ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เตือนผู้บริโภค! ระวังสารกันบูดในขนมปังพร้อมบริโภค ทานบ่อยเสี่ยงไตพัง!!

กระทู้ข่าว
มีข่าวมาฝากคะ...


เตือนผู้บริโภค! ระวังสารกันบูดในขนมปังพร้อมบริโภค ทานบ่อยเสี่ยงไตพัง





วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้ร่วมกับ นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลทดสอบสารกันบูดในขนมปัง – เค้ก พร้อมบริโภค จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง อึ้ง! พบขนมปังแซนวิชตราเทสโก้ แสดงฉลากลวงอ้างว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่กลับตรวจพบการใช้ร่วมกันในตัวอย่างเดียวถึง 2 ชนิด และพบว่า 1 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมดมีสารกันบูดเกินค่ามาตรฐานไทย (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร) และค่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX) จี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งตรวจสอบ วอนผู้ประกอบการใส่ใจกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนนำขึ้นชั้นวาง พร้อมเตือนผู้ชื่นชอบการฝากท้องกับขนมปังพร้อมบริโภคตามร้านสะดวกซื้อและชั้นวางสินค้าในห้างให้ระวัง ทานบ่อยเป็นภาระต่อระบบขับถ่าย อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคไตได้



นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ฯ กล่าวว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 ทางโครงการได้ร่วมกับศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สุ่มซื้อขนมอบพร้อมบริโภค ทั้ง ขนมปัง และเค้กยี่ห้อต่าง ๆ จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่มีฉลากกำกับว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” 8 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่ระบุว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย”1 ตัวอย่าง และ ตัวอย่างที่ฉลากไม่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ 5 ตัวอย่าง แล้วส่งทดสอบกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อหาสารกันบูดที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid)

ผลการทดสอบพบว่า 1 ใน 3 (5 ตัวอย่าง) มีสารกันบูดเกินค่ามาตรฐานทั้งค่ามาตรฐานอาหารของไทยและค่ามาตรฐานอาหารสากล

ได้แก่ ขนมปังใส้ถั่วแดง Tesco the Bakery ที่ปริมาณรวม 1,656 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.) (แบ่งเป็น กรดซอร์บิก 650 มก./กก. และ กรดโปรปิโอนิค 1,006 มก./กก.)

เค้กโรลวนิลา sun merry ที่ปริมาณ 1,583 มก./กก. (กรดซอร์บิก)


ขนมปังแซนวิช Tesco ที่ปริมาณรวม 1,279 มก./กก. (แบ่งเป็น กรดเบนโซอิก 17 มก./กก. และ กรดโปรปิโอนิค 1,262 มก./กก.)


ขนมปังไส้เผือก เอพลัส ที่ปริมาณรวม 1,274 มก./กก. (แบ่งเป็น กรดเบนโซอิก 15 มก./กก. กรดซอร์บิค 339 มก./กก. และ กรดโปรปิโอนิค 1,262 มก./กก.)


และ ขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์ ที่ปริมาณรวม 1,195 มก./กก. (แบ่งเป็นกรดเบนโซอิก 311 มก./กก. และ กรดโปรปิโอนิค 884 มก./กก.)


อีกทั้งยังพบว่าหนึ่งในตัวอย่างที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน (ขนมปังแซนวิชตราเทสโก้) มีการแสดงฉลากลวง โดยอ้างว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” บนฉลาก



นายพชร กล่าวต่อว่า ตัวอย่างเกือบทั้งหมดที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (3) เรื่องอาหารผิดมาตรฐานมีบทลงโทษตามมาตรา 60 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ขณะที่มีหนึ่งตัวอย่างคือ ขนมปังแซนวิช Tesco ที่เข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 25 (2) เรื่องอาหารปลอม มีบทลงโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท

  

