The Equity Supercycle

กระทู้ข่าว
ไพบูลย์ นลินทรางกูร  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 02:00 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันเช่นเคยทุกวันพุธที่สามของเดือน ช่วงนี้มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นของไทย

เพราะนอกจาก SET Index จะปรับเพิ่มขึ้นถึง 130 จุดภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน (และถ้านับจากต้นปี 2555 SET Index ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วเกือบ 500 จุด หรือคิดเป็น 48%) ปริมาณการซื้อขายต่อวันก็เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีที่แล้วที่ซื้อขายเฉลี่ยประมาณ 32,300 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 58,800 ล้านบาทต่อวันตั้งแต่ต้นปีนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะสงสัยว่า 1) ตลาดหุ้นไทยร้อนแรงเกินไปหรือยัง และ 2) แนวโน้ม SET Index จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

ก่อนจะตอบว่าตลาดหุ้นร้อนแรงเกินไปหรือไม่ ผมขอแบ่งตลาดหุ้นออกเป็น 3 ส่วนคือ 1) หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET 100 2) หุ้นนอกกลุ่ม SET 100 ซึ่งเป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก และ 3) หุ้นขนาดเล็กมากในตลาด MAI การแบ่งลักษณะนี้จะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นในหุ้นกลุ่มไหนเป็นพิเศษหรือไม่ และ Valuations (มูลค่าพื้นฐาน) ของหุ้นกลุ่มไหนเริ่มส่งสัญญาณฟองสบู่แล้วหรือยัง

ถ้าเราเปรียบเทียบปริมาณการซื้อขายในปีนี้กับเมื่อปีที่แล้วในแต่ละกลุ่มว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน จะพบว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET 100 เพิ่มขึ้น 62% จาก 25,200 ล้านบาทต่อวันเมื่อปีที่แล้ว มาเป็น 41,000 ล้านบาทต่อวันในปีนี้ ขณะที่การซื้อขายหุ้นนอกกลุ่ม SET 100 เพิ่มขึ้นถึง 145% จาก 5,800 ล้านบาท เป็น 14,300 ล้านบาท และการซื้อขายหุ้นขนาดเล็กมากในตลาด MAI เพิ่มขึ้นถึง 180% จาก 1,200 ล้านบาท เป็น 3,400 ล้านบาท จากตัวเลขนี้เราเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า ปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นอย่างมากในปีนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหุ้นขนาดกลางและเล็กถึงเล็กมาก แต่เพียงแค่นี้อาจยังไม่สามารถตอบได้ว่า หุ้นเหล่านี้เริ่มร้อนแรงเกินไปหรือไม่ สิ่งที่ต้องดูควบคู่กันไป คือสัดส่วนการหมุนของหุ้น (Turnover Velocity) และ Valuations

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นยังไม่ร้อนแรง Turnover Velocity เฉลี่ยต่อวันของหุ้นในกลุ่ม SET 100 อยู่ที่ประมาณ 0.45% หรือแปลว่าทุกๆ 1,000 หุ้นที่จดทะเบียนและชำระแล้ว มีการซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 4.5 หุ้น กลุ่มนอก SET 100 ซื้อขายกันที่ 5.1 หุ้นจากทุกๆ 1,000 หุ้น และ ตลาด MAI ซื้อขายกันที่ 7.4 หุ้น มาในปีนี้ Turnover Velocity ของ SET 100 เพิ่มขึ้นเป็น 8.1 หุ้น ขณะที่หุ้นนอก SET 100 เพิ่มขึ้นเป็น 10.5 หุ้น หรือคิดเป็นการขยายตัวถึงกว่าเท่าตัว ส่วนตลาด MAI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 36.3 หุ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือการหมุนของหุ้นที่ซื้อขายในตลาด MAI เพิ่มขึ้นเกือบ 400% ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่า หุ้นที่ไม่ได้อยู่ใน SET 100 เริ่มส่งสัญญาณการร้อนแรงระดับหนึ่ง ขณะที่ตลาด MAI มีสัญญาณการร้อนแรงและเก็งกำไรสูงมาก

