เคล็ดลับ 6 องค์กรคุณภาพ คว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ

เคล็ดลับ 6 องค์กรคุณภาพ คว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ

07 ก.พ. 2556 เวลา 16:29:07 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



เข้าสู่ปีที่ 12 กับการประกาศรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA (Thailand Quality Award) ประจำปี 2555 ต่อเนื่องมาตั้งแต่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โดยรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลระดับโลก (world class) เช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ที่ส่งผลให้ทุกองค์กรไทยและต่างประเทศเร่งพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศภายใต้เกณฑ์การตัดสินของ TQA

โดยเกณฑ์การตัดสินรางวัลคุณภาพแห่งชาติจะต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 7 หมวด ประกอบด้วย 1.การนำองค์กร 2.การวางแผนเชิงกลยุทธ์ 3.การมุ่งเน้นลูกค้า 4.การวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 5.การมุ่งเน้นบุคลากร 6.การมุ่งเน้นการปฏิบัติการ 7.ผลลัพธ์



ทั้ง 7 หมวด "สมภพ อมาตยกุล" ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยอมรับว่า การตรวจคะแนนจากเกณฑ์ที่วางไว้เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดของคณะกรรมการ เนื่องจากรางวัลนี้เป็นรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ฉะนั้นเราจึงต้องใช้เกณฑ์การตัดสินที่เข้มงวดและแม่นยำทุกปี

"รับรองว่าเกณฑ์การตัดสินเพื่อรางวัลคุณภาพนี้ เราจะใช้เกณฑ์ที่ทันสมัย และสามารถเทียบเท่ากับรางวัลคุณภาพในระดับสากลด้วย เพื่อจะได้สามารถคัดสรรองค์กรที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้อย่างเหมาะสมกับรางวัล TQA นี้"

"ที่สำคัญหลังจากการประเมินทั้ง 7 หมวด ทุกองค์กรจะได้รับรายงานป้อนกลับหรือ feedback report ที่จะระบุทั้งจุดแข็งและโอกาสในการปรับปรุงอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถขององค์กรได้อย่างยั่งยืนต่อไป"

สำหรับปีนี้ "ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์" กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ บอกว่า มีผู้เข้าร่วมสมัครขอรางวัลครั้งนี้ถึง 23 องค์กร แบ่งเป็นภาคบริการ 43% ภาคการผลิต 39% ภาคบริการสุขภาพ 13% และภาคการศึกษา 4%

"ทั้งหมดนี้จะได้รับการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมมาเพื่อเป็นผู้ตรวจประเมินโดยเฉพาะด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เมื่อผ่านการคัดเลือกจะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งเราไม่แบ่งประเภท และไม่จำกัดจำนวนรางวัลในแต่ละปีด้วย"

โดยองค์กรที่มีคะแนนผลการตรวจประเมินที่สูงกว่า 650 คะแนนขึ้นไป จะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) ส่วนองค์กรที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ แต่สูงกว่า 350 คะแนน จะได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC)

ดังนั้น รางวัลอันทรงคุณภาพประจำปี 2555 จึงไม่มีองค์กรใดก้าวผ่านเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ได้สำเร็จ แต่สำหรับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC) มีองค์กรที่คว้ารางวัลนี้รวม 6 องค์กร ได้แก่ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาเชียงใหม่ จำกัด, โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ (มหาชัย), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และหน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

กว่าจะผ่านเกณฑ์รางวัล TQC นี้มาได้ แน่นอนว่าจะต้องผ่านกระบวนการตรวจประเมินที่เรียกได้ว่ามีการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ จนสามารถนำองค์กรมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน

อย่าง "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" บริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ "วีรเดช อัครผลพานิช" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด บอกว่า...เราเป็นธุรกิจที่ไม่มีตัวตน แต่เราใช้การบริการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นโจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้การบริการของเราส่งมอบไปสู่ลูกค้าคนไทยได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นเราจึงต้องใช้เกณฑ์รางวัลเป็นกรอบในการบริการจัดการ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายนั้น

"เมื่อพบว่าเราได้เดินไปสู่เป้าหมายนั้นได้ นอกจากองค์กรจะได้ประโยชน์ เรายังได้ประโยชน์ในภาพกว้างไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ซึ่งนั่นทำให้เรามั่นใจว่าข้อมูลป้อนกลับ feedback report ที่ได้รับจากการประเมินจะสามารถนำมามาปรับปรุงแก้ไข เพื่อเดินหน้าไปสู่การบริหารจัดการด้านการให้บริการที่ดีได้อย่างยั่งยืนต่อไป"

