ศิริราช สร้างชื่อผ่าตัดทารกในครรภ์กระเพาะปัสสาวะอุดกั้นสำเร็จ!

กระทู้สนทนา
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พัฒนาการผ่าตัดส่องกล้องรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นของทารกในครรภ์ สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย ระบุใช้เวลาผ่าเพียง 1 ชม. ช่วยให้ทั้งแม่และเด็กปลอดภัย…

เวลา 13.00 น. วันที่ 2 ม.ค. 56 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล  แถลงข่าว “สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย  ศิริราชผ่าตัดส่องกล้องทารกในครรภ์ รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น”  ร่วมกับ ศ.คลินิก นพ.ชาญชัย  วันทนาศิริ  หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รศ.นพ.วิทยา  ถิฐาพันธ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ และ รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดรักษาประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ร่วมด้วย รศ.พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช หัวหน้าสาขาวิชาทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช

ศ.คลินิก นพ.อุดม เผยว่า จากที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้พัฒนาเทคนิคการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด โดยล่าสุด ประสบความสำเร็จ ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องทารกในครรภ์ รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย  

สำหรับการผ่าตัดทารกในครรภ์จากการส่องกล้อง เริ่มใช้ผ่าตัดแยกทารกแฝดที่มีการถ่ายเลือดระหว่างกันเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นได้มีการพัฒนาการผ่าตัดทารกในครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคที่ซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับ เช่น การทำหัตถการระบายน้ำท่วมช่องเยื่อหุ้มหัวใจของทารกในครรภ์ หรือการทำหัตถการใส่ท่อระบายน้ำที่คั่งในช่องปอดทารกจากการพัฒนาที่ผิดปกติ ของหลอดน้ำเหลือง เป็นต้น  สำหรับการส่องกล้องผ่าตัดทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ด้วยกล้องและเครื่องมือขนาดเล็กที่เรียกว่า fetoscope เพื่อช่วยชีวิตของทารกนั้น เป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ทักษะของทีมแพทย์และการประสานความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งในวันนี้ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาประสบความสำเร็จอีกขั้นในการผ่าตัดรักษาทารกในครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น นั่นคือ ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น

สำหรับภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นนั้น เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด พบได้เพียงประมาณ 1 ใน 50,000 เกิดจากมีแผ่นเนื้อเยื่อที่ผิดปกติอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะที่ต่อไปยังท่อปัสสาวะ เป็นผลให้น้ำปัสสาวะที่สร้างจากไต ไม่สามารถผ่านออกได้  ทำให้กระเพาะปัสสาวะบวมตึง รวมถึงแรงดันที่ย้อนกลับขึ้นไปตามท่อไต จะทำให้ไตบวมและไตวายในที่สุด ซึ่งทารกที่ป่วยด้วยโรคกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นจะแท้งหรือเสียชีวิตในครรภ์เป็นส่วนใหญ่ ในอดีตไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความชำนาญของทีมแพทย์ผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดเปิดการอุดกั้นของกระเพาะปัสสาวะประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย

รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา แพทย์ผู้ทำการรักษาประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ กล่าวว่า ทีมแพทย์ได้ให้คำปรึกษาคุณแม่หลังจากตรวจอัลตราซาวนด์เมื่ออายุครรภ์ 4 เดือน พบว่า ทารกมีกระเพาะปัสสาวะตึงขยายผิดปกติ และน้ำคร่ำแห้ง และตรวจเพิ่มด้วยคลื่นสะท้อนพลังแม่เหล็ก ที่เรียกว่า MRI พบว่าทารกมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น ทีมแพทย์จึงได้ให้คำปรึกษาแนะนำแก่คุณแม่และครอบครัวถึงความรุนแรงของภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น และทางเลือกต่าง ๆ ในการดูแลต่อไป ซึ่งรวมถึงการส่องกล้องผ่าตัดรักษาทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และด้วยความร่วมมือของ อ.นพ.บรรณสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดครั้งนี้  ทีมแพทย์ใช้วิธีบล็อกหลังแทนการดมยาสลบ เพื่อสามารถสื่อสารกับคุณแม่ได้ตลอดเวลา จากนั้นสอดกล้องขนาดเล็กเพียง 1.3 มิลลิเมตร ผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะของทารกในครรภ์ แล้วสำรวจโครงสร้างภายในกระเพาะปัสสาวะของทารกโดยละเอียด ซึ่งในช่วงนี้ทารกมีความยาวลำตัวเพียง 15 ซม. โดยที่โครงสร้างทุกอย่างมีขนาดเล็กมาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการผ่าตัด เมื่อพบตำแหน่งอุดกั้นในท่อปัสสาวะ ทีมแพทย์ได้ใช้เลเซอร์กำลังต่ำเจาะเปิดตำแหน่งที่อุดกั้น เพื่อให้น้ำปัสสาวะสามารถผ่านท่อปัสสาวะออกมาได้ หลังการผ่าตัดพบว่า ทารกมีหัวใจเต้นดี กระเพาะปัสสาวะยุบตัวลงและน้ำคร่ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยที่การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง    

ในเวลาต่อมา ทีมแพทย์ได้ติดตามอาการของทารก ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง พบว่าทารกสามารถปัสสาวะได้ กระเพาะปัสสาวะยุบลง และน้ำคร่ำเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นลำดับ ถือว่ามีการตอบสนองต่อการผ่าตัดรักษาเป็นอย่างดี โดยที่ทีมแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ และกุมารแพทย์ยังคงติดตามและประสานงานความคืบหน้าของอาการทารกเป็นระยะๆ  เมื่ออายุครรภ์ใกล้ครบกำหนด  พบว่าคุณแม่มีอาการเจ็บท้องก่อน  จึงตกลงทำการผ่าตัดคลอด เมื่อแรกทารกมีน้ำหนักตัว 1.8  กก.

ด้าน รศ.พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช หัวหน้าสาขาวิชาทารกแรกเกิด กล่าวว่า  ทางทีมกุมารแพทย์ได้รับการประสานงานจากทีมแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ว่า ทารกรายนี้คลอดก่อนกำหนด แม้น้ำหนักตัวน้อย แต่ดูแข็งแรงสมวัย  มีการใช้เครื่องช่วยหายใจเพียงช่วงสั้น ๆ ก็หายใจเองได้ดี ปัสสาวะออกดี ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานประสานกันระหว่างทีมแพทย์ผู้มีความชำนาญ แต่ละสาขา ซึ่งขณะนี้ทารกมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2,390 กก.

เครดิตจาก ไทยรัฐ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่