ผมขออธิบายเรื่อง "สมณศักดิ์" กรณี พระพายัพ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ท่านทั้งหลายจะได้ไม่บาปไปกว่านี้

กระทู้สนทนา
ในฐานะที่ผมทำงานรับใช้พระผู้ใหญ่มานาน พอจะรู้เรื่องนี้พอสมควร  ขออธิบายให้เข้าใจตรงกัน  เพราะเห็นจากข่าวแล้ว ค่อนข้างจะมั่ว ส่วนตรงไหนไม่ถูกต้อง มีผู้รู้ท่านอื่น จะมาแนะนำเพิ่มเติม  ก็ยินดีนะครับ

สมณศักดิ์มี  สองรูปแบบ  
1 สมณศักดิ์ที่ต้องมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ต้องมีการเสนอขอผ่านเจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น ส่งผ่านสำนักพุทธฯตรวจสอบยื่นเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม จากนั้นก็ทูลเกล้าถวายฯ เพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง  มีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างชัดเจน มีสองระดับ ระดับแรกคือ ระดับพระครู  เช่นพระครูชั้นเอก ชั้นโท    ระดับที่สองคือ ระดับพระราชาคณะ หรือเรียกแบบชาวบ้านว่าเป็นเจ้าคุณ  ได้แก่ ชั้นสามัญ ชั้นราช  ชั้นเทพ ชั้นธรรม ชั้นรองสมเด็จ  ชั้นสมเด็จ  และสุดท้ายคือพระสังฆราช     แต่ละชั้น แต่ละระดับ จะมีกฎเกณฑ์เช่นต้องบวชมาแล้วกี่พรรษา ต้องทำคุณงามความดีอะไรบ้าง ต้องมีทุนการศึกษาให้นักเรียน ฯลฯ  เยอะแยะมากมาย  ไม่ได้เป็นกันง่ายๆครับ

2 สมณศักดิ์แบบพระฐานานุกรม    หมายถึง  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้แต่งตั้งพระภิกษุขึ้นเป็นพระราชาคณะแล้ว   ได้มอบอำนาจให้พระรูปนั้นสามารถแต่งตั้งพระฐานานุกรมไว้คอยช่วยเหลืองานต่างๆของตนเอง  แต่ละชั้นก็จะแต่งตั้งได้ไม่เท่ากัน เช่น พระราชาคณะชั้นสามัญก็จะแต่งตั้งได้ 6 ตำแหน่ง เช่น พระใบฎีกา  พระปลัด  พระสมุห์  ฯ   ถ้าระดับชั้นรองสมเด็จก็จะแต่งตั้งได้ถึง 15 ตำแหน่ง  แต่ละตำแหน่งก็จะมีความสำคัญแตกต่างกันไป  ในวงการพระจะรู้     สมณศักดิ์แบบพระฐานานุกรมนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่ต้องนับพรรษา เป็นดุลยพินิจของพระราชาคณะองค์นั้นๆที่จะให้ใคร  ส่วนใหญ่ก็จะให้พระเลขาฯของตน พระคณะทำงานของตนเอง  

สรุปง่ายๆคือ  พระฐานานุกรม  ไม่มีกฎเกณฑ์มาบังคับ ไม่มีอำนาจอะไร ไม่ใช่เจ้าคณะปกครอง ไม่มีอำนาจสั่งการอะไรเลย เป็นแค่ยศ คล้ายๆ ปริญญาดุษฎีกิติมศักดิ์ นั่นเอง แต่.........................................
พระฐานานุกรม ของระดับรองสมเด็จขึ้นไป  ในตำแหน่งอันดับหนึ่งของพระฐานานุกรม เช่น พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณจารย์”
ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นั้น มีความหมายอย่างไร จะขออธิบายตามที่ได้ทำงานมาดังนี้

ตำแหน่งนี้เป็นพระฐานาฯที่ใหญ่ที่สุด  ถ้าเป็นแล้วจะได้สิทธิพิเศษยังไง
1 ได้เงินเดือนที่เรียกว่านิตยภัทร  (หลักพันบาท  แต่ต้องทำเรื่องยื่นสำนักพุทธฯ ซึ่งคิดว่าคงไม่ได้ทำ เพราะคงจะสึกก่อน)
2 ถ้าพระภิกษุได้ฐานาฯของรองสมเด็จอันนี้แล้ว มีสิทธิยื่นขอเป็นพระราชคณะกรณีพิเศษ  พาสชั้นแบบไม่ต้องไต่เต้าเป็นพระครูชั้นเอกชั้นโท ส่วนจะได้ไม่ได้อยู่ที่มติมหาเถรสมาคม  ข้อสำคัญอีกอย่างถึงจะพาสชั้นยังไง ก็ต้องเข้าหลักเกณฑ์ 10 พรรษา คุณงามความดี ทุนการศึกษา ตามระเบียบครับ (ซึ่งพระพายัพบวชไม่นาน  ก็คงไม่ขอเป็นเจ้าคุณอยู่แล้ว
3 ถ้ามีการทำพิธีสวดมนต์  จะนั่งหัวแถวเหนือ พระเปรียญเก้า และพระครูต่างๆ  (แต่ยังต้องต่อจากพระราชาคณะ) เพราะถือว่าฐานาฯของสมเด็จฯมีเกียรติสูง ได้รับความไว้วางใจจากพระผู้ใหญ่ (ใหญ่มากๆๆ)  อันนี้เป็นธรรมเนียมนะครับ  พระพายัพอาจจะขอไปนั่งต่อแถวก็ได้

ถามว่าในอดีตเคยมีกรณีนี้มั้ย  ผมถามพระผู้ใหญ่แล้ว  มีเหมือนกัน แต่อาจจะไม่เป็นข่าว เพราะไม่ใช่พระน้องชายทักษิณ และอาจจะบวชซักพรรษาหรือสองพรรษามาแล้ว  แต่ครั้งนี้บวชไม่กี่วัน  ก็เลยฮือฮากันนิดนึง

สรุปสุดท้ายของสุดท้ายนะครับ     ตำแหน่งฐานาฯที่พระพายัพได้นั้น  ไม่มีกฎเกณฑ์เรื่องพรรษา  ตำแหน่งก็ไม่มีอำนาจอะไร   เป็นสิทธิของสมเด็จฯวัดเทพฯ  ที่จะให้ใครก็ได้  ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเป็นเหตุผลส่วนตัวของท่าน   เราไม่รู้รายละเอียด อย่าบังอาจไปด่าหรือต่อว่า พระภิกษุที่ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯจากในหลวงเป็นพระราชาคณะระดับสมเด็จฯ  ซึ่งบวชเป็นพรหมจรรย์มาแต่เณร ไม่น้อยกว่า 50 พรรษา ทำคุณงามความดี สร้างวัด สร้างโรงเรียน มาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่   ผมเชื่อได้อย่างนึงคนที่ด่าๆกันอยู่เนี่ย ทำความดีไม่ได้ครึ่งนึงของท่านแน่นอน  สาธุ

ถ้าท่านเคารพศาลหรือผู้พิพากษาที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ  ก็ควรจะเคารพพระราชาคณะชั้นสูงที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เหมือนกันครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่