ขอร้องเจ้าสัวซีพีสักเรื่องได้ไหมครับ

ขอร้องเจ้าสัวซีพีสักเรื่องได้ไหมครับ

โดย บรรจง นะแส    4 กุมภาพันธ์ 2556 14:17 น.    

    




       ข้อเสนอข้อเรียกร้องให้บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ของเจ้าสัวซีพี คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ให้เลิกซื้อปลาป่นจากเรืออวนลากของสมาคมรักษ์ทะเลไทย ที่ได้เสนอต่อบริษัทในเครือฯ ไปเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับในทางหลักการว่าจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณา แต่นี่ก็เนิ่นนานมาเกือบปีแต่ก็หายไปในสายลม ไม่ยี่หระต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เป็นชาวประมงหลายแสนครอบครัวที่ต้องใช้ทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงประชาชนคนไทยที่บริโภคอาหารโปรตีนจากทะเลจำพวกกุ้งหอยปูปลา ที่จำเป็นต้องร้องขอท่าน ก็เพราะว่าถึงวันนี้ทะเลไทยวิกฤตสุดๆ ในเรื่องพันธุ์สัตว์น้ำในทะเล ที่บริษัทในเครือของท่านมีส่วนสำคัญในการทำลาย คือการใช้ปลาป่นจากเรืออวนลากในธุรกิจอาหารสัตว์ของท่าน
       
           ใครๆ ในสังคมไทยและสังคมโลกก็รู้ว่าคุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ท่านเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทย (จัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์) อีกทั้งนิตยสารฟอร์จูน ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ว่าท่านเป็น 1 ใน 25 ของเอเชีย ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพล และเป็นคนเดียวของประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับความร่ำรวยที่สุดในประเทศมาตั้งแต่ปี 2553 ในปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีว่า เป็นบริษัทชั้นนำของโลกและของเอเชียที่ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังมีบริษัทในเครือกว่า 200 บริษัท มีการลงทุนในต่างประเทศถึง 20 ประเทศ พนักงานกว่า 2 แสนคน และมียอดขายรวมกันทุกกลุ่มธุรกิจรวมมากกว่า 6 แสนล้านบาท ความมั่งคั่งร่ำรวยของท่านไม่มีใครปฏิเสธในความรู้ความสามารถ ความขยันหมั่นเพียรตลอดถึงฝีมือทักษะในการบริหารจัดการองค์กร แต่ในโลกปัจจุบันความร่ำรวยมั่งคั่งบนความอดอยากยากแค้นของผู้อื่นหรือการดำเนินธุรกิจที่ปราศจากความรับผิดชอบ จะต้องได้รับการท้วงติง ตรวจสอบจากสาธารณะมากขึ้นเช่นกัน
       
           เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ควบรวมบริษัทย่อยๆ ในเครือ 10 บริษัทเป็นบริษัทใหญ่ 1 บริษัทเพื่อประกอบธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศไทยในชื่อบริษัทซีซีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (CCFTH) ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันนี้บริษัทซีพีเอฟถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 50.00 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วของบริษัทนั้น และมีบริษัทที่ซีพีเอฟมีอำนาจควบคุม จำนวนทั้งสิ้น 127 บริษัท ซีพีเอฟได้จำแนกธุรกิจตามประเภทของสินค้าออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ 1) ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) 2) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (Farm) ได้แก่ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า และการแปรรูปเนื้อสัตว์พื้นฐาน และ 3) ธุรกิจอาหาร (Food) ได้แก่ การผลิตสินค้าเนื้อสัตว์กึ่งปรุงสุกและปรุงสุก และการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหนตามตรอกซอกซอยในประเทศนี้ เราก็พบกับธุรกิจของท่าน ไปตามพื้นที่ชนบทเราก็จะพบกับเกษตรกรที่อยู่ในการควบคุมดูแลของท่าน วันนี้มีคำถามว่าเกษตรกรเหล่านั้นมีความมั่งคั่งร่ำรวยไปกับท่านกี่มากน้อย???
       
