หนังทั้งเรื่องขับเคลื่อนด้วยการขับร้องเกือบทั้งหมด (เข้าใจว่าเกินร้อยละ 90) ถ้อยคำและท่วงทำนองล้วนบอกเล่าเนื้อหาและอารมณ์ในเวลาเดียวกัน Les Misérables (เล มิเซราบล์) ฉบับนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงเทคนิคภาพยนตร์เข้ากับละครเพลงได้สำเร็จ (น่าพอใจกว่า The Phantom of the Opera ผลงานของ โจเอล ชูมัคเกอร์ อยู่หลายช่วงตัว) เป็นการปฏิวัติข้อจำกัดและขยายศักยภาพของละครเพลง กล่าวคือ หนังมีอิสระสูงสุดในการเปลี่ยนฉาก การเคลื่อนกล้องและโฟกัสจุดมอง การตัดต่อย่นย่อยุคสมัย (เพื่อขยายขอบเขตเชิงเวลาได้กว้างขึ้น) การจับภาพระยะใกล้ที่พินิจและบันทึกมวลอารมณ์ตัวละครได้สมบูรณ์ การสร้างภาพเหนือจริง (ซีจี) รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงผู้ชมวงกว้าง อันเป็นข้อจำกัดสำคัญของละครเพลงที่เล่นกันแค่ไม่กี่แห่งในโลก ทั้งที่เนื้อหาของ Les Misérables (ตั้งแต่วรรณกรรมต้นฉบับผลงานของ วิคเตอร์ อูโก้) มีเจตนารมณ์ในการสื่อสารข้อความคิดถึงมวลมหาชนในสังคมเป็นสำคัญ
แม้ว่า Les Misérables จะเคยถูกนำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์มาก่อน ล่าสุดก็ฉบับปี 1998 แต่เพราะอยู่ในมือของ ทอม ฮูเปอร์ ผู้กำกับออสการ์จาก The King’s Speech ที่เคยนำเสนอความสัมพันธ์ในเชิงบทบาทและอำนาจหน้าที่ระหว่างสามัญชนกับกษัตริย์อังกฤษได้แหลมคม Les Misérables ฉบับนี้จึงยังดูสดใหม่และน่าสนใจ โดยเฉพาะการที่ตัวละครส่วนใหญ่อยู่ในภาวะทุกข์ยาก ต่ำต้อย แต่นำเสนอความคิดอ่านตัวเองออกมาเป็นเพลงอุปรากร สะท้อนถึงกลิ่นอายความมีอารยะ นอกจากในแง่ความเพลิดเพลินบันเทิงอารมณ์ วิธีการนี้ยังดูคล้ายจะเสียดสีประชดประชัน เหมือนที่เคยเห็นจากหนังซึ่งสุดโต่งกว่าเรื่อง U-Carmen (เจ้าของรางวัลหมีทองคำเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ปี 2005)
Les Misérables มีเส้นเรื่องหลักกล่าวถึงชีวิตของ ฌอง วัลฌอง (ฮิว แจ็คแมน) ซึ่งติดคุกจากคดีขโมยขนมปังเพื่อประทังชีวิตหลานสาว ด้วยพยายามแหกคุกหลายครั้ง ฌอง วัลฌอง ถูกจองจำเป็นทาสกฎหมายถึง 19 ปี หนังบรรยายภาพชีวิตในคุกของเหล่านักโทษไม่ต่างจากการใช้แรงงานทาสสมัยกษัตริย์อียิปต์ (คล้ายฉากเปิดเรื่องในการ์ตูน The Prince of Egypt)
ฌอง วัลฌอง พ้นโทษแต่เขาก็ยังคงติดทัณฑ์บน เอกสารแสดงตัวก็ถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรร้ายแรง ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ ไม่มีนายจ้างเสี่ยงให้ทำงาน ในความมืดสนิทของชีวิต ฌอง วัลฌอง ได้รับเมตตาจากบาทหลวงใจบุญผู้ให้อาหารและที่พักพิง (หนังฉลาดมากที่เลือกบทนี้ให้ คอล์ม วิลกินสัน นักแสดงคนแรกในบทวัลฌองจากละครเพลงที่ลอนดอนและบรอดเวย์) ด้วยคิดสั้นหวังเพียงเอาตัวรอดประกอบกับไม่มีคุณความดีอะไรจะเสีย เขาขโมยเครื่องเงินในบ้านบาทหลวง ทว่าถูกตำรวจจับได้ในตอนเช้า บาทหลวงจัดการจนเขาหลุดรอดจากเงื้อมมืออันเข้มงวดของกฎหมาย พร้อมให้อภัยต่อความผิดที่เกิดขึ้น ณ จุดนี่เองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่นวิญญาณให้ ฌอง วัลฌอง
