ทำความรู้จัก ศาสนาเชน

ประวัติความเป็นมา

ศาสนาเชน หรือ ไชนะ แปลว่า ผู้ชนะ คำว่า "เชน" เป็นชื่อของศาสดาผู้ตั้งศาสนา จึงตั้งชื่อศาสนาว่า ศาสนาเชน เป็นการตั้งชื่อศาสนาเพื่อให้เกียรติแก่ผู้เป็นศาสดา เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนา ก็เป็นการตั้งชื่อตามพระนามเกียรติยศคือ พุทธ แปลว่า ท่านผู้ตรัสรู้ ศาสนาเชนเป็นอเทวนิยมเช่นเดียวกับพุทธศาสนา

ในอินเดียปัจจุบันมีศาสนาสำคัญ 3 ศาสนา คือ พราหมณ์-ฮินดู พุทธศาสนา และศาสนาเชน ศาสนาเชนเกิดขึ้นในอนุทวีปอินเดียเมื่อประมาณศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.  (600 + 2012 = 2,612 ปี)

ศาสนานี้คัดค้านศาสนพิธีและความเชื่อในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ เช่น ศาสนิกชนมีความเชื่อว่า พระมหาวีระคือศาสดาหรือ  "องค์ตีรถังกร" (ผู้สร้างทางข้ามพ้นไป) เป็นศาสดาองค์ที่ 24 ของศาสนาเชน ดังนั้น ศาสนาเชนจึงมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ก่อนหน้าศาสดาพระมหาวีระช้านาน และเชื่อกันว่าพระมหาวีระ คือ องค์ศาสดา หรือ ตีรถังกร องค์สุดท้ายของศาสนาเชน

ศาสดาองค์ก่อนพระมหาวีระคือ องค์ศาสดาปราศวนาท ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนการ  นิพพานของมหาวีระ 250 ปี ปัจจุบันสาวกศาสนาเชนมีอยู่ประมาณ 2,000,000 คน กระจัดกระจายกันอยู่ในเกือบทุกรัฐของอินเดีย แต่ส่วนใหญ่จะมีอยู่มากในบริเวณภาคตะวันตกของอินเดีย อุตรประเทศ ไมเซอร์ มัธยมประเทศ และมหาราษฏรในอินเดีย ส่วนเชนศาสนิกในต่างประเทศไม่มีผู้นับถือ

ศาสดา

ศาสดาของศาสนาเชน เดิมมีนามว่า "วรรธมาน" แปลว่า ผู้เจริญมีกำเนิดในสกุลกษัตริย์ เมืองเวสาลี พระบิดานามว่า สิทธารถะ พระมารดานามว่า ตริศาลา เมื่อเจริญวัยได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์หลายอย่างโดยควรแก่ฐานะแห่งกษัตริย์ เผอิญวันหนึ่งขณะเล่นอยู่กับสหาย ได้มีช้างตกมันตัวหนึ่งหลุดออกจากโรงวิ่งมาอาละวาด ทำให้ฝูงชนแตกตื่นตกใจ ไม่มีใครจะกล้าเข้าใกล้และจัดการช้างตกมันตัวนี้ให้สงบได้ แต่เจ้าชายวรรธมานได้ตรงเข้าไปหาช้าง และจับช้างพากลับไปยังโรงช้างได้ตามเดิม เพราะเหตุที่แสดงความกล้าหาญจับช้างตกมันได้จึงมีนามเกียรติยศว่า "มหาวีระ" แปลว่า ผู้กล้าหาญมาก

มหาวีระมีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน 2 องค์ คือ พระเชษฐภคินี และพระเชษฐภาดา พระมหาวีระ เป็นโอรสองค์สุดท้าย
เมื่อเจ้าชายวรรธมานมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา ทรงได้รับพิธี ยัชโญปวีต คือพิธี สวมด้ายมงคลแสดงพระองค์เป็นศาสนิกตามคติศาสนาพราหมณ์ หลังจากพระบิดาได้ทรงส่งเจ้าชายวรรธมานไปศึกษาลัทธิของพราหมณาจารย์หลายปี เจ้าชายทรงสนพระทัยในการศึกษาแต่ในพระทัยมีความขัดแย้งกับคำสอนของพราหมณ์ที่ว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุดในโลก ส่วนวรรณะอื่นต่ำต้อย แม้วรรณะกษัตริย์ยังต่ำกว่าวรรณะพราหมณ์ แต่แล้วพวกพราหมณ์ได้ประพฤติกาย วาจา และ ใจ เลวทรามไปตามทิฐิและลัทธินั้น ๆ

เมื่อเจ้าชายวรรธมานมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา พระบิดาทรงจัดให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา ซึ่งเวลาต่อมาได้พระธิดาองค์หนึ่งนามว่า อโนชา หรือ ปริยทรรศนา เจ้าชายวรรธมานกับพระชายาได้เสวยสุขในฆราวาสวิสัยด้วยความเกษมสำราญจนพระชนมายุได้ 28 พรรษา มีความเศร้าโศกเสียพระทัยอย่างมากจากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดาและพระมารดา ด้วยวิธีการอดอาหารตามข้อวัตรปฏิบัตรในศาสนาพราหมณ์ซึ่งเรียกว่า "ศาสนอัตวินิบาตกรรม" ซึ่งถือว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง

การสูญเสียพระบิดาและพระมารดาได้ทำให้เจ้าชายทรงเศร้าพระทัยมาก ทรงสละพระชายาและพระธิดา เปลี่ยนผ้าคลุมพระกายเป็นแบบนักพรต เสด็จออกจากนครไพสาลี และได้ทรงประกาศมหาปฏิญญาในวันนั้นว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 12 ปี ขอไม่พูดกับใครแม้คำเดียว พระมหาวีระได้ทรงบำเพ็ญตนเป็น  นักพรตถือการขอเป็นอาชีพ ได้เสด็จเที่ยวไปตามคามนิคมต่าง ๆโดยมิได้พูดอะไรกับใครเป็นเวลา 12 ปี ได้บรรลุความรู้ขั้นสูงสุดเรียกว่า ไกวัล ถือเป็นผู้หลุดพ้นกิเลสทั้งปวง เป็นพระอรหันต์และเป็นผู้ชนะโดยสิ้นเชิง

เมื่อพระมหาวีระได้ทรงบรรลุไกวัลแล้ว จึงทรงพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องละปฏิญญานั้นเสียกลับมาสู่ภาวะเดิมคือยอมพูดกับคนทั้งหลาย เพื่อช่วยกันปฏิรูปความคิดและความประพฤติเสียใหม่ แล้วได้เริ่มเที่ยวประกาศศาสนาใหม่อันได้นามว่า เชน
ศาสดามหาวีระได้ทรงใช้เวลาในการสั่งสอนสาวกไปตามคามนิคมต่างๆเป็นเวลา 30 ปี และได้ทรงเข้าถึงนิพพานหรือมรณภาพ เมื่อมีพระชนมายุได้ 72 พรรษา ในประมาณปีที่ 572 ก่อน ค.ศ. ที่เมืองปาวา หรือสาธารณรัฐมัลละ และปาวาบุรีนี้ได้เป็นสังเวชนียสถานสำหรับศาสนิกเชนทุกคน

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่