จัดการเงินทองของครอบครัว..โดย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 05:29
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
โดย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

                                   

ปีนี้วันตรุษจีนกับวันวาเลนไทน์อยู่ในสัปดาห์เดียวกัน ดิฉันจึงต้องเลื่อนการเขียนถึงการเงินของครอบครัวและคู่สมรสมาไว้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งอยู่หลังจากวันวาเลนไทน์ 4 วัน

ดิฉันเคยเขียนถึงการจัดการการเงินของครอบครัวไปแล้วเมื่อสองปีก่อนและได้รวมเล่มไว้ใน Money Pro เงินทองต้องจัดการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในบทที่ชื่อว่า ความรักกับการเงิน โดยเขียนวิธีการจัดการเงินทองของคู่สมรสว่าจะแยกกระเป๋า รวมกระเป๋า หรือแยกบ้างรวมบ้าง และได้ให้ข้อคิดในเรื่องการจัดการเงินๆ ทองๆ ของคู่สมรสไปบ้าง

เนื่องจากมีแฟนคอลัมน์ขอให้แนะนำวิธีจัดการเงินทองของครอบครัวมา ดิฉันจึงขอใช้โอกาสในเดือนที่มีวันแห่งความรัก เสนอข้อคิดและเทคนิคบางอย่าง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์นะคะ

ดิฉันเห็นว่าวิธีการจัดการเงินทองของคู่สมรสที่เหมาะสมกับยุคสมัยนี้ น่าจะเป็นการแยกกระเป๋าแต่รวมความรับผิดชอบ คือหากต่างฝ่ายต่างมีรายได้ ต่างฝ่ายต่างควรมีบัญชีของตนเอง มีอิสระในการใช้จ่ายเอง แต่ร่วมกันรับผิดชอบรายจ่ายและภาระทางการเงิน เช่น ค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายของลูก ฯลฯ

จะใช้เทคนิคการเปิดบัญชีร่วมของสองคนสำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันก็ได้ค่ะ และต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่นำเงินในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ เข้าไปฝากในบัญชีนี้

เมื่อต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและภาระทางการเงิน การจัดการงบประมาณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญค่ะ ต้องมีการประมาณการว่า ในแต่ละเดือน หรือแต่ละปี เราจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะนำเงินที่จะใช้ในเรื่องนั้นๆ มาจากไหน

ยกตัวอย่าง ค่าผ่อนหนี้เงินกู้ซื้อบ้าน อาจจะมาจากกระเป๋าของฝ่ายชาย ในขณะที่ค่าผ่อนรถ อาจจะมาจากกระเป๋าของฝ่ายหญิง ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในบ้านมาจากฝ่ายชาย และค่าเล่าเรียนของลูกมาจากฝ่ายหญิง เป็นต้น

หากไม่แบ่งแยกรายการ ก็ใช้วิธีคิดรวมและรับผิดชอบตามสัดส่วน เช่น รับภาระกันฝ่ายละครึ่งหนึ่ง หรือกรณีฝ่ายชายมีรายได้สูงกว่า ฝ่ายชายอาจรับภาระ 60% ฝ่ายหญิงรับภาระ 40% หรือหากฝ่ายหญิงมีรายได้สูงกว่าก็อาจจะรับภาระมากกว่าเป็นต้น

งบประมาณในที่นี้ประกอบด้วย งบประมาณที่จำเป็น เช่นค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเล่าเรียนลูก ฯลฯ งบประมาณเพื่อความบันเทิง เพื่อสาธารณกุศล และที่ควรจะจัดสรรเพื่อความมั่นคงของอนาคต คืองบประมาณเพื่อการเก็บออมและลงทุน

การแบ่งกระเป๋ากัน ยังหมายถึงการที่ต่างฝ่ายต่างมีบัตรเครดิตเป็นของตนเอง ทั้งนี้เมื่อแยกกันขอบัตรเครดิต อาจได้วงเงินรวมที่สูงกว่ารวมกันขอและฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบัตรเสริมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การได้วงเงินเพิ่มไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการมีบัตรเครดิตเป็นของตนเองค่ะ วัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้มีความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่ตนก่อขึ้น คือให้แน่ใจว่าจะตัดสินใจซื้อต่อเมื่อมีเงินเพียงพอที่จะชำระ