ฌอง วัลฌอง ตัดสินใจหนีทัณฑ์บน ขบถต่อการถูกตีตรา สั่งสมคุณความดีเพื่อกำเนิดใหม่เป็นนายกเทศมนตรีของเมือง หนังขยับประเด็นสู่แรงงานหญิงที่ถูกเอารัดเอาเปรียบผ่านบทบาทของฟองทีน (แอน แฮทธาเวย์ มอบการแสดงที่ตรึงใจและทรงพลัง) ชัดเจนในฉากที่ ฟองทีน ถูกนายจ้างชายหาเศษหาเลยกับความเป็นหญิงของเธอ ฟองทีนไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและกฎหมาย เธอมีลูกสาวต้องส่งเสียอยู่ต่างเมือง เมื่อความลับเรื่องลูกถูกเปิดเผย บรรดาหญิงโรงงานซึ่งอาจถือเป็นตัวแทนมาตรฐานความดีงาม ประณามและตีตราเธอว่ามีลูกนอกสมรส (คล้ายเหตุการณ์ในวรรณกรรมเรื่อง “คำพิพากษา” ของ ชาติ กอบจิตติ) สถานการณ์เลวร้ายผลักดันให้ฟองทีนเผลอตบหน้านายจ้างและถูกไล่ออก แต่เพื่อส่งเสียลูกสาวสุดรัก ฟองทีนถลำเข้าสู่อาชีพโสเภณี เธอขายสิ้นทั้งร่างกาย เส้นฝน แม้แต่ซี่ฟัน จิตวิญญาณถูกกระหน่ำย่ำยีทั้งจากลูกค้าและสังคม หนังนำเสนอฉากร้องเพลง I Dreamed a Dream ได้อย่างยอดเยี่ยม สะเทือนอารมณ์ ก่อนจะลาโลกที่ร้างไร้ความยุติธรรมนี้ ฟองทีน ฝากให้ ฌอง วัลฌอง ช่วยดูแล โคเซ็ตต์ ลูกสาวที่น่าสงสารของเธอ
ก่อนนั้น ฌอง วัลฌอง ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอดีตนักโทษหนีทัณฑ์บนโดย ฌาแวร์ (รัสเซล โครว์) เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเคยคุมนักโทษในคุกมาก่อน เมื่อปรากฏว่าจับผู้ต้องหาคดีนี้ได้แล้ว ความสงสัยของ ฌาแวร์ ก็จางหายไป ฌอง วัลฌอง ตระหนักอยู่เต็มอกว่านี่คือการจับผิดตัว (สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมได้อีกทางหนึ่ง) เขาต้องชั่งใจอย่างยากลำบาก ระหว่างการไม่ทำอะไรเลยเพื่อดำเนินชีวิตในตำแหน่งตามปกติ กับการเผชิญความจริงอย่างกล้าหาญแต่ต้องกลายเป็นนักโทษอีกครั้ง ฌอง วัลฌอง ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวเพื่อบอกความจริงต่อศาล แต่ศาลไม่เชื่อ ฌอง วัลฌอง เพราะสารรูปผู้ต้องหาคนนั้นดูเป็นคนร้ายยิ่งกว่าผู้ดำรงตำแหน่งอย่างเขา ในขณะที่ ฌาแวร์ เชื่อในคำสารภาพ สถานการณ์พัดพาให้เขาต้องหลบหนีอีกครั้ง และต้องทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับ ฟองทีน ก่อนตาย
หนังเปิดประเด็นเรื่องสวัสดิภาพและแรงงานเด็ก ผ่านตัวละครของ โคเซ็ตต์ ภายใต้การปกครองของพ่อแม่บุญธรรมใจร้าย (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ และ ซาชา บารอน โคเอน) ซึ่งมีลูกสาวของตัวเองอยู่แล้วชื่อ อาโปนีน หนังให้ภาพครอบครัวนี้ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นเสมือนตัวแทนนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบสังคม มุ่งแสวงหากำไรทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เด็กน้อย โคเซ็ตต์ ถูกใช้งานเยี่ยงทาส ความหวังและความฝันวัยเยาว์ถูกลิดรอนจนริบหรี่ นอกจากตุ๊กตาข้างกายที่สกปรกมอมแมม ฉากที่ซานตาครอสเผลอเข้าพักที่โรงแรมและถูกปอกลอกทรัพย์สินจนหมดตัว ก็นัยยะถึงการย่ำยีจินตนาการของเด็กได้อย่างเห็นภาพและมีชั้นเชิง
