เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง/ประภาคาร ภราดรภิบาล

กระทู้สนทนา
Credit . K.Thai VI Article
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=54901

บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 14 มกราคม 2556
โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล
เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง          
   
เม่าอ่านหนังสือพิมพ์
      
   จากการที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาทางด้านการลงทุนหลายๆครั้ง ผมสังเกตเห็นว่า ปัจจุบันมี “คนรุ่นใหม่” ที่อายุน้อยๆ ให้ความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนยังเป็นนักเรียนนักศึกษา บางคนเพิ่งเรียนจบและกำลังเริ่มต้นทำงาน มีเพื่อนนักลงทุนตั้งคำถามแกมเป็นห่วงว่า “พวกเขาเริ่มต้นลงทุนกันเร็วเกินไปหรือเปล่า?” เนื่องจากเห็นว่าคนอายุน้อยๆเหล่านี้อาจยังไม่ปีกกล้าขาแข็งพอที่จะเผชิญความผันผวนของตลาดหุ้น
   สำหรับผมแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ได้อยู่ที่ “เริ่มต้นลงทุนเร็วเกินไปหรือไม่?” แต่อยู่ที่ “เริ่มต้นลงทุนได้ถูกทางหรือไม่?” ต่างหาก การลงทุนนั้นไม่ว่าจะเริ่มต้นเร็วหรือช้า ถ้า “ลงทุนไม่ถูกทาง” ก็มีโอกาสเสียหายได้ทั้งนั้น เช่น แทนที่จะนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีมีอนาคตและรอรับผลตอบแทนที่จะเติบโตไปกับผลการดำเนินงานของบริษัท แต่กลับนำเงินไปใช้ในการซื้อขายแบบเก็งกำไรโดยไม่ดูปัจจัยพื้นฐานซึ่งอาจทำให้ขาดทุนหรือถึงขั้นหมดตัวได้
   แต่ถ้าใช้หลักการลงทุนที่ถูกต้องและเหมาะสม ผู้ที่เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น หากลองย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นการลงทุนของ “เซียนหุ้นระดับตำนานของโลก” หลายๆท่าน ไม่ว่าจะเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินซ์, เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน, ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ก็จะพบว่าแต่ละท่านต่างเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่ยังอายุน้อยๆทั้งสิ้น
   “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนที่ผมอายุประมาณ 12-13 ปี ผมเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้น” และเมื่อครั้งที่เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนึ่งในอาจารย์ของเขา “ดร.เอ็มเมทท์” ได้พานักศึกษาไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัทต่างๆ “แทนที่จะเรียนในห้องเรียน ทุกๆวันพุธชั้นเรียนของเราจะไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัทใหญ่ๆในพื้นที่ เราเดินชมโรงงาน หลังจากนั้นเราจะฟัง ดร.เอ็มเมทท์สอบถามผู้บริหารเกี่ยวกับนโยบายของบริษัทและวิธีการที่พวกเขาใช้ในการบริหารงาน” ซึ่งการพูดคุยกับผู้บริหารและเยี่ยมชมกิจการในระหว่างที่เรียนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้ “ฟิชเชอร์” นำมาพัฒนาเป็นเทคนิคการลงทุนที่เรียกว่า “Scuttlebutt” หรือการ “สืบเสาะเจาะข้อมูล” ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จละมีชื่อเสียงในโลกของการลงทุนในฐานะของ “บิดาแห่งการลงทุนหุ้นเติบโต”                    
