นิทานชาวสวน ๒๓ ก.พ.๕๖

กระทู้สนทนา
นิทานชาวสวน ๒๓ ก.พ.๕๖

นิทานชาวสวน

ชุด ทหารสี่อสารในสงครามอินโดจีน

๑.เลขสัญญาณทำเหตุ

ผมเล่านิทานชุดสงครามอินโดจีนมาหลายตอน ทั้ง ๆ ที่ขณะเกิดสงครามนั้น ผมมีอายุ น้อยกว่า ๑๐ ขวบ ยังไม่ได้มาอยู่ที่สวนอ้อยเลย    พ.ศ.๒๔๘๓ นั้นอยู่ที่บ้านในตรอกข้างโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเรียนหนังสือที่โรงเรียนดำเนินศึกษา ริมถนนราชดำเนินนอก ที่เป็น โรงเรียนแผนที่ ของกรมแผนที่ทหาร หัวมุมสี่แยก จ.ป.ร.ในปัจจุบัน

ซึ่งข้อมูลที่จะเล่าต่อไปนี้ได้มาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ครั้งที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสาร โดยเก็บมาจากเรื่องที่นายทหารสื่อสารท่านหนึ่ง เขียนไว้ในนิตยสารดังกล่าว ก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว ท่านผู้นี้คือ พันโท ชาญ กิตติกูล เมื่อครั้งที่ไปร่วมสงครามอินโดจีน ในฐานะนายสถานีวิทยุ        สือสาร โดยใช้นามปากกา “พญาเขินคำ” ท่านเล่าไว้เป็นตอน ๆ ซึ่งจะได้จำขี้ปากของท่านมาเล่าต่อ ในนิทานชุดนี้เป็นลำดับไป

ท่านว่าในสมัยหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ไทยเคยรบกับอินโดจีน-ฝรั่งเศส ประเทศดังกล่าวปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเขมร หนือปัจจุบันคือประเทศกัมพูชา นั่นเอง สมัยนั้นประเทศไทยตกอยู่ในสมัย “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” และไทยเป็นชาติอารยะแล้ว ชาติไทยกำลังวิ่งรุดหน้า กิจการทหารกำลังรุ่งโรจน์ ทหารไทยกำลังถูกปรับปรุงให้พร้อมที่จะรักษาอาณาเขตและเอกราชของไทย

ระยะนั้นไทยทั้งประเทศ มีมติให้เรียกร้องดินแดน ๔ จังหวัด ซึ่งเป็นของไทยมาแต่ก่อน คืนมา อันได้แก่จังหวัด พระตะบอง เสียมราษฎร์ ศรีโสภณ และมงคลบุรี รวมทั้งดินแดนฝั่งขวาในแคว้นจำปาศักดิ์ ประชาชนชาวไทยพากันเดินขบวน แสดงประชามติให้เรียกร้องเอาดินแดนคืน

ฝรั่งเศสซึ่งเป็นนายเหนือหัวอินโดจีนได้แก่ เขมร ญวน ตอบปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ซ้ำกลับสั่งทหาร กองพันเดนตายที่ ๕ ของอินโดจีน เข้ามาปักหลักเตรียมพะบู๊เสียอีกด้วย ไทยเราก็ไม่ยอม ส่งทหารไปบ้าง ส่วนใหญ่ไปชุมนุนอยู่ที่กิ่งอำเภอสระแก้ว บางส่วนเผ่นขึ้นไปอยู่ในป่าตามแนว คลองลึก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดน

พอทหารทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากันแล้ว สงครามประสาทก็เริ่มขึ้นโดยอาศัยเครื่องมือ คือการโฆษณาของกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมามีนักหนังสือพิมพ์ตั้งชื่อว่า “กรมกร๊วก” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมประชาสัมพันธ์”มาจนปัจจุบันนี้

ฝ่ายไทยมีนักพูดชั้นยอดสองคนคือ “นายมั่น กับ นายคง” ฝ่ายไซ่ง่อนมี “นายน้ำมันก๊าด กับ นายนกหระจอก” ทั้งสองฝ่ายเกทับกันอยู่ตลอดเวลา โดยมีชาวไทยและชาวเขมรเป็นลูกคู่ ด่ากันสบั้นหั่นแหลกจนปากแม่ค้าอาย การด่ากันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงดำเนินต่อไปจนกระทั่งเกิดยิงกันขึ้น ก็ยังด่ากันอยู่