ฌอง วัลฌอง เข้ามาจัดการกระทั่งได้กลายเป็นผู้ปกครองใหม่ของ โคเซ็ตต์ เวลาผ่านไปกระทั่งถึงยุคสมัยที่ปรากฏความพยายามในการกลับมามีอำนาจของกษัตริย์อีกครั้งหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ประกอบกับขณะนั้น นายพลลามาร์ก ผู้เป็นที่รักของประชาชนใกล้เสียชีวิต สถานการณ์เหมาะสมสำหรับการจุดชนวนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง หนังพรรณนาภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความอดอยาก แร้นแค้น แม้แต่พ่อแม่บุญธรรมของ โคเซ็ตต์ ก็ยังกลายเป็นขอทาน หนังให้เวลากับประเด็นทางการเมืองและนำเสนอด้วยท่าทีที่จริงจัง (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฉากในครอบครัวเดิมของ โคเซ็ตต์ ที่ดูเหมือนแฟนตาซีในละครสัตว์)
โคเซ็ตต์ ถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดีและโตมามีหน้าตาสะสวยเหมือนแม่ (อแมนดา ไซย์ฟรีด) มาริอุส (เอ็ดดี้ เรดเมย์น) นักศึกษาหนุ่มซึ่งเข้าร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมรู้สึกถูกตาต้องใจ โคเซ็ตต์ ตั้งแต่แรกเห็นตอนที่เธอให้เงินขอทาน (พ้องกับความศรัทธาในตัว นายพลลามาร์ก ผู้ชอบช่วยเหลือประชาชนที่ตกยาก) เรื่องราวเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีกเมื่อ อาโปนีน (ซาแมนธา บาร์กส์) เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของ มาริอุส ซึ่งเป็นลูกสาวของพ่อแม่บุญธรรมของ โคเซ็ตต์ ก็มีใจรักให้กับ มาริอุส มานานแล้ว
วิกฤติความรักและปัญหาทางสังคมเดินเรื่องควบคู่กันไป เจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมายและนักศึกษาหัวก้าวหน้าซึ่งต่อสู้ขับเคี่ยวกันทั้งทางกายภาพและอุดมการณ์ ไม่ต่างจากการต่อสู้ภายในจิตใจตัวละคร ทั้งด้านของ ฌาแวร์ ที่สับสนระหว่างบทบาทตามกฎหมายและความมีมนุษยธรรม มาริอุส ที่ต้องสมดุลระหว่างความรักต่อ โคเซ็ตต์ และต่อภารกิจในการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึง อาโปนีน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและน่าสงสารที่สุด กล่าวคือ ต้องฝืนใจตัวเองด้วยการทำหน้าที่ประสานความรักให้กับ มาริอุส กับ โคเซ็ตต์ ความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของ อาโปนีน ยังถูกสะท้อนให้เห็นในฉากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเธอยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อความรักที่แม้จะไม่สมหวัง