   “เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน” เจ้าของฉายา “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสแห่งโลกการลงทุน” เริ่มสนใจตลาดหุ้นตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเยล โดยเขาพบว่าตัวเองมีความสามารถในการประเมินมูลค่าของกิจการ เขาจึงเลือกเรียนในสาขาเศรษฐศาสตร์ พร้อมกับตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำงานเป็นที่ปรึกษาทางด้านการลงทุน และด้วยความที่เขาสนใจในพลังของดอกเบี้ยทบต้น เขาได้ให้คำแนะนำกับนักลงทุนรุ่นหลังไว้ว่า “จงเรียนรู้เรื่องการลงทุน ศึกษาเกี่ยวกับผลตอบแทนและความเสี่ยง เริ่มลงทุนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นอย่างเต็มที่”                                        
   “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เริ่มซื้อหุ้นครั้งแรกตอนที่เขาอายุเพียง 11 ปี โดยเขากับพี่สาวได้ซื้อหุ้นซิตี้เซอร์วิสจำนวน 3 หุ้นในราคาหุ้นละ 38 เหรียญ หลังจากที่ซื้อหุ้น สองพี่น้องก็ต้องหัวใจห่อเหี่ยวเมื่อราคาหุ้นลดลงไปเหลือ 27 เหรียญ พวกเขาอดทนรอจนกระทั่งราคาหุ้นดีดกลับขึ้นไปเป็น 40 เหรียญ ก็รีบตัดสินใจขายหุ้นออกไปทันที และหลังจากนั้นราคาหุ้นยังคงพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนทะลุไปถึง 200 เหรียญต่อหุ้น นั่นเป็นประสบการณ์ซื้อขายหุ้นครั้งแรกของเขา “บัฟเฟตต์” เล่าว่า  “ผมมีความสนใจในตลาดหุ้นตั้งแต่ตอนที่ผมอายุได้ 11 ปี ตอนนั้นผมใช้เวลาเฝ้าดูตลาด และตัวเลขบนกระดานหุ้นที่บริษัทหลักทรัพย์แฮริส อัพแฮมในนิวยอร์ค ซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกับบริษัท บัฟเฟตต์ ฟอล์ค แอนด์ โค ของคุณพ่อผม” จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ “บัฟเฟตต์” สามารถสร้างผลตอบแทนในการลงทุนได้อย่างโดดเด่นจนทำให้เขาก้าวขึ้นสู่ทำเนียบ “บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก” ต่อเนื่องมาหลายต่อหลายปี แม้ปัจจุบันอายุจะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 83 แต่ “บัฟเฟตต์” ก็ยังคงมีความสุขกับการลงทุนเหมือนเมื่อหลายๆสิบปีที่ผ่านมา
   ส่วน “ปีเตอร์ ลินซ์” เริ่มต้นลงทุนตอนเรียนวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 โดยนำเงินรายได้จากการทำงานพาร์ทไทม์เป็นแคดดี้และเงินจากทุนการศึกษาไปซื้อหุ้นของสายการบิน Flying Tiger ในราคาหุ้นละ 7 เหรียญ เขาซื้อหุ้นตัวนี้หลังจากที่ได้อ่านบทความในชั้นเรียนที่กล่าวถึงแนวโน้มที่สดใสของการขนส่งทางอากาศ “ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ราคาของหุ้น Flying Tiger ก็ขึ้นไปแตะ 32 เหรียญกว่าๆ ถือว่าเป็นหุ้น 5 เด้งตัวแรกของผม ผมทยอยขายหุ้นทีละเล็กทีละน้อยสำหรับจ่ายค่าเล่าเรียน ผมได้เข้าเรียนที่วาร์ตันด้วยทุนการศึกษาส่วนหนึ่งจากหุ้น Flying Tiger” หลังจากที่เรียนจบ “ลินซ์” ก็ได้เข้าทำงานบริหารกองทุนฟิเดลลิตี้ และสร้างผลงานการลงทุนได้อย่างยอดเยี่ยมจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดคนหนึ่งของโลก”
   นั่นก็คือ “ปฐมบทการลงทุน” ของบรรดาสุดยอดเซียนหุ้น ซึ่งคงพอจะเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ว่า การเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อยก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ถึงแม้จะด้อยประสบการณ์ แต่ถ้าหากศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่จะลงทุนมาเป็นอย่างดี ลงทุนด้วยแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม และรู้จักพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม




แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่