ในระยะนั้นกองทัพบกได้จัดตั้งกองบังคับการต่าง ๆ ขึ้น เช่น กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบูรพา และ ฯลฯ ท่านเป็นทหารสื่อสาร สังกัดกองทหารสื่อสาร กองพลที่ ๒ หมวดวิทยุ พอกองทัพบูรพาตั้งขึ้นและถูกบรรจุเป็น นายสถานีวิทยุประจำกองทัพบูรพา มีหน้าที่รับส่งข่าวให้กับกองทัพและ บก.ทหารสูงสุด ชั่วคราว ตั้งที่มณฑลทหารบกที่ ๒ ค่ายจักรพงษ์ มี พันเอก หลวงพรหมโยธีเป็นแม่ทัพ

เมื่อเอ่ยชื่อ ค่ายจักรพงษ์ ท่านที่เป็นทหารคงรู้จักดี บางท่านเคยรับราชการอยู่ ณ ที่นั้นจนได้ดีมียศ (บางท่านก็มีบรรดาศักดิ์)มากมายนับไม่ถ้วน ค่ายนี้ได้นามตาม ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถ้าหากจะถามว่า ทูลกระหม่อมพระองค์นี้สำคัญอย่างไร เห็นจะต้องไปหาพระประวัติเอาเอง เพราะผู้เล่าก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ค่ายจักรพงษ์นี้ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งขณะที่ตั้งค่ายนี้ผู้เล่ายังไม่เกิด แล้วจะอวดรู้ไปได้อย่างไร

ค่ายจักรพงษ์ตั้งอยู่ที่ ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บริเวณที่ตั้งค่ายแต่เดิมเป็นดงช้างดงเสือ พอกองทหารเข้าไปตั้ง ช้างเสือต่างอพยพหนี เพราะขืนอยู่คงถูกปืนแน่ ๆ ยังมีอยู่บ้างจำพวกอีเก้ง กระต่าย เพราะทหารรุ่นเก่า ๆ เล่าว่า เคยมีอีเก้งวิ่งเข้าไปใต้ถุนกองร้อย ทหารไล่จับกันสนุกสนาน จับได้เอามาย่างกินอร่อยไปเลย

ปัจจุบันค่ายจักรพงษ์ยังตั้งอยู่ที่เดิม มีของที่ทูลกระหม่อมทรงทำไว้ พอจะดูได้คือต้นสักหนึ่งต้น ศิลาจารึกนามค่ายแผ่นหนึ่ง อยู่ที่วงเวียนติดกับที่ว่าการหลังเก่า ในขณะที่กองทัพบูรพาตั้งขึ้นนั้น ท่านถูกบรรจุเข้าเป็นนายสถานีวิทยุประจำกองทัพ มีหน้าที่รับส่งข่าวทางวิทยุ ระหว่างกองทัพกับ บก.ทหารสูงสุด ในขณะนั้น)ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

การรับส่งข่าวสมัยนั้น ใช้เลขสัญญาณเป็นหลัก คำพูดไม่ค่อยได้ใช้ เพราะเครื่องยังมีสมรรถภาพไม่ดีพอเหมือนสมัยนี้ การใช้เลขสัญญาณเป็นหลัก ทำให้คนทำงานกับเครื่องวิทยุรับส่ง จำกัดจำนวน เพราะคนใช้เครื่องต้องเก่งเลขสัญญาณ ทั้งรับทั้งส่ง คนไม่เป็นเลขสัญญาณ อย่าหน้าแหลมโดดเข้าไปใช้ ถูกละอาจจะเคาะได้ ฟังได้ แต่ไม่รู้เรื่อง แม้แต่คนที่คิดว่าตัวเองเก่ง ก็ยังเกิดผลิตพลาดขึ้นได้ เพราะเสียงสัญญาณมันลอยมาในอากาศ พอเข้าหูคนรับ คนรับก็เขียนเป็นตัวหนังสือไทย บางทีเขียนเป็นตัวอังกฤษ ซึ่งแล้วแต่ฝ่ายส่งจะส่งมา อย่าได้อวดดีเขียนหนังสือเขมร หรือหนังสือฝรั่งเศสเข้าเป็นอันขาด