หนังจบเรื่องด้วยความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่า โคเซ็ตต์ ได้ใช้ชีวิตรักร่วมกับ มาริอุส ภายใต้การจัดการของ ฌอง วัลฌอง ซึ่งเปรียบเหมือนพ่อและแม่ผู้เสียสละของ โคเซ็ตต์ ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงสังคม หนังมอบความหวังผ่านเพลง Do You Hear the People Sing? ด้วยจังหวะที่ฮึกเหิมและเนื้อเพลงที่กินใจ กระตุ้นให้เราตระหนักและศรัทธาถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชน
Les Misérables กล่าวถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับ ทั้งการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพิสูจน์ข้อครหาที่ไม่เป็นธรรม (ฌอง วัลฌอง และ ฌาแวร์) การเมตตาผู้อื่นเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาให้ดีขึ้น (บาทหลวง และ ฌอง วัลฌอง) และการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่อุดมการณ์ใหม่ ซึ่งประชาชนจะได้ร่วมกันเชิดชูคุณค่าแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นภราดรภาพ เฉกเช่นเฉดสีสัญลักษณ์บนผืนธงชาติฝรั่งเศส
ผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ ตัดสินใจได้ถูกต้องที่เรียกร้องให้นักแสดงร้องสดเหมือนในละครเพลง แล้วค่อยเติมดนตรีเข้าไปตอนหลัง นอกจากจะท้าทายความสามารถซึ่งตัวละครส่วนใหญ่ก็ขับร้องได้ในระดับที่น่าทึ่ง (รัสเซล โครว์ ในบทของ ฌาแวร์ อาจดูธรรมดาไปหน่อย) โดยเฉพาะ ฮิว แจ็คแมน , แอน แฮทธาเวย์ และ เอ็ดดี้ เรดเมย์น ความสดของเนื้อเสียงดังกล่าวยังมีประโยชน์อย่างยิ่งในการดึงอารมณ์ร่วมของผู้ชมให้ซาบซึ้งไปกับความรู้สึกของแต่ละตัวละคร
Les Misérables มีเรื่องราวที่ดีมากอยู่แล้วจากงานวรรณกรรมต้นฉบับ ซึ่งตัวหนังเองก็สื่อสัตย์ต่อเจตนารมณ์นั้น เรื่องราวที่ผูกขึ้นนอกจากจะดูสนุกแล้วยังหลักแหลมคมคาย มอบประกายคิดให้ผู้เสพได้นำไปต่อยอดได้หลากหลายระดับ จำลองสถานการณ์ที่บีบรัดและผลักดันให้ผู้ตกเป็นเบี้ยล่างของสังคมจำต้องขาดสติและกลายเป็นผู้กระทำผิด เช่น คนจนที่หิวโหย หญิงลูกจ้างซึ่งถูกล่วงละเมิด รวมถึงประชาชนที่โกรธเกรี้ยวจากระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่ถูกริเริ่มมาจากชนชั้นนำ (ในสมัยที่มีการโต้อภิวัฒน์) ซึ่งถูกบังคับใช้อย่างหนักมือและขาดความเข้าใจอย่างรอบด้านจึงกลายเป็น “ตัวร้าย” ของเรื่องนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ (ประเด็นเดียวกันกับเรื่อง Lawless)
Les Misérables จัดวางผู้ชมให้นั่งอยู่ใจกลางความรู้สึกของเหยื่อความอยุติธรรม กระตุ้นแรงๆ ให้รู้จักตั้งคำถามต่อกฎเกณฑ์ที่ปกครองเราอยู่ว่ามีความยุติธรรมและสมเหตุสมผลแล้วหรือไม่
ประชาชนตัวกระจ้อยในสังคมก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กน้อย โคเซ็ตต์ ที่วาดฝันถึงอนาคตอันงดงาม อบอุ่น และปลอดภัย แต่ภาพฝันนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้ปกครอง?
