พงศพัศ กับ 2 หัวหน้า ปชป.

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน : พงศพัศ กับ 2 หัวหน้า ปชป.

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1358521743&grpid=&catid=02&subcatid=0207

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 (มติชนรายวัน 18 ม.ค.2556)




พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ สวมเสื้อพรรคเพื่อไทยลงสนาม นับเป็นคู่แข่งที่พอฟัดพอเหวี่ยงมากที่สุด
กับแชมป์เก่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แห่งประชาธิปัตย์ ในศึกชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ซึ่งจะตัดสินกันตอนต้นเดือนมีนาคมนี้

ไม่รู้ว่า มีใครกลัวผู้สมัครหน้าใหม่มาแรงคนนี้มากมายหรืออย่างไร จึงทักทายด้วยเรื่องโจมตีแบบใส่สีตีไข่หลายต่อหลายเรื่อง

แต่ลงเอยคล้ายหักมุมตอนจบ ให้ตลกฮากลิ้งกันเลยทีเดียว

เรื่องแรก ป้ายสีเข้าให้ว่า ไปเปลี่ยนชื่อเพื่อตบตา ตอนโปรดเกล้าฯเป็น พล.ต.ต.ตอนนี้เลยมีประกาศราชกิจจานุเบกษา
ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2540 แพร่หลายไปทั่ว

ความว่า

"ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานยศตำรวจ

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศพลตำรวจตรีให้แก่ ว่าที่พลตำรวจตรีไพรัช พงษ์เจริญ
ข้าราชการตำรวจ ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540

ประกาศ ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2540

ผู้รับสนองพระบรมราชโอการ

นายพิชัย รัตตกุล

รองนายกรัฐมนตรี"

ชัดเจนว่า ขณะได้รับพระราชทานยศ พล.ต.ต.นั้น ยังเป็นชื่อเดิมคือ ไพรัช พงษ์เจริญ ไม่ได้เปลี่ยนชื่อเพื่อสอดไส้อะไรแน่นอน

แล้วที่สำคัญผู้รับสนองพระบรมราชโองการในกรณีนี้ คือ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นนั่นเอง

จบเรื่องแบบฮาดีมั้ย

ขณะเดียวกัน ที่มาของเรื่องโจมตีนี้ เกี่ยวพันมาจากข้อกล่าวหาว่า สมัยได้ทุนไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาจนจบเป็นดอกเตอร์
ไปก่อคดีขโมยของจนถูกจับที่นั่น

เรื่องข้อหาเป็นขโมยนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งกรรมการสอบสวนเมื่อปี 2541 ว่ามีพฤติกรรมจริงหรือไม่

เข้าข่ายการกระทำผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่

ผลการสอบสวนของคณะกรรมการให้ยุติเรื่อง เพราะตรวจสอบแล้วข้อกล่าวหาทางคดีอาญาได้จบสิ้นไปแล้ว
โดยไม่มีการดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.พงศพัศในข้อหาขโมยของดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ใช่ผู้กระทำผิด
ส่งผลให้การสอบสวนทางวินัยยุติไปด้วย

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนสรุปผล ก็เสนอไปตามลำดับขั้น เข้าอนุ ก.ตร.ด้านวินัย จนสุดท้ายเข้าสู่ที่ประชุม ก.ตร.

โดยมีบันทึกหลักฐานว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. ครั้งที่ 4/2543 ในวันที่ 11 กันยายน 2543
ได้มีมติให้ยุติเรื่องการสอบสวนทางวินัยกรณีดังกล่าว เนื่องจากไม่พบการกระทำผิดทางอาญา

แล้วที่สำคัญ ประธาน ก.ตร.หรือประธานที่ประชุมในวันนั้น

ชื่อ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เป็นการยุติเรื่องในยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย

ส่วนนายบัญญัติภายหลังก็ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ฮาตอนจบอีกเรื่อง

เอาเป็นว่าคนที่จะช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ให้กับ พล.ต.อ.พงศพัศ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คู่แข่งสำคัญของประชาธิปัตย์
ในข้อโจมตีใส่ร้ายดังกล่าวนั้น

คือนายพิชัยและนายบัญญัติ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถึง 2 คน



ฮา    ฮา     ฮา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่