นำร่องสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ เทศบาลปั้นเส้นทาง...ปั่นจักรยาน

กระทู้ข่าว
ขนส่งมวลชนเชียงใหม่มันห่วยจริง ๆ นั่นแหละ เหมือนบังคับให้คนต้องใช้รถส่วนตัว มีทางจักรยานทั้งในและรอบคูเมืองก็น่าจะเหมาะ  รูปก้อปจากเนตครับ



.......
นำร่องสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ เทศบาลปั้นเส้นทาง...ปั่นจักรยาน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ : ภาพปัจจุบันของจังหวัดเชียงใหม่ สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ก็คือปัญหา "การเดินทางและการขนส่ง" ภายในเขตเมืองและระหว่างเมือง ที่ยังต้องพึ่งรถยนต์ส่วนบุคคล

ความหนาแน่นของรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จำนวนยานพาหนะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี และมีจำนวนรถจดทะเบียนสะสมภายในจังหวัดมากกว่า 1 ล้านคัน ยังไม่นับรวมรถที่ผ่านเข้าออกตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางเสียง อากาศ และการสูญเสียพลังงานภาคขนส่ง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเชียงใหม่ปีละ 3-5 ล้านคน พบปัญหาเดียวกันกับการขยายตัวของเมืองอื่น ๆ เช่น การพัฒนาที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า การทำลายหรือบั่นทอนคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมือง มลพิษทางอากาศ การจราจรติดขัด และสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง

ขณะที่การขยายตัวของเมืองในแนวราบ ทำให้เกิดการใช้ที่ดินในวงกว้างขึ้น ขาดแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจร ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ประชากรในเมืองหันไปใช้ยานพาหนะส่วนตัว ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด "เทศบาลนครเชียงใหม่" ได้ริเริ่ม "โครงการขนส่งอย่างยั่งยืนเมืองเชียงใหม่" เพื่อวางแผนการจัดการขนส่งและจราจรร่วมกับการวางแผนการใช้ที่ดิน รวมถึงกำหนดเส้นทางสำหรับพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์

โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินให้เปล่าจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้ประสานงาน และสำนักนโยบายแผนการจราจรและขนส่ง ร่วมดำเนินการ พื้นที่เป้าหมายสำคัญที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อการขนส่งแบบไร้เครื่องยนต์คือบริเวณสี่เหลี่ยมคูเมือง

พื้นที่ "สี่เหลี่ยมคูเมือง" ของเมืองเชียงใหม่ มีความสำคัญในฐานะเมืองศูนย์กลางราชธานีของอาณาจักรล้านนา นับตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองเมื่อปี พ.ศ. 1839 โดยเป็นที่ตั้งของราชวังหรือคุ้มหลวง และได้กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 2527

"ทัศนัย บูรณุปกรณ์" นายกเทศมตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้ของบประมาณจากธนาคารโลก (World Bank) เพื่อพัฒนาระบบขนส่งในนครเชียงใหม่อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินแบบให้เปล่าในวงเงิน 729,630 เหรียญสหรัฐ หรือราว 21 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน โดยจัดสรรงบประมาณทำมาสเตอร์แพลน 9 ล้านบาท และอีก 12 ล้านบาท นำมาพัฒนาพื้นที่นำร่องเพื่อการขนส่งแบบไร้เครื่องยนต์

พื้นที่นำร่องคือบริเวณสี่เหลี่ยมคูเมือง จากประตูสวนดอก-ประตูท่าแพ และประตูเชียงใหม่-ประตูช้างเผือก โดยมีศูนย์กลางนำร่องบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พื้นที่ 7,600 ตารางเมตร รองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มากกว่า 1,900 คน โดยออกแบบเป็นพื้นที่ของการเดินและปั่นจักรยาน

ทั้งนี้จะมีการทำทางจักรยานบริเวณรอบสี่เหลี่ยมคูเมืองให้เป็นเส้นทางที่มีความต่อเนื่อง สะดวกในการใช้งานและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน พร้อมทำที่จอดจักรยานสาธารณะ 5 จุด บริเวณประตูสวนดอก ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ และประตูช้างเผือก ไม่ต่ำกว่า 100 คัน ในเบื้องต้นจะทำระบบจักรยานสาธารณะให้เช่า โดยให้เอกชนเข้ามาประมูลก่อน

"ดร.นิรันดร โพธิกานนท์" ที่ปรึกษาชมรมจักรยานวันอาทิตย์ เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชมรมได้ผลักดันและเสนอให้มีการสร้างทางจักรยานจากบริเวณรอบนอกคูเวียงเข้ามาในคูเวียง เนื่องจากมีประชาชนเดินทางเข้ามาในคูเวียงจำนวนมากในแต่ละวัน ปริมาณรถจึงเพิ่มมากขึ้นและหนาแน่น หากมีทางจักรยานอย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นทางเลือกให้คนกล้าขี่จักรยานมากขึ้น

ทั้งนี้ควรเป็นระบบจราจรสำหรับจักรยานอย่างง่าย ๆ คือการกำหนดให้ทุกถนนที่ยังไม่มีช่องเดินรถจักรยาน เป็นถนนจักรยาน ซึ่งใช้กันแพร่หลายในยุโรป ทุกทางเข้าในเขตคูเมืองต้องมีป้ายเตือนให้คนทราบความพิเศษนี้ และเริ่มส่งเสริมการใช้จักรยานทุกวันพุธและวันศุกร์

"เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพด้วยต้นทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การสร้างเชียงใหม่ให้เป็นเมืองจักรยานจึงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนของเมืองที่มีอยู่ แต่ปริมาณการใช้จักรยานยังมีน้อย เพราะยังไม่มีความปลอดภัยในการขี่บนท้องถนน และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการขี่จักรยานยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ"

จักรยานจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่ง ท่ามกลางการจราจรบนถนนเกือบทุกสายของเชียงใหม่ที่เริ่มติดขัดและหนาแน่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่