ที่มา : www.kornang.com ครับ
Les Misérables : I Dream a Dream - แล้วฝันว่าฟ้าสีทองผ่องอำไพ (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)
หนังทั้งเรื่องขับเคลื่อนด้วยการขับร้องเกือบทั้งหมด (เข้าใจว่าเกินร้อยละ 90) ถ้อยคำและท่วงทำนองล้วนบอกเล่าเนื้อหาและอารมณ์ในเวลาเดียวกัน Les Misérables (เล มิเซราบล์) ฉบับนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงเทคนิคภาพยนตร์เข้ากับละครเพลงได้สำเร็จ (น่าพอใจกว่า The Phantom of the Opera ผลงานของ โจเอล ชูมัคเกอร์ อยู่หลายช่วงตัว) เป็นการปฏิวัติข้อจำกัดและขยายศักยภาพของละครเพลง กล่าวคือ หนังมีอิสระสูงสุดในการเปลี่ยนฉาก การเคลื่อนกล้องและโฟกัสจุดมอง การตัดต่อย่นย่อยุคสมัย (เพื่อขยายขอบเขตเชิงเวลาได้กว้างขึ้น) การจับภาพระยะใกล้ที่พินิจและบันทึกมวลอารมณ์ตัวละครได้สมบูรณ์ การสร้างภาพเหนือจริง (ซีจี) รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงผู้ชมวงกว้าง อันเป็นข้อจำกัดสำคัญของละครเพลงที่เล่นกันแค่ไม่กี่แห่งในโลก ทั้งที่เนื้อหาของ Les Misérables (ตั้งแต่วรรณกรรมต้นฉบับผลงานของ วิคเตอร์ อูโก้) มีเจตนารมณ์ในการสื่อสารข้อความคิดถึงมวลมหาชนในสังคมเป็นสำคัญ
แม้ว่า Les Misérables จะเคยถูกนำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์มาก่อน ล่าสุดก็ฉบับปี 1998 แต่เพราะอยู่ในมือของ ทอม ฮูเปอร์ ผู้กำกับออสการ์จาก The King’s Speech ที่เคยนำเสนอความสัมพันธ์ในเชิงบทบาทและอำนาจหน้าที่ระหว่างสามัญชนกับกษัตริย์อังกฤษได้แหลมคม Les Misérables ฉบับนี้จึงยังดูสดใหม่และน่าสนใจ โดยเฉพาะการที่ตัวละครส่วนใหญ่อยู่ในภาวะทุกข์ยาก ต่ำต้อย แต่นำเสนอความคิดอ่านตัวเองออกมาเป็นเพลงอุปรากร สะท้อนถึงกลิ่นอายความมีอารยะ นอกจากในแง่ความเพลิดเพลินบันเทิงอารมณ์ วิธีการนี้ยังดูคล้ายจะเสียดสีประชดประชัน เหมือนที่เคยเห็นจากหนังซึ่งสุดโต่งกว่าเรื่อง U-Carmen (เจ้าของรางวัลหมีทองคำเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ปี 2005)
Les Misérables มีเส้นเรื่องหลักกล่าวถึงชีวิตของ ฌอง วัลฌอง (ฮิว แจ็คแมน) ซึ่งติดคุกจากคดีขโมยขนมปังเพื่อประทังชีวิตหลานสาว ด้วยพยายามแหกคุกหลายครั้ง ฌอง วัลฌอง ถูกจองจำเป็นทาสกฎหมายถึง 19 ปี หนังบรรยายภาพชีวิตในคุกของเหล่านักโทษไม่ต่างจากการใช้แรงงานทาสสมัยกษัตริย์อียิปต์ (คล้ายฉากเปิดเรื่องในการ์ตูน The Prince of Egypt)
ฌอง วัลฌอง พ้นโทษแต่เขาก็ยังคงติดทัณฑ์บน เอกสารแสดงตัวก็ถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรร้ายแรง ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ ไม่มีนายจ้างเสี่ยงให้ทำงาน ในความมืดสนิทของชีวิต ฌอง วัลฌอง ได้รับเมตตาจากบาทหลวงใจบุญผู้ให้อาหารและที่พักพิง (หนังฉลาดมากที่เลือกบทนี้ให้ คอล์ม วิลกินสัน นักแสดงคนแรกในบทวัลฌองจากละครเพลงที่ลอนดอนและบรอดเวย์) ด้วยคิดสั้นหวังเพียงเอาตัวรอดประกอบกับไม่มีคุณความดีอะไรจะเสีย เขาขโมยเครื่องเงินในบ้านบาทหลวง ทว่าถูกตำรวจจับได้ในตอนเช้า บาทหลวงจัดการจนเขาหลุดรอดจากเงื้อมมืออันเข้มงวดของกฎหมาย พร้อมให้อภัยต่อความผิดที่เกิดขึ้น ณ จุดนี่เองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่นวิญญาณให้ ฌอง วัลฌอง
