เท่าไหร่ถึงจะพอ/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

กระทู้สนทนา
เท่าไหร่ถึงจะพอ/วิบูลย์ พึงประเสริฐ
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=54871

มีผู้รู้บอกว่ามนุษย์ไม่เคยพอใจในสิ่งที่มีอยู่และมักจะดิ้นรนหาสิ่งที่ดีกว่าให้กับตนเองและครอบครัวอยู่เสมอ บางคนเคยบอกว่าถ้ามนุษย์พอใจในปัจจุบันแล้วตอนนี้เรายังคงขี่เกวียนกันอยู่เป็นแน่แท้ จากการสังเกตรอบๆตัวมักพบว่าคำกล่าวที่ว่ามนุษย์ไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นความจริงอยู่มากทีเดียว เริ่มต้นจากรูปร่างหน้าตาจะเห็นว่าร้านเสริมสวยหรือคลีนิคความงามเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บางคนผมตรงก็ไปดัดให้ผมสลวยสวยเก๋ บางคนผมหยักโศกก็ไปยืดให้ผมตรง บางคนก็ไปฉีดโบท๊อก ฟิลเลอร์จนเป็นอันตรายถึงกับเสียโฉมหรือเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว

   ​ถ้าพูดถึงที่อยู่อาศัยจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความต้องการตามระดับรายได้ เริ่มต้นจากบ้านเช่าจากนั้นขยับขยายเป็นทาวโฮมเมื่อครอบครัวมีรายได้มากขึ้น อยู่กันไปสักพักหนึ่งมองหาบ้านเดี่ยวชานเมืองเพื่อที่จะได้มีพื้นที่มากขึ้น หลังจากอยู่บ้านเดี่ยวมาหลายปีถึงเวลาที่จะต้องการคอนโดในเมืองติดรถไฟฟ้าให้ลูกไปเรียนหนังสือหรือไม่ก็บ้านหลังที่สองในต่างจังหวัดเพื่อพักผ่อนวันหยุดหรือวันเกษียณอายุ

   ​ยิ่งพาหนะหรือรถยนต์ยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด ในช่วงเริ่มต้นทำงานอาจนั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้าไปทำงานได้ไม่มีปัญหา แต่เมื่อรายได้มากขึ้นการขับรถยนต์ส่วนตัวดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่น่าสะดวกสบายมากกว่าการนั่งรถเมล์หรือรถสาธารณะ เริ่มต้นอาจขับรถเล็กๆประหยัดน้ำมัน เมื่อรายได้มากขึ้นก็ขยับไปซื้อรถที่ใหญ่ขึ้นหรูหราขึ้น คนขับโตโยต้าก็อยากขับเบนซ์หรือคนขับฮอนด้าก็อยากเปลี่ยนเป็นบีเอ็มเป็นต้น

   ​ถ้าเป็นเช่นนี้การมีเงินมากขึ้นจะทำให้มนุษย์พอใจได้จริงหรือ ดูเหมือนว่ายิ่งคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นต่างหวังที่จะทำกำไรและร่ำรวยจากการเล่นหุ้นกันทั้งนั้น บางคนอาจเริ่มต้นจากเงินไม่กี่หมื่นบาท จากนั้นก็สามารถทำเงินเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆจากหมื่นเป็นแสน จากแสนเป็นล้าน แต่ดูเหมือนว่ามีเงินเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอยังเป็นคำถามที่หาคำตอบได้ไม่ง่ายนัก บางคนบอกมีเงินแสนก็พอแล้ว แต่พอหาเงินได้แสนแล้วก็อยากมีเงินล้าน พอมีเงินล้านก็อยากมีสิบล้าน ร้อยล้าน พันล้านกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

   ​ในทางทฤษฏี การมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอขึ้นกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของแต่ละบุคคล ถ้าต้องการรายได้ในแต่ละเดือนมากก็อาจต้องมีเงินลงทุนในบัญชีมาก แต่ถ้ามีค่าใช้จ่ายส่วนตัวไม่มากนักการมี”อิสรภาพทางการเงิน”อาจทำได้ในวงเงินที่น้อยกว่ากันพอสมควร นอกเหนือจากนั้นยังขึ้นกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของแต่ละบุคคลอีกด้วย ผลตอบแทนนี้อาจต้องมองในแง่รายได้ในรูปของเงินสดที่ได้อย่างสม่ำเสมอจากการลงทุนเช่นเงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่ามากกว่าคาดหวังจากกำไรจากส่วนต่างของต้นทุนและราคาขายในสินทรัพย์นั้นๆ

   ​ยกตัวอย่างเช่น สมชายต้องการรายได้จากการลงทุนเดือนละ 1 หมื่นบาทหรือปีละ 1.2 แสนบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัว ถามว่าสมชายต้องมีเงินลงทุนเท่าไหร่ถึงจะ”พอ” สมมุติว่าสมชายซื้อพันธบัตรรัฐบาลไว้ทั้งหมดซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยปีละ 3 เปอร์เซนต์ สมชายต้องมีเงินลงทุนในพันธบัตรทั้งหมด 4 ล้านบาทถึงจะมีรายได้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

   ​ถ้าสมชายลงทุนในหุ้นปันผลที่ได้อัตราเงินปันผลปีละ 6 เปอร์เซนต์ เงินลงทุนเพียง 2 ล้านบาทสามารถทำให้สมชายอยู่ได้โดยไม่ต้องการเงินเดือนจากการทำงานประจำ แต่ในความเป็นจริงเงินเดือนละ 1 หมื่นบาทอาจไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน ดังนั้นคนทำงานทั่วๆไปน่าจะคาดหวังรายได้เดือนละ 1 แสนบาทเพื่อให้พอต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ถ้าเป็นเช่นนั้นการลงทุนในหุ้นปันผลต้องมีเงินลงทุนทั้งหมด 20 ล้านบาท ถ้าต้องการายได้มากขึ้นต้องมีเงินลงทุนมากขึ้นตามไปด้วย อัตราผลตอบแทนของเงินปันผลขึ้นกับราคาของหุ้นด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าราคาหุ้นสูงมาก อัตราเงินปันผลจะน้อยแต่โดยส่วนใหญ่ที่ระดับ 5-6 เปอร์เซนต์ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สามารถหาได้จากหุ้นที่ยังมีราคาไม่สูงมากนักและจ่ายเงินปันผลจากกำไรในอัตราสูง

   ​การหาเงิน 20 ล้านบาทสำหรับคนทำงานกินเงินเดือนทั่วไปถือว่าไม่ง่ายนักเพราะถ้ามาจากการเก็บเงินฝากธนาคารอย่างเดียวอาจต้องเก็บถึงเดือนละ 1 แสนบาทเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นโดยใช้หลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่าอาจเหมาะกับคนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานมากกว่าที่จะมาเฝ้าราคาหุ้นบนกระดานโดยเก็บเงินจากเงินเดือนมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้อย่างสม่ำเสมอโอกาสที่จะได้เงินลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้เป็นไปได้อย่างแน่นอน


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่