ทารกในครรภ์รับรู้อารมณ์ได้ แล้วปฏิจจสมุปบาทจะไม่เกิดได้อย่างไร

ขอยกข้อความทางการแพทย์มาแล้วกันนะครับ
ส่วนใครถามว่าอยู่ตรงไหนในพระไตรปิฏกว่ามีลักษณะเช่นเดียวกัน เดี๋ยวจะแสดงให้ดู

ข้อความทางการแพทย์
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000040065
นพ.มานิตย์ แสนมณีชัย สูติ-นรีแพทย์ ให้ความรู้ว่า สมองของทารกนั้นถูกสร้างขึ้น และมีการขยายหรือเติบโตของเซลล์ประสาทตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ว่าที่คุณพ่อคุณแม่สามารถบำรุงสมองของลูกน้อยให้ฉลาดได้ด้วยการกินอาหารที่ดี และครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะในช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จำเป็นต้องได้รับสารโฟเลตที่เพียงพอเพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาทและสมองที่สมบูรณ์ของทารก ขณะที่โปรตีนเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องใช้เพื่อเสริมสร้างขนาดและคุณภาพของสมอง หากคุณแม่ได้รับสารอาหารโปรตีนน้อยเกินไป เซลล์สมองของลูกในท้องก็จะมีขนาดเล็ก และทำให้ทารกที่คลอดออกมา มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กคนอื่นๆ ได้
       
       นอกเหนือจากการรับประทานอาหาร และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านทราบกันดีอยู่แล้ว นพ.มานิตย์ ยังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ว่าที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ตั้งแต่ในครรภ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ สัมผัสทางกาย การได้ยิน การรับรส การมองเห็น และการรับกลิ่น
       
       เริ่มจาก ไตรมาสแรก ของการตั้งครรภ์ ทารกยังเป็นตัวอ่อนอยู่มาก แต่ก็เริ่มรับรู้สัมผัสทางกายได้เมื่ออายุ 2 เดือน คุณพ่อคุณแม่ สามารถกระตุ้นสัมผัสลูกน้อยได้โดยการลูบ หรือตบหน้าท้องเบา ๆ พร้อมพูดคุยกับลูก ทำอารมณ์ให้สดชื่น เมื่อคุณแม่มีความสุข ก็จะหลั่งสารแห่งความสุข (เอนโดรฟิน) และส่งผ่านไปยังลูกน้อยในครรภ์ ส่งผลให้ลูกเจริญเติบโต และมีอารมณ์ดี
       
       เมื่อก้าวเข้าสู่ ไตรมาสที่สอง พลังวิเศษที่คุณแม่และคุณพ่อสามารถทำได้โดยง่ายดาย คือการพูดคุย เล่านิทาน ร้องเพลงหรือเปิดเพลงสบายๆ ให้ลูกฟัง เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ การได้ยิน โดยในช่วงเดือนที่ 6 หูของทารกจะเริ่มทำงานได้เต็มที่ การพูดคุยกับลูกตั้งแต่ในครรภ์ นอกจากจะก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน และส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้ผลดีมากแล้ว ยังเป็นการเสริมพัฒนาการด้านการได้ยิน ภาษาและอารมณ์ของลูกด้วย
       
       สำหรับช่วง ไตรมาสสุดท้าย ลูกน้อยสามารถได้รับการพัฒนาทั้ง การรับรส การมองเห็น และการรับกลิ่น โดยในเดือนที่ 7 ทารกในครรภ์จะสามารถรับรู้รสจากการกลืนน้ำคร่ำและอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไป อาทิ ในกรณีที่คุณแม่ติดทานรสชาติหวาน มีแนวโน้มว่าลูกจะติดทานรสชาติหวานในอนาคต และในระยะนี้ทารกจะลืมตา รับรู้แสง และสามารถสนองตอบด้วยการดิ้นได้แล้ว คุณแม่อาจเล่นกับลูกน้อยโดยการใช้ไฟฉายส่องแบบค่อย ๆ กะพริบเพื่อให้แสงทะลุผ่านหน้าท้องไปที่น้ำคร่ำทำให้ลูกรู้ความแตกต่างของความมืดและความสว่างได้ และเมื่ออายุ 9 เดือน ประสาทสัมผัสด้านการได้กลิ่นจะเริ่มทำงานแม้จะยังไม่ชัดเจนนัก การใช้กลิ่นอโรมาอ่อนๆ นอกจากจะทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย แล้วยังอาจสามารถกระตุ้นการ รับรู้กลิ่นของทารกได้
       
       ทั้ง 5 สัมผัสในข้างต้นนี้ นพ.มานิตย์ ฝากทิ้งท้ายว่า คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำด้วยความรัก ความผูกพัน และปราศจากความเครียดกันด้วยนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่