วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2012 เวลา 11:25 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน Financial - คอลัมน์ : การเงิน Financial
ตลาดหุ้นไทยอำลาปี 2555 ได้สวย ปิดที่ 1,391.93 จุด ให้กำไรนักลงทุนถึง 34.32 % มีเฮดัชนีทะยานขึ้นทดสอบ 1,400 จุดสำเร็จ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 7.69 หมื่นล้าน นักวิเคราะห์เผยปีมะเส็งหุ้นเล่นยาก เหตุราคาหุ้นแพง ชี้ดัชนี 1,390 จุด พี/อี 15.7 เท่า ถือเป็นภาวะผิดปกติ เทียบหลังตลาดฟื้นจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 พีอีหุ้นไทยอยู่ที่ 14 เท่า
ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกก็ยังมีเม็ดเงินไหลเข้า ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีเฮวันสุดท้ายของปี (28 ธ.ค.) พลันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดทำการดัชนีทะยานตัวขึ้นทดสอบ 1,400 จุด มาที่ 1,401.58 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดหรือนิวไฮในรอบ 16 ปี แต่ก็ไม่สามารถต้านแรงขายทำกำไรของนักลงทุนได้ จึงอ่อนตัวลงมาปิดที่ 1,391.93 จุด เพิ่มขึ้น 355.72 จุด จากวันแรกของปี (4 ม.ค.) โดยนักลงทุนที่ลงทุนตั้งแต่วันแรกของปีถึงวันสุดท้ายของปี สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 34.32 %
ตลาดหุ้นไทยปี 2555 มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 3.11 หมื่นล้านบาท การซื้อขายของนักลงทุนแยกประเภทแบ่งเป็น นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 2.49 หมื่นล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 7.19 พันล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 7.69 หมื่นล้านบาท นักลงทุนในประเทศขายสุทธิ 5.92 หมื่นล้านบาท
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่วันสุดท้ายของปี 2555 ดัชนีสามารถขึ้นทดสอบ 1,400 จุด มีปัจจัยหนุน 3 เรื่อง คือ 1. แรงซื้อดักเม็ดเงินต่างชาติที่คาดว่าจะไหลเข้าในปี 2556 และการคาดการณ์ว่าเดือนมกราคมของทุกปีตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวขึ้น หรือแจนยัวรี เอฟเฟกต์ โดยอิงปัจจัยข่าวหน้าผาการคลังของประเทศสหรัฐอเมริกา (fiscal cliff )ไม่ว่าจะตกหรือไม่ตกหน้าผาการคลัง คาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่า และเงินลงทุนไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงโดยคาดว่าไม่เข้าทองคำหรือ น้ำมัน แต่จะไหลเข้าตลาดหุ้น (เพราะถือหุ้น 2-3 เดือน มีปันผลแน่นอนแต่ถ้าถือสินทรัพย์เสี่ยงอื่นไม่มีปันผล)
2.ราคาหุ้นอาเซียนถูกกว่าค่าเฉลี่ยหุ้นเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) และยังมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยอีกราว 3-4% บวกกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน อิงสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ,เยน และยูโร ที่คาดว่าจะอ่อนค่าจากมาตรการผ่อนคลายการเงินเป็นพิเศษ Quantitative Easing (QE)หรือมาตรการคิวอี
และ 3. คาดว่าแรงขายจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF )ที่ครบกำหนดต้นปี 2556 มีผลต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด ภายใต้สมมติฐาน หุ้นขึ้นทำให้การถอนหน่วยลงทุนมีจำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหรือบลจ.มีการบริหารสภาพคล่อง ทำให้การขายไม่กระเทือนต่อตลาด
