คุณแม่เตรียมตัว ! ทำอย่างไรเมื่อต้องนั่งเครื่องบินขณะ "ตั้งครรภ์"

คอลัมน์ พบแพทย์จุฬา
โดย รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ
ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ มักมีสตรีตั้งครรภ์มาถามคำถามเกี่ยวกับการเดินทางโดยเครื่องบินเสมอ วันนี้จึงขอเสนอข้อมูลนี้

ในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ใดๆ ถือได้ว่ามีความปลอดภัยในการเดินทางโดยเครื่องบินไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป ช่วงเวลาที่ถือว่าปลอดภัยสำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน คือช่วงที่อายุครรภ์ประมาณ 14-28 สัปดาห์ หรือในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์นั่นเอง เนื่องจากในไตรมาสแรกอาจมีการแพ้ท้องมากและรู้สึกไม่สบาย และไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการแท้งบุตรหรือเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

ก่อนอื่น ควรเช็กกับสายการบินที่จะใช้เดินทางว่า เขาอนุญาตได้ถึงอายุครรภ์เท่าใด ส่วนมากต่างประเทศไม่เกิน 28 สัปดาห์ แต่ในบางประเทศอาจมากกว่านั้น

ตั้งแต่ขั้นแรกคือ การผ่านเครื่องตรวจกรองโลหะเพื่อค้นหาอาวุธ ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระดับต่ำที่ถือว่ามีความปลอดภัย ไม่ใช่รังสีเอ็กซ์

เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์อาจมีอาการปวดเมื่อย ขาและเท้าบวม เส้นเลือดขอดได้ง่าย และอาจปัสสาวะบ่อย เพื่อความสะดวกควรเลือกที่นั่งติดทางเดินเอาไว้ การคาดเข็มขัดนิรภัยต้องคาดให้เส้นที่อยู่ในแนวนอนอยู่ใต้ท้อง และควรคาดไว้ตลอดเวลาที่นั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเครื่องบินผ่านบริเวณที่อากาศแปรปรวน

กรณีที่เดินทางไกลหรือมีความเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดอุดตันระหว่างเดินทาง ควรขยับแขนขาบ่อยๆ หรือลุกเดินบ้าง ใช้ถุงน่อง support และดื่มน้ำมากๆ

ระดับความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปหรือรังสีในอากาศเมื่อบินอยู่ในระดับสูงไม่ค่อยมีผลเสียต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์หากทั้งคู่มีสุขภาพดีแต่หากสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ หรือรกทำงานไม่สมบูรณ์ อาจเกิดการขาดออกซิเจนได้ เพราะความกดอากาศในเครื่องจะปรับไว้ที่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน

หลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดลมในทางเดินอาหาร เช่น ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์ และควรเตรียมยาแก้อาเจียนเผื่อไปด้วยเสมอ

ข้อสำคัญ อย่าลืมนำเอกสารเกี่ยวกับการฝากครรภ์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ และยาบำรุงครรภ์ติดตัวไปด้วย (และใบรับรองแพทย์กรณีที่จำเป็น) อย่างไรก็ดี หากวางแผนจะเดินทางโดยเครื่องบิน ควรปรึกษาหารือกับสูติแพทย์ผู้ดูแลเพื่อให้แน่ใจเสียก่อนว่า ไม่มีข้อบ่งห้ามที่อาจไม่ทราบมาก่อน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่