ฌอง วัลฌอง ตัดสินใจหนีทัณฑ์บน ขบถต่อการถูกตีตรา สั่งสมคุณความดีเพื่อกำเนิดใหม่เป็นนายกเทศมนตรีของเมือง หนังขยับประเด็นสู่แรงงานหญิงที่ถูกเอารัดเอาเปรียบผ่านบทบาทของฟองทีน (แอน แฮทธาเวย์ มอบการแสดงที่ตรึงใจและทรงพลัง) ชัดเจนในฉากที่ ฟองทีน ถูกนายจ้างชายหาเศษหาเลยกับความเป็นหญิงของเธอ ฟองทีนไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและกฎหมาย เธอมีลูกสาวต้องส่งเสียอยู่ต่างเมือง เมื่อความลับเรื่องลูกถูกเปิดเผย บรรดาหญิงโรงงานซึ่งอาจถือเป็นตัวแทนมาตรฐานความดีงาม ประณามและตีตราเธอว่ามีลูกนอกสมรส (คล้ายเหตุการณ์ในวรรณกรรมเรื่อง “คำพิพากษา” ของ ชาติ กอบจิตติ) สถานการณ์เลวร้ายผลักดันให้ฟองทีนเผลอตบหน้านายจ้างและถูกไล่ออก แต่เพื่อส่งเสียลูกสาวสุดรัก ฟองทีนถลำเข้าสู่อาชีพโสเภณี เธอขายสิ้นทั้งร่างกาย เส้นฝน แม้แต่ซี่ฟัน จิตวิญญาณถูกกระหน่ำย่ำยีทั้งจากลูกค้าและสังคม หนังนำเสนอฉากร้องเพลง I Dreamed a Dream ได้อย่างยอดเยี่ยม สะเทือนอารมณ์ ก่อนจะลาโลกที่ร้างไร้ความยุติธรรมนี้ ฟองทีน ฝากให้ ฌอง วัลฌอง ช่วยดูแล โคเซ็ตต์ ลูกสาวที่น่าสงสารของเธอ
ก่อนนั้น ฌอง วัลฌอง ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอดีตนักโทษหนีทัณฑ์บนโดย ฌาแวร์ (รัสเซล โครว์) เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเคยคุมนักโทษในคุกมาก่อน เมื่อปรากฏว่าจับผู้ต้องหาคดีนี้ได้แล้ว ความสงสัยของ ฌาแวร์ ก็จางหายไป ฌอง วัลฌอง ตระหนักอยู่เต็มอกว่านี่คือการจับผิดตัว (สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมได้อีกทางหนึ่ง) เขาต้องชั่งใจอย่างยากลำบาก ระหว่างการไม่ทำอะไรเลยเพื่อดำเนินชีวิตในตำแหน่งตามปกติ กับการเผชิญความจริงอย่างกล้าหาญแต่ต้องกลายเป็นนักโทษอีกครั้ง ฌอง วัลฌอง ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวเพื่อบอกความจริงต่อศาล แต่ศาลไม่เชื่อ ฌอง วัลฌอง เพราะสารรูปผู้ต้องหาคนนั้นดูเป็นคนร้ายยิ่งกว่าผู้ดำรงตำแหน่งอย่างเขา ในขณะที่ ฌาแวร์ เชื่อในคำสารภาพ สถานการณ์พัดพาให้เขาต้องหลบหนีอีกครั้ง และต้องทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับ ฟองทีน ก่อนตาย