การฟังพร้อมกับเขียนนี้เอง ทำให้เกิดวุ่นวายกันขึ้น ถึงกับ ร.อ.เผ่า ศรยานนท์ ซึ่งสมัยนั้นทำหน้าที่เป็น นายทหารคนสนิท ของ ผบ.ทหารสูงสุด สั่งสอบแต่ไม่ได้สวน เพราะเอาผิดจริง ๆ ไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครผิดกันแน่ ครั้นจะเอาผิดทั้งสองข้าง ก็เกรงจะขาดคนเก่งเลขสัญญาณ กับความผิดคราวนั้นไม่ร้ายแรง ถึงกับให้เสียผลในการดำเนินการรบ เรื่องจึงจางหาย เลือนไป หายไปเหมือนโฆษณายาสีฟันในสมัยหนึ่ง

ก่อนจะรบกันระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ทางไทยได้ส่งทหารไปประจำแนว ฝรั่งเศสก็ส่งมาเหมือนกัน แล้วต่างฝ่ายต่างก็ส่งหน่วยลาดตระเวน ออกตระเวนเขตแดนของตน วันหนึ่งท่านได้รับข่าววิทยุมาเพื่อส่งรายงานเข้า บก.ทหารสูงสุด มีข้อความพอจำได้ว่า

“ ลาดตระเวนฝ่ายเราได้เกิดปะทะกับฝ่ายข้าศึกที่บริเวณ..................ฝ่ายข้าศึกมีกำลังหนึ่งหมวด ได้ล่าถอยไป ฝ่ายเราไม่มีใครเป็นอันตรายแต่อย่างไร “

เมื่อรับรายงานฉบับนี้แล้ว พอถึงเวลาที่ส่งต่อไปให้ฝ่ายรับทางวิทยุ โดยเคาะเลขสัญญาณ ส่งจบแล้วก็มีการตอบรับ แล้วก็หมดเรื่องไป

พอตกกลางคืน วิทยุแห่งประเทศไทยโดยกรมโฆษณาการ ได้นำข่าวชิ้นนี้มาให้ นายมั่นนายคงคุยกัน แต่ข้อความมันกลายเป็นว่า “ฝ่ายข้าศึกมีกำลังห้าหมวด” พอรุ่งขึ้นข่าวนี้ก็ถูกสอบว่าใครเป็นผู้ส่ง ข้อความที่แท้จริงนั้น ข้าศึกมีกำลังเท่าใดแน่

ท่านรับข่าวแล้วก็หายใจไม่ทั่วท้อง เพราะขณะนั้นประกาศกฎอันการศึก ความผิดแต่ละกระทงต้องขึ้นศาลทหาร ท่านจึงหน้าตั้งไปหา ผบ.สื่อสาร นำข่าวส่งให้แล้วยืนยันว่า

“ ผมไม่ได้ส่งคำว่า ห้าหมวด ผมส่ง หนึ่งหมวด เท่านั้น ใครไม่รู้ทำหน้าแหลมแก้เองไปตั้งห้าหมวด “

ผบ.ส.ท่านบอกว่า

“ ไม่ต้องตกใจ อั๊วจะแก้ให้เอง “

แล้วท่านก็เขียนข่าวถึง ทส.ผบ.ทหารสูงสุดว่า

“ เลขสัญญาณคำว่า หนึ่ง กับ ห้า อาจสับสนกันได้เพราะขึ้นหน้าด้วยตัว ห.ด้วยกัน เพราะเคาะสี่สั้นเท่ากับตัว ห ถ้าเคาะเลยไปห้าสั้น หรือสั้นห้าที มันกลายเป็นเลขห้า ในทางตรงข้าม ถ้าฝ่ายรับหูระแวง อาจจะฟังสี่สั้นเป็นห้าสั้นก็ได้”

