ตับแข็งรักษาไม่หาย....แต่ป้องกันได้

กระทู้สนทนา
ตับแข็งรักษาไม่หาย....แต่ป้องกันได้



ตับ เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมาก มีหน้าที่หลายอย่าง เช่นการสร้างน้ำดี ช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน เก็บสำรองอาหาร สะสมวิตามินต่างๆ ขจัดสารพิษที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด สร้างสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำลายเชื้อโรค เป็นแหล่งให้พลังงานความร้อนแก่ร่างกาย ควบคุมระบบการเผาผลาญอาหารในร่างกายฉะนั้นหากเซลล์ตับถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก

นายแพทย์ธงชัย ปรีชาชัยสุรัตน์ อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาล ธนบุรี2  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคตับแข็ง ( Cirrhosis ) ว่าไม่ใช่โรคแต่เป็นภาวะซึ่งเป็นผลมาจากโรคตับเรื้อรังขั้นสุดท้าย มีลักษณะเฉพาะคือการมีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ทำให้โครงสร้างของตับผิดปกติและเสียหน้าที่การทำงานของตับ ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ดีเหมือนเดิม

สาเหตุที่ทำให้เกิดตับแข็ง มีหลายสาเหตุ ดังนี้
1.    ตับอักเสบจากไวรัส โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เรื้อรัง
2.    ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในปริมาณที่มากเป็นประจำ
3.    ภาวะไขมันสะสมในตับ พบในผู้ป่วยโรค เบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง
4.    การรับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ
5.    สาเหตุอื่นๆที่พบน้อย เกิดจากร่างกายมีธาตุเหล็กมากเกินไป หรือ มีธาตุทองแดงสะสมมากเกิน
6.    ยังไม่ทราบสาเหตุ ประมาณ 25%

อาการ ตับแข็งจะไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะเริ่มต้น ถึงแม้ตับจะทำงานได้เพียง50%ก็ยังไม่มีอาการให้เห็นว่าเป็นตับแข็ง  การตรวจหาที่แน่นอนที่สุด ใช้วิธีตัดชิ้นเนื้อตับไปตรวจซึ่งทำยากและยุ่งยาก แพทย์จึงใช้วิธีอื่นในการวินิจฉัย เช่น ดูค่าตับจากการตรวจเลือด หรืออัลตร้าซาวด์ผิวตับ เมื่อมีพังผืดผิวตับจะขรุขระไม่เรียบ หรือตรวจความเหนียวของตับ ใช้หลายวิธีรวมกันจึงจะวินิจฉัย  ส่วนอาการที่สังเกตได้เมื่อมีอาการมากขึ้น เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง ท้องโตขึ้น บางรายอาจมีผื่นแดงที่ลำตัว บางรายผู้ชายจะมีหน้าอกโตและเจ็บ ต่อมน้ำลายโต อันทะฝ่อ ผู้หญิงประจำเดือนไม่ปกติ ตับหรือม้ามโต

ภาวะแทรกซ้อนจากตับแข็งที่พบบ่อยคือ
-    ภาวะท้องมาน (ท้องบวมโต) ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการสูญเสียคุณภาพชีวิต เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
-    ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ดีซ่าน (อาการตาเหลือง ตัวเหลือง) อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ไตวาย อาการซึมเนื่องจากเกิดความผิดปกติที่สมอง หมดสติ มะเร็งตับ

ตับแข็งเมื่อเกิดแล้วมักไม่สามารถกลับเป็นปกติได้ การรักษาจึงมักมุ่งไปที่การยับยั้งการดำเนินโรคและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ควรดูแลตัวเองเพื่อขจัดหรือลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะตับแข็ง เช่นตรวจเลือดว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบหรือไม่โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ถ้ายังไม่เป็นควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักสบบี  ถ้ามีเชื้อควรให้การรักษา เพื่อไม่ให้อาการนั้นเรื้อรังจนทำให้เกิดภาวะตับแข็ง

ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว

ในกรณีที่พบว่ามีภาวะตับแข็งแล้ว ควรหาสาเหตุและต้องงดปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายที่จะทำให้อาการมากขึ้น พยายามให้อาการคงที่ไม่ให้แย่ลงอีก ประคับประคองและดูแลตัวเองโดยเฉพาะเรื่องอาหาร เพราะเมื่อมีภาวะตับแข็ง ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร ทำให้ขาดสารอาหาร ผู้ป่วยต้องรับประทานอาหารให้มากมื้อขึ้น วันละ 4-7 มื้อ             อาหารเช้า7:00น. อาหารว่าง 10:00น. อาหารเที่ยง อาหารว่าง 15:00 น.อาหารเย็น18:00 น. และก่อนนอน 21:30น.โดยเฉพาะมื้อดึกสำคัญมาก เพราะร่างกายยังทำงานอยู่ในขณะที่นอนหลับ อาหารที่รับประทานควรลดเกลือ (เกลือโซเดียม 2กรัม ต่อวัน ) ควรรับประทานอาหารเสริมวิตามินบี และวิตามินดี เพิ่ม และควรรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน 30-40 กิโลแคลลอรี่ ต่อน้ำหนัก ต่อวัน  โปรตีน 1.2-1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม(มากกว่าคนปกติ) ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ ไม่ควรรับประทานอาหารทะเล (มีเชื้อแบคทีเรียบางอย่างที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น) ป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะมะเร็งตับ  ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุก 6เดือน

ตับแข็งเมื่อเป็นแล้วไม่สามารรักษาให้หายเป็นปกติเหมือนเดิมได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตับแข็งได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าว เพื่อรักษาตับ อวัยวะที่มีความสำคัญมากของร่างกายไว้ให้อยู่กับร่างกายเราอย่างดีตลอดชีวิต




____________________________________________________________________________

ข้อมูลโดย   ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาล ธนบุรี2                                                                           
โทร 02-4483845-58
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่