ข่าวทุบหุ้นปั่น ออกมาอีกแล้ว !!!! พิรุธเทรดหุ้นเกินวงเงิน ก.ล.ต.ผนึกตลาดฯบุกรังสอบโบรกเกอร์ ผงะ!พี/อีพุ่ง100เท่า

กระทู้สนทนา
เม่าตกใจ

พิรุธเทรดหุ้นเกินวงเงิน ก.ล.ต.ผนึกตลาดฯบุกรังสอบโบรกเกอร์ ผงะ!พี/อีพุ่ง100เท่า
พิรุธเทรดหุ้นเกินวงเงิน ก.ล.ต.ผนึกตลาดฯบุกรังสอบโบรกเกอร์ ผงะ!พี/อีพุ่ง100เท่า


วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2013 เวลา 10:05 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - คอลัมน์ : Big Stories  
User Rating: / 2
แย่ดีที่สุด
ก.ล.ต.จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ บุกรังโบรกเกอร์ต้องสงสัย หลังมาตรการแรก"เทรดเงินสด"สกัดหุ้นเก็งกำไรไม่อยู่ ขณะที่มือดียังปฏิบัติการจับเสือมือเปล่าปั่นกำไรผ่านเทรดมาร์จินออนไลน์ผสมเนตเซตเทิลเมนต์  แย้มขาใหญ่แอบอาศัยบัญชีมาร์จินโยนหุ้นดันราคา เผย 11 หุ้นติดกลุ่มถูกปั่นกำไรร้อนแรง ติดเกณฑ์แคชบาลานซ์แถมพี/อีพุ่งทะลุ 100 เท่า

                  ตลาดหุ้นไทยร้อนแรงด้วยกระแสเก็งกำไร จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมาเปิดข้อมูลหุ้นเข้าเกณฑ์ ที่จะต้องสั่งให้ซื้อขายได้เฉพาะบัญชีเงินสด (แคชบาลานซ์) เพื่อหวังสยบความร้อนแรง โดยพบว่า ช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2556 มีหุ้นที่ถูกสั่งให้เทรดเงินสดสัปดาห์เดียวถึง 14 หลักทรัพย์  สูงสุดตั้งแต่เคยมีการประกาศใช้มาตรการนี้ แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถดับร้อนได้ จนต้องออกมาประกาศหุ้นที่มีการซื้อขายที่ต่างไปจากสภาพปกติ (Trading Alert List)  เพื่อเตือนสตินักลงทุน นั้น
***ก.ล.ต.-ผนึกตลท.ลุยพื้นที่
             นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ก.ล.ต.ยังไม่มีมาตรการออกมาเพิ่มเติม หลังจากที่ตลท.มีมาตรการออกมาเพื่อป้องกันหุ้นที่ร้อนแรงแล้ว ซึ่งถือว่าเดินมาถูกทาง เนื่องจากจำนวนหุ้นที่ร้อนแรงหากอิงจากเกณฑ์แคชบาลานซ์ ก็ถือว่ามีจำนวนมากกว่าทุกปี
             อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.จะทำหน้าที่ในการประสานงาน และช่วยเหลือหากตลท.ขอความร่วมมือ เช่น การลงพื้นที่สุ่มตรวจบริษัทหลักทรัพย์(บล.) หรือโบรกเกอร์ ที่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ของตลท. รวมถึงเกณฑ์ที่เข้มงวดที่บล.มีออกมาเองเพิ่มเติมด้วย ว่ามีการปฏิบัติตามเกณฑ์หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพเพิ่มเติมจากการตรวจปกติประจำทุกปีด้วย
***เปิดวงเงินมาร์จิน-เล่นเน็ต
              นางดวงมนกล่าวว่า ด้านบัญชีมาร์จิน โลน (สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์) ที่มีการปล่อยอยู่ ณ วันที่  18 มกราคม 2556 มีมูลค่า  4.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ไม่ถือว่าน่ากลัว โดยโบรกเกอร์มีการปล่อยมาร์จินสูงสุดติด 1 ใน 5 อันดับแรก  คือ  บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ฯ ,บล.โนมูระ พัฒนสินฯ และ ทีเอสเอฟซี เป็นต้น
              ทั้งนี้ เท่าที่ติดตามความเสี่ยงของบริษัทหลักทรัพย์ ที่อาจจะปล่อยมาร์จินจนเกิดความเสี่ยงต่อบริษัทหลักทรัพย์เองนั้น ถือว่าทำได้ดี เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ที่ปล่อยมาร์จินในหุ้นที่ร้อนแรง ก็จะระมัดระวังด้วยการเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันมาวางเพิ่ม เป็นต้น