หนึ่งหมวดจึงกลายเป็นห้าหมวด ผู้กรองข่าวก็น่าจะคิดสักนิดว่า ลาดตระเวนประเทศไหนหนอ ออกลาดตระเวนครั้งละห้าหมวด มันเท่ากับหนึ่งกองร้อยเข้าไปแล้ว นายยกกระจอกกับนายน้ำมันก๊าดได้ยินเข้า คงหัวเราะกันสามวันสามคืน

พอ ผบ.ส.ท่านแก้ไปแล้วก็เงียบหาย เป็นอันว่าเจ๊ากันไป ไม่กินไม่ใช้

ท่านอ้างแต่ต้นว่าตัวเองทำหน้าที่นายสถานีวิทยุให้กองทัพบูรพาจนเกิดเรื่อง แต่ยังไม่ได้เล่าให้ทราบว่า เครื่องมือที่ใช้รับส่งข่าว เป็นเครื่องมือยี่ห้ออะไร ทำที่ไหน ใครเป็นคนทำ สำคัญอย่างไร จึงต้องขยายความว่า

เครื่องรับส่งวิทยุชุดหรือแบบที่ใช้ในขณะนั้น ยี่ห้อ รส.ห้า (รส.๕) อดีตรองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ท่านเปลี่ยนชื่อเมื่อวันเลี้ยงส่งท่านว่า รส.ห่า จะห้าหรือห่าเราลองมาคุยถึงวิทยุยี่ห้อนี้กันสักนี้ดเถอะ

วิทยุแบบนี้สร้างโดยโรงงานสร้างเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณกรมการทหารสื่อสาร ใกล้กับสะพานแดงซึ่งไม่แดงนี่เอง สมัยเมื่อท่านเป็นสิบตรี จำได้ว่า ผบ.ส.สั่งให้ท่านไปช่วยนายสิบรุ่นพี่เขาทำการรับส่งวิทยุ ท่านก็ได้รับความรู้จากนั้นมา ต่อมาพอรู้มากเข้าจึงได้รับการบรรจุเข้าเป็นนายสถานี ใช้เครื่อง รส.๕ อยู่นานเต็มที ตั้งแต่รบอินโดจีนไปจนสงครามเชียงตุงก็ยังใช้อยู่ เคยพาติดตัวไปจนถึงแม่น้ำสาละวิน พาไปจนชนแดนอยู่นานก็ยังใช้ติดต่อได้ เคยตั้งสถานีในหุบเขา บนยอดเขา ในถ้ำก็เคย เอ๊ะ ติดต่อได้ทุกที ทางด้านบูรพาคราวยึดดินแดนก็ใช้และได้ผล แต่ต้องสำรองไว้อย่างน้อยสองชุด เพราะเครื่องชำรุดบ่อย ๆ โดยเฉพาะเครื่องส่ง ต่อเมื่อเสร็จสงครามมีเครื่อง ของกรมไปรษณีย์โทรเลข)เข้ามาแทน พวกเราก็พากันลืมแฟนเก่าเสียแล้ว เพราะความสะดวกผิดกัน ต่อมาทางการเรียกเก็บ ท่านเคยตามหาเครื่องหมายเลข ๒๕ ซึ่งเคยใช้เป็นคู่ขากันมา แต่ก็หาไม่พบ

ความสามารถของเครื่องส่ง อยู่ที่แม่น้ำสาละวิน เคยติดต่อกับดอนเมือง วังปารุสก์ได้อย่างสบาย ส่วนเครื่องรับตกกลางคืนใช้ฟังข่าวจาก เดลฮี จากออสเตรเลียได้อย่างสบาย ปัจจุบันได้มีตั้งไว้ให้ชมในพิพิธภัณฑ์ ทหารสื่อสารรุ่นใหม่ ๆ จะไปคุยกันบ้างก็ได้

เรื่องที่เกี่ยวกับการรบคราวอินโดจีนฝรั่งเศส ท่านยังเล่าไว้อีกมาก จะได้นำมาเล่าให้ต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะสิ้นสงคราม.

#############


วางเมื่อ เวลา ๐๔.๓๕
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่