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2556 นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัสฯ คาดว่าในช่วง 1-3 เดือนแรก(ม.ค.-มี.ค.) ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกเทขายทำกำไรของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ประมาณ 1หมื่นล้านบาท จากเม็ดเงินที่มีประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท หลังกองทุนลดหย่อนภาษีทั้ง 2 ประเภทสามารถสร้างกำไรกว่า 100 % เมื่อเทียบจากเงินทุนเมื่อ 5 ปีก่อน (ปี 2551 )ที่มีมูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศนั้นยังคาดการณ์ลำบาก ทั้งการไหลเข้าลงทุนเพิ่ม และมีโอกาสที่อาจขายทำกำไรด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจะมีความชัดเจนขึ้น ดังนั้นหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ผสมโรงขาย แต่กลับมีแรงซื้อเข้ามา ก็คาดว่าไม่สามารถดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯตัวขึ้นมาก โดยคาดว่าจะใกล้เคียงกับจุดปิดวันสุดท้ายของปี 2555
อย่างไรก็ตามนายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ 1,390 จุด ระดับราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นหรือพีอี เรโช ที่ 15.7 เท่า ถือเป็นภาวะที่ผิดปกติและยังสะท้อนว่าราคาหุ้นไม่ถูกแล้ว อีกทั้งยังเป็นระดับพี/อีที่สูงที่สุดตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งในขณะนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่พี/อีเฉลี่ย 14 เท่า เท่านั้น
สำหรับคำแนะนำการลงทุนในช่วง 1-3 เดือนแรกของปี 2556 บล.เอเซีย พลัสฯ แนะลงในหุ้นที่ผันผวนต่ำและจ่ายปันผลสูง โดยให้ลงทุนในสัดส่วน 40 % ของพอร์ต แนะนำกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 7 % ที่เหลือแนะนำให้ซื้อๆขายๆหรือเก็งกำไรตามสภาวะตลาดและถือเงินสดรอลงทุน
ขณะที่คาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2556 มีโอกาสปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 1,530 จุด โดยมีพี/อีที่ 15 เท่า หากพี/อีที่ 14 เท่า ดัชนีมีโอกาสไปได้ที่ 1,422 จุด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,805
วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555 - 2 มกราคม พ.ศ. 2555
หุ้นไทยปี 55 ให้กำไร 34.32 % นักวิเคราะห์เตือนไตรมาสแรกปีมะเส็งดิ่งแรง!
ตลาดหุ้นไทยอำลาปี 2555 ได้สวย ปิดที่ 1,391.93 จุด ให้กำไรนักลงทุนถึง 34.32 % มีเฮดัชนีทะยานขึ้นทดสอบ 1,400 จุดสำเร็จ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 7.69 หมื่นล้าน นักวิเคราะห์เผยปีมะเส็งหุ้นเล่นยาก เหตุราคาหุ้นแพง ชี้ดัชนี 1,390 จุด พี/อี 15.7 เท่า ถือเป็นภาวะผิดปกติ เทียบหลังตลาดฟื้นจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 พีอีหุ้นไทยอยู่ที่ 14 เท่า
ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกก็ยังมีเม็ดเงินไหลเข้า ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีเฮวันสุดท้ายของปี (28 ธ.ค.) พลันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดทำการดัชนีทะยานตัวขึ้นทดสอบ 1,400 จุด มาที่ 1,401.58 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดหรือนิวไฮในรอบ 16 ปี แต่ก็ไม่สามารถต้านแรงขายทำกำไรของนักลงทุนได้ จึงอ่อนตัวลงมาปิดที่ 1,391.93 จุด เพิ่มขึ้น 355.72 จุด จากวันแรกของปี (4 ม.ค.) โดยนักลงทุนที่ลงทุนตั้งแต่วันแรกของปีถึงวันสุดท้ายของปี สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 34.32 %
ตลาดหุ้นไทยปี 2555 มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 3.11 หมื่นล้านบาท การซื้อขายของนักลงทุนแยกประเภทแบ่งเป็น นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 2.49 หมื่นล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 7.19 พันล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 7.69 หมื่นล้านบาท นักลงทุนในประเทศขายสุทธิ 5.92 หมื่นล้านบาท
