ หลง) คือเมื่อเราคิด พูด หรือกระทำทางกายด้วยกิเลสใดๆลงไป มันก็กลายเป็นกรรมไปทันที ซึ่งกรรมนี้ก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ

๑. กรรมดี - การทำดี (สรุปคือการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์หรือมีความสุข) และ
๒. กรรมชั่ว - การทำชั่ว (สรุปคือการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น)

วิบาก แปลว่า ผลของกรรม ซึ่งวิบากหรือผลของกรรมนี้ก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกของเรานี่เอง อันได้แก่ กรรมดี ก็มีวิบากดี คือสุขใจ อิ่มใจ กรรมชั่วก็มีวิบากชั่ว คือร้อนใจ ไม่สบายใจ

วิบากหรือผลของกรรมนี้ จะมีช่วงเวลาให้ผลอยู่ ๓ ช่วงไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง คือ

๑. ทันทีที่กำลังทำกรรมอยู่
๒. หรืออาจจะหลังจากทำกรรมเสร็จแล้วก็ได้
๓. หรืออาจจะหลังจากทำกรรมเสร็จแล้วอีกหน่อยก็ได้  

คือมันไม่แน่นอนว่าจะให้ผลในขณะใด แต่ที่แน่ๆมันให้ผลแก่จิตใจอย่างแน่นอน คือทำดีก็จะสุขใจ ทำชั่วก็จะร้อนใจ ไม่สบายใจ ซึ่งก็อาจะเกิดในขณะที่ทำ หรือทำเสร็จแล้ว หรือในเวลาต่อมาอีกนิดหน่อยก็ได้ อันนี้เราก็ต้องมาสังเกตจากจิตของเราเอง ซึ่งนี่คือผลของกรรมโดยตรงที่เป็นความจริงและเป็นวิทยาศาสตร์ที่พระพุทธเจ้าสอน ที่ใครๆก็ยอมรับ เพราะมันมีความจริงอยู่ในจิตใจของเราทุกคนมายืนยัน

แต่มันยังมีผลโดยอ้อมของกรรมอีกแต่พระพุทธเจ้าไม่สอน คือ เมื่อทำดีแล้วมีคนมาชมเชยหรือให้รางวัล หรือทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง หรือเมื่อทำชั่วแล้วถูกติเตียนหรือถูกลงโทษ หรือทำให้ชีวิตตกต่ำหรือวิบัติ ซึ่งผลโดยอ้อมนี้เป็นผลที่ไม่แน่นอน เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัย (สิ่งสนับสนุน) ภายนอก เช่น ค่านิยมของสังคมหรือสภาพแวดล้อม จึงเอาแน่นอนไม่ได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่สอนเรื่องผลโดยอ้อม

สรุปได้ว่า คำสอนเรื่องกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นการสอนเรื่องผลที่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกของมนุษย์ คือเมื่อเราทำสิ่งที่ดี  จิตใต้สำนึกมันก็รู้อยู่ว่าเป็นความดี แล้วมันก็จะเกิดความสุขใจ หรืออิ่มเอมใจขึ้นมาทันที แต่ถ้าทำความชั่ว จิตใต้สำนึกมันก็รู้อยู่ว่าเป็นความชั่ว มันก็จะเกิดความร้อนใจ หรือไม่สบายใจขึ้นมาทันที ซึ่งเรื่องกรรมนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรสนใจศึกษา (อจินไตย) เพราะไม่เป็นประโยชน์ มีแต่จะทำให้จมติดอยู่ในเรื่องกรรม ส่วนเรื่องที่เป็นประโยชน์สูงสุดที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ที่เราควรสนใจศึกษาให้เข้าใจและเห็นแจ้งก่อน จึงค่อยไปศึกษาเรื่องอื่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่