สำหรับ "เซ็นทรัลพัฒนาเชียงใหม่" องค์กรที่ได้รับรางวัล TQC มา 3 ปีอย่างต่อเนื่องนั้น "ปณิดา สุขศรีดากุล" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานทรัพย์สิน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาเชียงใหม่ จำกัด บอกว่า...ที่ผ่านมา 2 ปี เราได้ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้ได้ตามมาตรฐานที่ดีและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

"จึงทำให้สามารถได้รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศอีกครั้ง ที่สำคัญเราได้นำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการตรวจประเมินมาแชร์ให้ศูนย์การค้าในเครือได้พัฒนาตามศูนย์การค้าต้นแบบเซ็นทรัลพัฒนาเชียงใหม่ ซึ่งเราหวังว่าวันหนึ่งจะสามารถเข้าร่วมชิงรางวัลคุณภาพได้เช่นเดียวกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัฒนาเชียงใหม่ของเรา"

ส่วนโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ (มหาชัย) นั้นก็ไม่น้อยหน้า ได้รับรางวัล TQC มา 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งในวันนี้ "ชูศักดิ์ เลิศอมรกิตติ" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ (มหาชัย) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บอกว่า...ที่ผ่านมา เกณฑ์รางวัลคุณภาพส่งผลกับองค์กรโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพ

"ตั้งแต่การสื่อสารภายในองค์กร มีการตั้งเป้าหมายและทิศทางขององค์กรที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงได้รับการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างไคเซ็น (Kaizen) และซิกซ์ซิกมา (Six Sigma) เพื่อจะได้กระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันความรู้ไปสู่โรงงานในเครือกว่า 20 แห่ง"

"เชื่อมั่นว่าเกณฑ์ของ TQA จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทำให้เราก้าวไปสู่การเป็นผู้นำโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำอันดับหนึ่งของอาเซียนในอนาคตได้อย่างแน่นอน"

และเครือยักษ์ใหญ่ "ปตท." ที่ครั้งนี้กวาดไป 3 รางวัลต่อเนื่องมา 2 ปีซ้อน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ, หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และหน่วยธุรกิจน้ำมัน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเทคนิคที่ "ชาครีย์ บูรณกานนท์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บอกว่า...ทั้ง 3 หน่วยงานของ ปตท.ได้เวลาทบทวนองค์กรอย่างจริงจัง จากการอ่าน feedback report อย่างละเอียด

"ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราเปรียบเทียบกับมุมมองของคณะกรรมการว่า สิ่งที่เราคิดว่าใช่และทำได้ดี มันใช่หรือไม่ มีสิ่งไหนที่เราต้องปรับปรุงบ้าง เปรียบได้กับนักมวยที่ไม่ว่าจะซ้อมมากี่ยก แต่ถ้าไม่ลองขึ้นชกจะรู้ได้อย่างไรว่าจะชนะหรือแพ้"

"ดังนั้นไม่ว่าการตัดสินจะเป็นอย่างไร หากเราได้นำมาปรับปรุงและพัฒนาองค์กร นั่นคือสิ่งสำคัญที่องค์กรพยายามจะเดินไปสู่เส้นทางของ TQA เพราะนั่นคือสิ่งที่เราเชื่อมั่นมาโดยตลอด"

สำหรับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติประจำปี 2556 นี้ "ดร.พานิช" บอกว่า เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคส่วนธุรกิจอย่างแท้จริง ในปีนี้เราจะเริ่มมีการศึกษาปรับเปลี่ยนเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

"เกณฑ์นี้จะถูกดีไซน์ให้เหมาะสมกับลักษณะขององค์กรในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะ เพื่อจะได้เป็นการเปิดกว้างและเปิดโอกาสให้ครอบคลุมให้กับทุกภาคส่วนของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเรายังคงใช้หลักเกณฑ์เดิมถึง 80-90% ส่วนที่เหลือจะเน้นในเรื่องความพิถีพิถันในการตรวจประเมิน"

"โดยผู้ตรวจประเมินจะได้รับการฝึกอบรมแบบใหม่ให้เข้าใจถึงลักษณะ รวมกับการบริหารจัดการขององค์กรในแต่ละประเภท เพื่อธุรกิจ SMEs จะได้เข้าถึงรางวัลคุณภาพได้เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่"

"ขณะนี้เรายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและทดสอบการใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพในระดับ SMEs ซึ่งเราใช้กลุ่มตัวอย่างที่หลากหลายภาคธุรกิจประมาณ 5-6 องค์กร และคาดว่าเกณฑ์นี้จะสามารถใช้เพื่อขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้ในปี 2557"

ซึ่งอาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีภาคธุรกิจ SMEs ได้รับการการันตีด้วยรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และการบริหารสู่ความเป็นเลิศในเวลาอันใกล้นี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่