           มีความจำเป็นที่จะต้องพูดกับท่านเจ้าสัวในประเด็นที่บริษัทในเครือของท่านยังไม่ยุติการนำปลาป่นจากเรืออวนลากมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (Feed) ก็เพราะว่าอุตสาหกรรมของท่านมีส่วนทำลายทำร้ายทะเลไทย ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรอิสระอย่างชาวประมงและคนกินปลาอาหารธรรมชาติได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจของท่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์มีนักวิจัยมากมาย อยากให้พวกเขาได้ไปศึกษาที่นอกเหนือจากมิติทางธุรกิจบ้าง อย่างงานวิจัยที่กล่าวว่าอ่าวไทยมีศักยภาพการผลิต (carrying capacity) ของสัตว์น้ำหน้าดินอยู่ที่ประมาณ 750,000 ตัน ซึ่งต้องการการลงแรงประมงอวนลาก (fishing effort) อยู่ที่ 8.6 ล้านชั่วโมง (Muntana, Somsak, 1982) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา มีการจับสัตว์น้ำหน้าดินด้วยอวนลากเกินศักยภาพการผลิตของทะเล โดยปี พ.ศ. 2525 ผลผลิตของประมงอวนลากอยู่ที่ 990,000 ตัน ซึ่งเกินกว่ากำลังการผลิตของทะเลกว่า 30% เป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่ง ของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2529 ผลผลิตของเรือประมงอวนลากลดลงเหลือ 648,560 ตัน ขณะที่ต้องลงแรงทำการประมงถึง 11. 9 ล้านชั่วโมง
       
           หรือให้ไปดูข้อมูลจากสถิติการทำประมงที่กรมประมงศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ปี 2504 ที่มีนำอวนลากเข้ามาใช้ในประเทศไทยบอกไว้ว่า อัตราการจับสัตว์น้ำของอวนลาก อยู่ที่ชั่วโมงละ 297.6 ก.ก. ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำจากอ่าวไทยพุ่งขึ้นมากหลายเท่าตัว หลายล้านตันต่อปี และเริ่มลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยในปี พ.ศ. 2525 อัตราการจับเหลือชั่วโมงละ 49.2 ก.ก. และเหลือเพียงชั่วโมงละ 22.78 ก.ก. ในปี พ.ศ. 2534 กระทั่งปี พ.ศ. 2552 งานวิจัยของโอภาส ชามะสนธิ และคณิต เชื้อพันธุ์ ระบุว่า ปี พ.ศ. 2549 อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของอ่าวไทยตอนบนเหลืออยู่เพียงชั่วโมงละ 14.126 ก.ก. ในขณะที่งานวิจัยเรื่ององค์ประกอบของผลผลิตอวนลากได้ พบว่า สัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการมีเพียงร้อยละ 33.3 ที่เหลือเป็นปลาเป็ดร้อยละ 66.7 และร้อยละ 30.1 ของปลาเป็ดเป็นสัตว์ส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน
       
           สัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อนในทะเลไทยถูกกวาดขึ้นมาด้วยเรืออวนลากเข้าสู่โรงงานปลาป่นและป้อนให้กับธุรกิจอาหารสัตว์ของท่านเจ้าสัว สร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับท่าน แต่อาชีพประมงอื่นๆ ในประเทศกำลังล้มละลาย คนกินปลากำลังถูกสถานภาพแกมบังคับให้หมดทางเลือก เสมือนบริษัทในเครือของท่านกำหนดให้กินแต่ไก่ขาว หมูขุน ปลานิล/ปลาทับทิมที่ท่านสามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จทั้งราคา อาหาร ยา พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ฯลฯ แล้วสังคมไทยจะพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างไร ในเมื่อฐานทรัพยากรของส่วนรวมถูกทำลายลงไป ท่านจะร่ำรวยมั่งคั่งแค่ไหนก็ไร้ศักดิ์ศรี ถ้าท่านยังปล่อยให้มีการดำเนินธุรกิจที่ไปทำลายทรัพยากรและทำร้ายคนอื่นๆ เพื่อมุ่งควบคุมสรรพสิ่งไว้ในมือท่านแต่เพียงผู้เดียว เลิกเถิดครับท่านเจ้าสัว โดยเฉพาะการมีส่วนทำร้ายทะเลไทยด้วยการซื้อปลาป่นจากเรืออวนลาก เพิ่มความรับผิดชอบโดยการนำเข้าปลาป่นที่มีการควบคุมหรือเพิ่มราคาซื้อปลาป่นจากธุรกิจต่อเนื่องของโรงงานปลากระป๋อง แค่นี้คงไม่ทำให้ความมั่งคั่งของท่านลดลงหรอก ตรงกันข้ามจะได้ชื่อว่าบริษัทในเครือของท่านมีส่วนรับผิดชอบต่อทะเลและแหล่งอาหารธรรมชาติของพี่น้องร่วมสังคม หรือการทำลายทะเลคือเจตนาของท่าน??? เพื่อจะให้ผู้บริโภคทุกคนตกอยู่ในกำมือ มันจะมากไปนะครับท่านเจ้าสัว.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่