            ด้านนายศุภกิจ  จิระประดิษฐกุล ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานกำกับหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลท.อยู่ในช่วงลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบโบรกเกอร์ ที่อาจจะไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์แคชบาลานซ์ โดยจะเน้นตรวจเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขาย หรือโวลุ่มสูง ๆ ในหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์เท่านั้น
              "คงต้องรอผลจากการลงทุนพื้นที่หลังโวลุ่มในหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ยังสูงอยู่มาก ทั้งๆที่เป็นหุ้นที่นักลงทุนต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้าก่อนซื้อ"
            นายศุภกิจ กล่าวว่า ตลท.ยังไม่พบว่าการเล่นหุ้นในบัญชีมาร์จิน และการเล่นแบบหักกลบค่าซื้อและค่าขายหุ้นตัวเดียวกันในวันเดียวกัน (เนตเซตเทิลเมนต์) มีความผิดปกติ หรือมีโวลุ่มสูงและหมุนรอบเร็วมาก จนทำให้เกิดอันตรายต่อระบบการซื้อขาย
              ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์เปิดเผยว่า  นักลงทุนบางรายซื้อขายหุ้นในบัญชีมาร์จินผ่านออนไลน์ ผสมการเล่นเนตเซตเทิลเมนต์  นอกจากนี้มีนักลงทุนรายใหญ่ หรือขาใหญ่บางราย แอบอาศัยบัญชีมาร์จินโยนหุ้นดันราคาหุ้นด้วย ซึ่งขณะนี้โบรกเกอร์บางรายให้ความระมัดระวังอย่างมาก
               ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯรายงานว่า ณ เดือนธันวาคม 2555 มีการซื้อขายแบบเนตเซตเทิลเมนต์  1.01 แสนล้านบาท คิดเป็น 14.64 % ของโวลุ่มรวมทั้งตลาดที่ 6.91 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในรอบ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.2555) ที่มีการซื้อขายแบบเนตเซตเทิลเมนต์เฉลี่ย 10-13 % ของโวลุ่มรวม
***โบรกเกอร์ช่วยลูกค้า
    ด้านนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์  กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์(สมาคมบล.)วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่หุ้นติดแคชบาลานซ์แต่กลับมีโวลุ่มซื้อขายหนาแน่น ทั้ง ๆ ที่ต้องวางเงินสดก่อนซื้อนั้น มีความเป็นไปได้ที่โบรกเกอร์อาจช่วยลูกค้ากรณีที่ลูกค้ามีเงินไม่เพียงพอสำหรับการซื้อหุ้น  เช่น  มีเงิน 10 ล้านบาท แต่ต้องการซื้อขาย 15 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่มีในบัญชี บริษัทหลักทรัพย์ก็อาจจะยอมให้ลูกค้าซื้อขายได้เป็นต้น
     "อยากเตือนนักลงทุนว่าหากต้องการลงทุนในหุ้นที่มีราคาและโวลุ่มสูงเกินปัจจัยพื้นฐานก็ควรใช้ความระมัดระวัง ถึงแม้ช่วงนี้โวลุ่มตลาดสูงมากโดยบางวันสูงถึง  4-5 หมื่นล้านบาท"นายญาณศักดิ์ กล่าว
***เปิดชื่อโบรกเกอร์โวลุ่มพุ่ง
    ข้อมูลจากตลท.เปิดเผยรายชื่อโบรกเกอร์ที่มีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุด 10 อันดับแรกตั้งแต่วันที่ 2-24 มกราคม 2556  ประกอบด้วย 1.บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ฯ มีมูลค่าการซื้อขายรวม 1.99 แสนล้านบาท 2.บล.ฟินันเซีย ไซรัสฯ  9.73 หมื่นล้านบาท 3. บล.คันทรี่กรุ๊ปฯ 9.47 หมื่นล้านบาท 4.บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย)ฯ 9.36 หมื่นล้านบาท 5. บล.กสิกรไทยฯ  8.88 หมื่นล้านบาท