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่วันสุดท้ายของปี 2555 ดัชนีสามารถขึ้นทดสอบ 1,400 จุด มีปัจจัยหนุน 3 เรื่อง คือ 1. แรงซื้อดักเม็ดเงินต่างชาติที่คาดว่าจะไหลเข้าในปี 2556 และการคาดการณ์ว่าเดือนมกราคมของทุกปีตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวขึ้น หรือแจนยัวรี เอฟเฟกต์ โดยอิงปัจจัยข่าวหน้าผาการคลังของประเทศสหรัฐอเมริกา (fiscal cliff )ไม่ว่าจะตกหรือไม่ตกหน้าผาการคลัง คาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่า และเงินลงทุนไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงโดยคาดว่าไม่เข้าทองคำหรือ น้ำมัน แต่จะไหลเข้าตลาดหุ้น (เพราะถือหุ้น 2-3 เดือน มีปันผลแน่นอนแต่ถ้าถือสินทรัพย์เสี่ยงอื่นไม่มีปันผล)
2.ราคาหุ้นอาเซียนถูกกว่าค่าเฉลี่ยหุ้นเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) และยังมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยอีกราว 3-4% บวกกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน อิงสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ,เยน และยูโร ที่คาดว่าจะอ่อนค่าจากมาตรการผ่อนคลายการเงินเป็นพิเศษ Quantitative Easing (QE)หรือมาตรการคิวอี
และ 3. คาดว่าแรงขายจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF )ที่ครบกำหนดต้นปี 2556 มีผลต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด ภายใต้สมมติฐาน หุ้นขึ้นทำให้การถอนหน่วยลงทุนมีจำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหรือบลจ.มีการบริหารสภาพคล่อง ทำให้การขายไม่กระเทือนต่อตลาด
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2556 นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัสฯ คาดว่าในช่วง 1-3 เดือนแรก(ม.ค.-มี.ค.) ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกเทขายทำกำไรของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ประมาณ 1หมื่นล้านบาท จากเม็ดเงินที่มีประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท หลังกองทุนลดหย่อนภาษีทั้ง 2 ประเภทสามารถสร้างกำไรกว่า 100 % เมื่อเทียบจากเงินทุนเมื่อ 5 ปีก่อน (ปี 2551 )ที่มีมูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศนั้นยังคาดการณ์ลำบาก ทั้งการไหลเข้าลงทุนเพิ่ม และมีโอกาสที่อาจขายทำกำไรด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจะมีความชัดเจนขึ้น ดังนั้นหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ผสมโรงขาย แต่กลับมีแรงซื้อเข้ามา ก็คาดว่าไม่สามารถดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯตัวขึ้นมาก โดยคาดว่าจะใกล้เคียงกับจุดปิดวันสุดท้ายของปี 2555
อย่างไรก็ตามนายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ 1,390 จุด ระดับราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นหรือพีอี เรโช ที่ 15.7 เท่า ถือเป็นภาวะที่ผิดปกติและยังสะท้อนว่าราคาหุ้นไม่ถูกแล้ว อีกทั้งยังเป็นระดับพี/อีที่สูงที่สุดตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งในขณะนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่พี/อีเฉลี่ย 14 เท่า เท่านั้น
สำหรับคำแนะนำการลงทุนในช่วง 1-3 เดือนแรกของปี 2556 บล.เอเซีย พลัสฯ แนะลงในหุ้นที่ผันผวนต่ำและจ่ายปันผลสูง โดยให้ลงทุนในสัดส่วน 40 % ของพอร์ต แนะนำกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 7 % ที่เหลือแนะนำให้ซื้อๆขายๆหรือเก็งกำไรตามสภาวะตลาดและถือเงินสดรอลงทุน
ขณะที่คาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2556 มีโอกาสปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 1,530 จุด โดยมีพี/อีที่ 15 เท่า หากพี/อีที่ 14 เท่า ดัชนีมีโอกาสไปได้ที่ 1,422 จุด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,805
วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555 - 2 มกราคม พ.ศ. 2555