หนังเปิดประเด็นเรื่องสวัสดิภาพและแรงงานเด็ก ผ่านตัวละครของ โคเซ็ตต์ ภายใต้การปกครองของพ่อแม่บุญธรรมใจร้าย (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ และ ซาชา บารอน โคเอน) ซึ่งมีลูกสาวของตัวเองอยู่แล้วชื่อ อาโปนีน หนังให้ภาพครอบครัวนี้ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นเสมือนตัวแทนนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบสังคม มุ่งแสวงหากำไรทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เด็กน้อย โคเซ็ตต์ ถูกใช้งานเยี่ยงทาส ความหวังและความฝันวัยเยาว์ถูกลิดรอนจนริบหรี่ นอกจากตุ๊กตาข้างกายที่สกปรกมอมแมม ฉากที่ซานตาครอสเผลอเข้าพักที่โรงแรมและถูกปอกลอกทรัพย์สินจนหมดตัว ก็นัยยะถึงการย่ำยีจินตนาการของเด็กได้อย่างเห็นภาพและมีชั้นเชิง
ฌอง วัลฌอง เข้ามาจัดการกระทั่งได้กลายเป็นผู้ปกครองใหม่ของ โคเซ็ตต์ เวลาผ่านไปกระทั่งถึงยุคสมัยที่ปรากฏความพยายามในการกลับมามีอำนาจของกษัตริย์อีกครั้งหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ประกอบกับขณะนั้น นายพลลามาร์ก ผู้เป็นที่รักของประชาชนใกล้เสียชีวิต สถานการณ์เหมาะสมสำหรับการจุดชนวนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง หนังพรรณนาภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความอดอยาก แร้นแค้น แม้แต่พ่อแม่บุญธรรมของ โคเซ็ตต์ ก็ยังกลายเป็นขอทาน หนังให้เวลากับประเด็นทางการเมืองและนำเสนอด้วยท่าทีที่จริงจัง (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฉากในครอบครัวเดิมของ โคเซ็ตต์ ที่ดูเหมือนแฟนตาซีในละครสัตว์)
โคเซ็ตต์ ถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดีและโตมามีหน้าตาสะสวยเหมือนแม่ (อแมนดา ไซย์ฟรีด) มาริอุส (เอ็ดดี้ เรดเมย์น) นักศึกษาหนุ่มซึ่งเข้าร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมรู้สึกถูกตาต้องใจ โคเซ็ตต์ ตั้งแต่แรกเห็นตอนที่เธอให้เงินขอทาน (พ้องกับความศรัทธาในตัว นายพลลามาร์ก ผู้ชอบช่วยเหลือประชาชนที่ตกยาก) เรื่องราวเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีกเมื่อ อาโปนีน (ซาแมนธา บาร์กส์) เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของ มาริอุส ซึ่งเป็นลูกสาวของพ่อแม่บุญธรรมของ โคเซ็ตต์ ก็มีใจรักให้กับ มาริอุส มานานแล้ว
วิกฤติความรักและปัญหาทางสังคมเดินเรื่องควบคู่กันไป เจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมายและนักศึกษาหัวก้าวหน้าซึ่งต่อสู้ขับเคี่ยวกันทั้งทางกายภาพและอุดมการณ์ ไม่ต่างจากการต่อสู้ภายในจิตใจตัวละคร ทั้งด้านของ ฌาแวร์ ที่สับสนระหว่างบทบาทตามกฎหมายและความมีมนุษยธรรม มาริอุส ที่ต้องสมดุลระหว่างความรักต่อ โคเซ็ตต์ และต่อภารกิจในการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึง อาโปนีน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและน่าสงสารที่สุด กล่าวคือ ต้องฝืนใจตัวเองด้วยการทำหน้าที่ประสานความรักให้กับ มาริอุส กับ โคเซ็ตต์ ความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของ อาโปนีน ยังถูกสะท้อนให้เห็นในฉากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเธอยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อความรักที่แม้จะไม่สมหวัง