     อันดับ 6 บล.บัวหลวงฯ 8.46 หมื่นล้านบาท 7.บล.ธนชาตฯ 7.43 หมื่นล้านบาท 8.บล.ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย)ฯ  6.90 หมื่นล้านบาท 9.บล.ภัทรฯ  6.62 หมื่นล้านบาท และ 10.บล.เอเซีย พลัสฯ มีมูลค่าการซื้อขายรวม 6.62 หมื่นล้านบาท
***สมาคมบล.หามาตรการเสริม
    ด้านนางภัทธีรา  ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบล.กล่าวยอมรับปีนี้มีแรงเก็งกำไรในหุ้นขนาดกลางและเล็กที่อยู่นอกเซต 100 จนราคาปรับตัวสูงขึ้นโดยที่ไม่ได้อิงปัจจัยพื้นฐาน และหุ้นบางตัวก็ยังไม่มีบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ออกมารองรับเพื่อช่วยเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจลงทุนแต่ก็ยังมีแรงซื้อขายเข้ามาในหุ้นพวกนี้จำนวนมาก ซึ่งยอมรับว่ามีความเสี่ยงต่อนักลงทุนเช่นกัน
     ดังนั้นสมาคมบล.กำลังหาแนวทางที่จะป้องกันการลงทุนของนักลงทุนในหุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานมารองรับเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ขอความร่วมมือให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ยังแนะนำให้ลูกค้าลงทุนในหุ้นดังกล่าวก็ควรออกวิเคราะห์มารองรับด้วย
***ผงะหุ้นบางตัวพี/อีสูงกว่า 100 เท่า      
                สำหรับหุ้นที่ถูกตลท.สั่งให้ซื้อขายเฉพาะบัญชีเงินสด ได้แก่ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด(มหาชน(บมจ.) (BEAUTY) บมจ.บางกอกแลนด์ (BLAND) ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญ ของบมจ.บางกอกแลนด์ ครั้งที่ 3 (BLAND-W3) บมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) บมจ. คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) บมจ.จี เจ สตีล (GJS) บมจ. แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) บมจ. พีเออี (ประเทศไทย) (PAE) ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นสามัญ ของบมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) ครั้งที่ 2 (SLC-W2) บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) บมจ.ไทย-เยอรมัน  โปรดักส์ (TGPRO) และบมจ. ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น (TWZ)
    ขณะที่"ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมข้อมูลหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ และมีพี/อี สูงเกิน 40 เท่า พบว่ามี 11 บริษัท  ในจำนวนนี้พบว่ามีหุ้นที่มีพี/อี สูงเกิน 100 เท่า 4 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.อีเทอเนิล เอนเนอยี พี/อี 895.21 เท่า  ,บมจ.ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ พี/อี 249 เท่า,บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย พี/อี  175.34 เท่าและบมจ.ยูนิเวนเจอร์ พี/อี 160.65 เท่า (ดูตารางประกอบหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์และมีพี/อีสูงเกิน 40 เท่า
               ส่วนข้อมูลจากตลท.เปิดเผยรายชื่อหุ้นที่มีพี/อี สูงเกิน 40 เท่า ณ วันที่ 22 มกราคม 2556 มีจำนวนมากถึง 55 หลักทรัพย์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,813  วันที่   27 - 30  มกราคม พ.ศ. 2556
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่