สุดท้ายถ้าดู Valuations ของหุ้นประกอบกัน จะพบว่า หุ้นในกลุ่ม SET 100 จะมีค่า Forward P/E อยู่ที่ประมาณ 13.5 เท่า ซึ่งถือว่าไม่แพงจนเกินไปเมื่อเทียบกับ EPS ที่คาดว่าจะขยายตัวเกิน 20% ในปีนี้ และยังถูกกว่าหุ้นขนาดใหญ่ในประเทศในแถบ ASEAN ที่ซื้อขายกันที่ Forward P/E เฉลี่ยที่ประมาณ 15 เท่า ที่น่าเป็นห่วงคือ Valuations ของหุ้นในกลุ่มนอก SET 100 และ MAI เพราะนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตามข้อมูลของหุ้นเหล่านี้ จึงทำให้เราไม่มีค่า Forward P/E มาประเมินว่ามูลค่าหุ้นนั้น ยังอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าคำนวณแบบง่ายๆ โดยเอา Trailing P/E มาเป็นจุดเริ่มต้นและใช้สมมติฐานว่า กำไรของหุ้นเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น 20% ในปี 2556 เราจะได้ค่าสมมติ Forward P/E ของ หุ้นนอกกลุ่ม SET 100 ที่ 22 เท่า และ MAI ที่ 25 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แพงเกินไปแล้ว

กล่าวโดยสรุป ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยโดยรวมยังไม่ร้อนแรงเกินไปจนถึงขั้นเกิดฟองสบู่ โดยเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET 100 (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 85% ของมูลค่าตลาดรวม) ส่วนมากยังซื้อขายที่ราคาต่ำกว่าราคาตามปัจจัยพื้นฐาน แต่น่าจะพอเชื่อได้ว่าเริ่มเกิดฟองสบู่ขึ้นแล้วในหุ้นขนาดเล็กถึงเล็กมาก ซึ่งโอกาสที่จะเห็นหุ้นขนาดเล็กเหล่านี้ปรับตัวลงแรงก็เป็นไปได้สูง ดังนั้นนักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าจะซื้อขายหุ้นในกลุ่มที่ว่านี้

คำถามถัดไปคือ แนวโน้ม SET Index จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะคาดไม่ถึงว่า SET Index จะขึ้นมาถึงระดับ 1,500 ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือนของปีนี้ หลายสำนักวิจัยเริ่มปรับเป้าหมาย SET Index ขึ้นเป็น 1,600 จุดบ้าง 1,650 บ้าง 1,700 จุดก็มี ส่วนตัวแล้วท่านที่ติดตามบทความของผมมาบ้าง อาจจะพอทราบว่าผมมีมุมมองที่เป็นบวกมากๆ กับตลาดหุ้นไทยมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผมเคยได้เขียนไว้เกิน 1 ปีมาแล้วว่าก่อน Bull Market Cycle รอบนี้จะจบลง เราน่าจะได้เห็น SET Index ทำสถิติสูงสุดใหม่ ซึ่งผมยังยืนยันความคิดนั้น ผมเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่า The Equity Supercycle

หลายคนคงสงสัยว่า Equity Supercycle ที่ว่านี้มันคืออะไร และแตกต่างกับ Cycle ปกติอย่างไร จริงๆ แล้วมันก็คล้ายกับ Commodity Supercycle ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แทบทุกชนิดเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือ Debt Supercycle ที่เริ่มต้นขึ้นหลังการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำและพิมพ์เงินของธนาคารกลางในสหรัฐและสหภาพยุโรป เพื่อแก้ปัญหา Global Financial Crisis ความหมายง่ายๆ ก็คือ การปรับขึ้นของตลาดหุ้นใน Supercycle นี้จะมากและยาวนานกว่า Bull Market Cycle ที่ผ่านๆ มาของตลาดหุ้น

จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นมุมมองที่ใหม่ของผม ตลาดหุ้นกำลังได้รับผลบวกจากสภาพคล่องส่วนเกินที่มีเยอะมาก และที่สำคัญสภาพคล่องที่ว่านี้ได้ไปแอบอยู่ในตลาดตราสารหนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนเป็นที่มาของ Debt Supercycle แต่หลังจากมีสัญญาณชัดเจนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวทำให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินเริ่มปรับสูงขึ้น สภาพคล่องเหล่านี้จึงเริ่มเคลื่อนออกจากตลาดตราสารหนี้เข้าสู่ตลาดหุ้น และที่เราเห็นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น จะยังมีเม็ดเงินอีกมากที่จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูได้ว่า เมื่อปีที่แล้วนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะบอกว่าค่า Forward P/E ที่เหมาะสมของตลาดหุ้นไทยคือ 10 เท่าบ้าง 12 เท่าบ้าง มาตอนนี้เริ่มปรับขึ้นเป็น 15 เท่าแล้ว และผมเชื่อว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทุกคนจะเชื่อว่า Forward P/E ที่ 18-20 เท่าก็ยังไม่แพงจนเกินไป แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็น่าจะเป็นเวลาที่เราต้องตั้งหลักถอยกันแล้วครับ

พบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดี

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่