หนังจบเรื่องด้วยความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่า โคเซ็ตต์ ได้ใช้ชีวิตรักร่วมกับ มาริอุส ภายใต้การจัดการของ ฌอง วัลฌอง ซึ่งเปรียบเหมือนพ่อและแม่ผู้เสียสละของ โคเซ็ตต์ ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงสังคม หนังมอบความหวังผ่านเพลง Do You Hear the People Sing? ด้วยจังหวะที่ฮึกเหิมและเนื้อเพลงที่กินใจ กระตุ้นให้เราตระหนักและศรัทธาถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชน
Les Misérables กล่าวถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับ ทั้งการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพิสูจน์ข้อครหาที่ไม่เป็นธรรม (ฌอง วัลฌอง และ ฌาแวร์) การเมตตาผู้อื่นเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาให้ดีขึ้น (บาทหลวง และ ฌอง วัลฌอง) และการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่อุดมการณ์ใหม่ ซึ่งประชาชนจะได้ร่วมกันเชิดชูคุณค่าแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นภราดรภาพ เฉกเช่นเฉดสีสัญลักษณ์บนผืนธงชาติฝรั่งเศส
ผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ ตัดสินใจได้ถูกต้องที่เรียกร้องให้นักแสดงร้องสดเหมือนในละครเพลง แล้วค่อยเติมดนตรีเข้าไปตอนหลัง นอกจากจะท้าทายความสามารถซึ่งตัวละครส่วนใหญ่ก็ขับร้องได้ในระดับที่น่าทึ่ง (รัสเซล โครว์ ในบทของ ฌาแวร์ อาจดูธรรมดาไปหน่อย) โดยเฉพาะ ฮิว แจ็คแมน , แอน แฮทธาเวย์ และ เอ็ดดี้ เรดเมย์น ความสดของเนื้อเสียงดังกล่าวยังมีประโยชน์อย่างยิ่งในการดึงอารมณ์ร่วมของผู้ชมให้ซาบซึ้งไปกับความรู้สึกของแต่ละตัวละคร
Les Misérables มีเรื่องราวที่ดีมากอยู่แล้วจากงานวรรณกรรมต้นฉบับ ซึ่งตัวหนังเองก็สื่อสัตย์ต่อเจตนารมณ์นั้น เรื่องราวที่ผูกขึ้นนอกจากจะดูสนุกแล้วยังหลักแหลมคมคาย มอบประกายคิดให้ผู้เสพได้นำไปต่อยอดได้หลากหลายระดับ จำลองสถานการณ์ที่บีบรัดและผลักดันให้ผู้ตกเป็นเบี้ยล่างของสังคมจำต้องขาดสติและกลายเป็นผู้กระทำผิด เช่น คนจนที่หิวโหย หญิงลูกจ้างซึ่งถูกล่วงละเมิด รวมถึงประชาชนที่โกรธเกรี้ยวจากระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่ถูกริเริ่มมาจากชนชั้นนำ (ในสมัยที่มีการโต้อภิวัฒน์) ซึ่งถูกบังคับใช้อย่างหนักมือและขาดความเข้าใจอย่างรอบด้านจึงกลายเป็น “ตัวร้าย” ของเรื่องนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ (ประเด็นเดียวกันกับเรื่อง Lawless)
Les Misérables จัดวางผู้ชมให้นั่งอยู่ใจกลางความรู้สึกของเหยื่อความอยุติธรรม กระตุ้นแรงๆ ให้รู้จักตั้งคำถามต่อกฎเกณฑ์ที่ปกครองเราอยู่ว่ามีความยุติธรรมและสมเหตุสมผลแล้วหรือไม่
ประชาชนตัวกระจ้อยในสังคมก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กน้อย โคเซ็ตต์ ที่วาดฝันถึงอนาคตอันงดงาม อบอุ่น และปลอดภัย แต่ภาพฝันนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้ปกครอง?
ที่มา : www.kornang.com ครับ