เอาบทความ ดี ๆ ..มาให้อ่านครับ

กระทู้สนทนา
นักการเมืองไทยมีอุดมการณ์ เพื่อชาติ เพื่อประชาชน หรือเพื่อตัวเอง


การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เป็นต้น จะเห็นได้ว่า แม้การปกครองระบอบนี้ของไทยที่เราอ้างว่ามีอายุยืนยาวมาถึงแปดสิบปีเต็ม ซึ่งต่างกว่าประเทศที่กล่าวข้างต้นซึ่งเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในความเป็นจริงนั้น การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นเพียงปรากฏเป็นตัวหนังสือที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ เท่านั้น

เพราะในทางปฏิบัตินั้น นักการเมืองจะอ้างอยู่เสมอว่า เขาเป็นตัวแทนจากประชาชน โดยได้รับการเลือกตั้งมา ซึ่งถ้าขุดลึกลงไปจะพบว่า ตัวแทนเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้มาจากการซื้อสิทธิ หลอกลวง รวมทั้งใช้อิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม มีเพียงส่วนน้อยที่ได้มาตามแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ฉะนั้นเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ถ้าพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากหรือรวมกับพรรคการเมืองอื่น ได้อำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล(เป็นรัฐมนตรีตามโควตา) ก็จะตั้งพรรคพวกให้มีตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตอบแทน

ผลทำให้คุณภาพของผู้มีตำแหน่งทางการเมืองแทนที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน อย่างแท้จริง กลับใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อผลประโยชน์แห่งตนและพวกพ้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันข้าราชการประจำตกในภาวะน้ำท่วมปาก เพราะถูกสุภาษิตที่ว่า ค่าของคนอยู่ที่ของใคร จึงต้องสยบกับนักกินเมือง

แม้แต่บรรดาผู้มีตำแหน่งทางการเมืองด้วยกันเอง กล่าวกันว่า การตั้งคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสังกัด ก็ต้องฟังคำสั่งจากผู้มีอำนาจเบื้องบน รัฐมนตรีเจ้าสังกัดไม่มีสิทธิแต่งตั้งแม้แต่คนเดียว

นโยบายในการบริหารประเทศแทนที่จะเกิดจากผลประโยชน์ของประชาชน ตรงกันข้ามนักการเมืองผู้มีอำนาจมองถึงผลประโยชน์ของตน แต่เสแสร้งโยนเศษอาหารให้ประชาชน ซึ่งได้แก่ โครงการประชานิยมต่างๆ

ซึ่งเศษอาหารเหล่านั้นก็มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

สิ่งที่กล่าวมานี้ ถ้าเป็นในประเทศประชาธิปไตยอื่น ประชาชนเขาจะไม่ยอมให้ถูกต้มตามสุภาษิตที่ว่า อัฐยาย ซื้อขนมยาย แต่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยซ่อนรูป (ประชาธิปไตยเผด็จการ) มีนักการเมืองประเภทศรีธนญชัยอยู่มากที่เห็นประชาชนเป็นคนโง่

อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ถ้าประชาชนเจ้าของประเทศยังยึดถือคติที่ว่า ธุระไม่ใช่ จึงเกิดผลจากการสำรวจความเห็นของเยาวชนที่ตอบว่า โกงไม่เป็นไร ถ้าเขามีส่วนได้ด้วย แสดงว่า สังคมไทยเป็นสังคมเอาตัวรอด ซึ่งผลที่สุดบ้านเมืองจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

ขอยกตัวอย่างสังคมที่ประชาชนเอาใจใส่ต่อบ้านเมืองในประเทศสวีเดน ตัวอย่างที่ 1 เรื่องมีอยู่ว่า ประธานสหภาพแรงงานถูกจับได้ว่าคอร์รัปชั่น เพราะเพื่อนบ้านติดตามพฤติกรรม ในเรื่องรายได้ของเขามีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย จึงแจ้งให้ทางการค้นบ้าน พบว่ามีเงินจำนวนมากเก็บไว้ในบ้าน (เพราะถ้าฝากธนาคารจะต้องแจ้ง) สุดท้ายถูำเนินคดีคอร์รัปชั่น

ตัวอย่างที่ 2 นายทหารชั้นผู้ใหญ่เอารถราชการไปเที่ยวชายทะเล ประชาชนไปฟ้องผู้ตรวจการรัฐสภา ผลก็คือ นายทหารผู้นั้นต้องถูกออกจากราชการ นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น

ส่วนประเทศไทยมีนักการเมืองที่ร่ำรวยอย่างน่าพิศวง แต่ได้รับการยกย่องจากสื่อและสังคมจนกระทั่งครั้งหนึ่ง พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีฯ เคยขอร้องไม่ให้ประชาชนไหว้คนโกง

สุดท้ายใคร่จะนำเรื่องจริงที่เกิดกับนักการเมืองคนดังคนหนึ่ง เมื่อเป็นนักการเมืองใหม่ๆ แจ้งทรัพย์สินว่ามี 6 ล้านบาท เพื่อนๆที่มหาวิทยาลัยตกใจว่า มันมีได้อย่างไร แต่ปัจจุบันอาจมีมากกว่า 10 หรือ 100 เท่า เพราะนักการเมืองผู้เป็นผู้นำคนหนึ่งของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ไพร่

จากตัวอย่างนี้จึงเป็นเหตุผลที่คนบางคน บางกลุ่ม ต้องการเป็นนักการเมือง มิใช่เพื่อชาติ เพื่อประชาชน แต่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งเงินและเลื่อนฐานะจากไพร่เป็นอำมาตย์ โดยเหยียบหัวเพื่อนไพร่ทั้งหลาย....นี่แหละสังคมไทย

ที่มา:http://www.naewna.com/politic/columnist/4672

ปล.ถ้าอ่านแล้ว รู้สึดหงุดหงิด แสดงว่าท่าน เริ่มตาสว่างแล้วครับ...เอิ๊ก ๆ ๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่