หากรวมวงเงินกัน อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่คิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งยังมีวงเงินว่าง หรือมีงบประมาณเหลือ จึงขอยืมใช้ไปก่อน ซึ่งหากต่างฝ่ายต่างคิดเช่นนี้ อาจใช้จ่ายเกินกว่างบประมาณหรือรายได้ที่มีได้

นอกจากนี้ยังทำให้แต่ละฝ่ายได้สร้างเครดิตของตนเอง มีหลักฐานข้อมูลการเดินบัญชี หากวันใดวันหนึ่งในอนาคตต้องแยกจากกัน ไม่ว่าจะเนื่องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปทำงานต่างประเทศ หรือจากการหย่าร้าง หรือจากไปด้วยการเสียชีวิตก็ตาม ฝ่ายที่เหลือก็จะสามารถกู้ยืมเงิน ขอบัตรเครดิต หรือทำธุรกรรมทางการเงินในนามของตนเองได้อย่างสะดวก ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่

คู่สมรสควรพูดคุยกันเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายการออมไว้ตั้งแต่ก่อนแต่งงาน และหากไม่ตรงกัน ต้องพยายามปรับให้ตรงกันหรืออย่างน้อยต้องใกล้เคียงกันค่ะ ไหนๆ จะเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้ว

การเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สิน หนี้สิน ก่อนสมรสเป็นเรื่องสำคัญ อย่าให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องประหลาดใจกับหนี้สินแปลกๆ ที่โผล่ขึ้นมาหลังจากแต่งงานกันแล้ว ซึ่งทำให้บางคู่ถึงกับแตกแยกกันเลยทีเดียว

นอกจากข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว การใช้ชีวิตก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับเข้าหากัน ถ้าฝ่ายหญิงช่างซื้อ ฝ่ายชายช่างเก็บ(เงิน) คงจะต้องมีสักวันที่ฝ่ายชายจะลุกขึ้นมาปฏิวัติบ้าง ฝ่ายหญิงก็ต้องปรับตัวค่ะ คงไม่สามารถคิดจะซื้ออะไรก็ซื้อเหมือนก่อนแต่งงานได้

การสมรสแปลว่าคนทั้งคู่พร้อมที่จะผูกพันกัน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งความคิด ทั้งงบประมาณ และต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน จึงไม่ควรปิดบังข้อมูลกัน เพราะการปิดบังแสดงให้เห็นถึงการไม่ไว้วางใจ หากมาค้นพบหรือรับทราบในภายหลัง เรื่องอาจจะบานปลายไปมากกว่าที่ควรจะเป็น

ในการออมและลงทุน ต้องปรับทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่รับได้กันทั้งสองฝ่าย โดยทั่วไปหากแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ฝ่ายที่อนุรักษนิยมจะชนะ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดีนะคะ การกลัวความเสี่ยงและอนุรักษนิยมมากเกินควรอาจจะทำให้เสียโอกาสการลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งไป

อาจมีในบางกรณีที่พื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนไม่เท่ากัน แต่ความโลภ อยากได้ผลตอบแทนสูงๆ อาจจะจูงใจทำให้หน้ามือตาลาย หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ทัดทาน ก็อาจจะพาทั้งครอบครัวไปลงเหวได้

คู่สมรสจึงควรสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินพื้นฐานด้วย อ่านหนังสือเล่มเดียวกันก็ดีค่ะ หรือมีบทความอะไรดีๆ ก็แบ่งปันกันอ่าน นำเรื่องการออมการลงทุนมาคุยกันหารือกันเป็นระยะๆ เพราะเป้าหมายชีวิตของคนเราเปลี่ยนไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในช่วงใดของชีวิต นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความมั่นคงของหน้าที่การงาน ความมั่งคั่งโดยรวมที่มีอยู่ ณ ขณะนั้นๆ ภาระทางการเงินที่แต่ละคนมีอยู่ และลักษณะการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เรามีหรืออยากมีในอนาคตด้วย

เป้าหมายชีวิตเปลี่ยนได้ แต่ชีวิตของคนเราไม่มีเป้าหมายไม่ได้ค่ะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่