นายพชร ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่ของสินค้าที่นำมาทดสอบเป็นตัวอย่างที่ระบุบนฉลากว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” และเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมาย อย. และเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ซึ่งควรเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ก็พบว่า มีถึง 3 ตัวอย่าง (จาก 8 ตัวอย่าง) ที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งยังพบการใช้สารกันบูดหลายชนิดร่วมกันอีกหลายตัวอย่างซึ่งมีทั้งเป็นไปตามมาตรฐานและสูงกว่าค่ามาตรฐานซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล อย. ควรมีการทบทวนเรื่องการออกใบอนุญาต และต่ออายุใบอนุญาต โดยนำข้อมูลการกระทำความผิดมาประกอบการพิจารณา สำหรับการแสดงข้อมูลบนฉลากอาจจะมีการใช้วิธีการเดียวกับวัตถุปรุงแต่งรสอาหารคือกำหนดให้ระบุว่า “ใช้ …..เป็นวัตถุกันเสีย” บนส่วนประกอบเพื่อแสดงความโปร่งใส และเป็นการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาให้กับผู้บริโภค อีกทั้งควรดำเนินการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้เกี่ยวกับการใช้วัตถุกันเสียอย่างถูกต้องและเหมาะสม


นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ให้ข้อมูลว่าวัตถุกันเสียทั้ง 3 ชนิด ที่ทดสอบเป็นสารเคมีที่อุตสาหกรรมนิยมใช้ แต่ละตัวมีหน้าที่ในการยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหารแต่มีฤทธิ์ต่างกัน บางตัวเหมาะสมกับการยับยั้งแบคทีเรีย บางตัวเหมาะกับการยับยั้งเชื้อรา การใช้ให้เหมาะสมถูกต้องกับวัตถุประสงค์จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อจัดลำดับโดยความเป็นพิษต่อร่างกาย กรดเบนโซอิคจะมีความเป็นพิษสูงสุด ตามมาด้วยกรดซอร์บิคและกรดโปรปิโอนิค ซึ่งแม้ว่าร่างกายจะสามารถขับถ่ายสารเคมีทั้งสามตัวออกได้เองเมื่อมีการบริโภค แต่หากมีการรับประทานเข้าไปในปริมาณที่เกินกว่าค่าสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวัน (ADI) อย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน และอาจนำมาซึ่งการเพิ่มความเสี่ยงของโรคไตอันเนื่องมาจากการที่ไตต้องทำงานหนักต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้



นางสาวทัศนีย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การซื้อขนมอบ (เบเกอรี่) จากระบบอุตสาหกรรมจะมีความเสี่ยงจากการใช้สารกันบูดสูงกว่าการซื้อจากร้านเบเกอรี่แบบทำวันต่อวัน ดังนั้น การเลือกซื้อเบเกอรี่ พร้อมบริโภค ให้เลือกซื้อจากร้านเบเกอรี่ที่ทำสดวันต่อวันจะดีกว่าเลือกซื้อเบเกอรี่ที่อยู่ในซอง หรือถ้ายังชื่นชอบความสะดวกของเบเกอรี่แบบซอง (เพราะหาร้านง่ายกว่า) ให้สังเกตคำว่า “ไม่ใช่วัตถุกันเสีย” บนฉลากตรงส่วนประกอบ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้บริโภคผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกวัน เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงเรื่องสารกันบูดแล้วยังมีความเสี่ยงจากโซเดียมซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลัก (ผงฟู) อันอาจนำมาซึ่งโรคไตได้อีกด้วย



ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม : นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่  143  ประจำเดือนมกราคม 2556 www.ฉลาดซื้อ.com

สามารถอ่านบทความวิเคราะห์และข้อมูลแนะนำการซื้อ ขนมปังได้ที่ "สารกันบูดขนมปัง" <<< คลิก    http://goo.gl/3gQyi





ร่วมสนับสนุนข้อมูลดี ๆ กับศูนย์ข้อมูลฉลาดซื้อ   ข้อมูลเพื่อการสร้างสังคมผู้บริโภคเข้มแข็งได้

โดยสมัครสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและส่งต่อข้อมูลดีๆ นี้ต่อไปนะคะ

สัมภาษณ์หรือติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข้อมูลฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

โทร. 0 2248 3737 ต่อ 125-129   www.ฉลาดซื้อ.com

http://www.facebook.com/fanchaladsue
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่