อีก 50 ปีข้างหน้า ผู้คนจะจดจำ บิล เกตส์ ในขณะที่ สตีฟ จ็อบส์ จะถูกลืมเลือน

กระทู้สนทนา
อีก 50 ปีข้างหน้า ผู้คนจะจดจำ บิล เกตส์ ในขณะที่ สตีฟ จ็อบส์ จะถูกลืมเลือน --- เชื่อหรือไม่ ???

หลายคนคงคิดว่าเป็นการยากที่จะเชื่อ แต่คนที่พูดเช่นนี้คือ มัลคอล์ม เกลดเวลล์ นักเขียนจากวารสาร เดอะ นิว ยอร์กเกอร์ (The New Yorker) และผู้แต่งหนังสือระดับ Best Sellers หลายเล่ม เช่น The Tipping Point (ฉบับแปลไทยชื่อ จุดชนวนคิด พลิกสถานการณ์) และ Outliers (ฉบับแปลไทยชื่อ สัมฤทธิ์พิศวง) เกลดเวลล์แสดงความเห็นของเขาออกมาในงาน Appel Salon ณ ห้องสมุด Toronto Public Library ประมาณปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่คนในวงการไอทีถกเถียงกันมากมาย

เกลดเวลล์กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เขาเชื่อว่าผู้คนจะจดจำเกตส์ได้จากงานการกุศลของเขา เขายังพูดด้วยว่าผู้คนก็จะลืมเลือนไปด้วยว่าไมโครซอฟท์คืออะไร ผู้คนจะลืมสตีฟ จ็อบส์ แต่จะมีอนุสาวรีย์ของเกตส์ตามประเทศโลกที่สามเต็มไปหมด

ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันว่างานการกุศลของเกตส์คืออะไร และมีความแตกต่างจากงานการกุศลอื่น ๆ อย่างไร เกตส์ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอเพื่ออุทิศเวลาของตัวเองให้กับมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่เกตส์และภรรยาตั้งขึ้น โดยเกตส์และภรรยาได้บริจาคเงินเกือบเก้าแสนล้านบาท (ถ้านึกไม่ออกว่าเยอะขนาดไหนก็ขอให้ลองนึกว่าสหประชาชาติมีงบประมาณซึ่งได้รับจากเงินบริจาคจากประเทศสมาชิกทั่วโลกปีละแสนสามหมื่นล้านท แปลว่าเงินที่เกตส์บริจาคนั้นเท่ากับที่แต่ละประเทศทั่วโลกจ่ายกันประมาณ 7 ปี)

และสิ่งที่แตกต่างคือเกตส์ได้ใช้ความเป็นนักธุรกิจตัวยงของเขาในการบริหารมูลนิธิ เกตส์ใช้หลักการของการลงทุนเพื่อที่จะให้เงินที่ใช้ไปนั้นให้ผลลัพธ์ได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือเกิดผลกระทบต่อผู้คนมากที่สุด มูลนิธิมีโครงการช่วยเหลือที่เน้นไปในปัญหายาก ๆ ทางด้านสุขภาพ ความยากจน และการศึกษา

ถึงแม้จำนวนเงินและวิธีการที่เกตส์บริหารเงินการกุศลจะน่าสนใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือเกตส์ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งในการชักชวนให้คนอื่น ๆ โดยเฉพาะบรรดาเศรษฐีร่วมบริจาคเงินเพื่อการกุศลเช่นกัน โดยไม่จำเป็นว่าต้องบริจาคให้มูลนิธิของเขา ในบรรดาคนที่เกตส์ร่วมชักชวนให้บริจาคนั้นมีวอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าพ่อตลาดหุ้นซึ่งถูกจัดว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอีกคนหนึ่ง บัฟเฟตต์ ตกลงที่จะบริจาคเงินให้กับมูลนิธิของเกตส์โดยมีเงื่อนไขคือมูลนิธิจะต้องใช้เงินเท่า ๆ กับเงินที่เขาบริจาคไปในแต่ละปี ซึ่งมีผลเท่ากับทำให้งบประมาณในแต่ละปีของมูลนิธินั้นเพิ่มเป็นสองเท่านั่นเอง

เกตส์และภรรยาได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อ The Power of Half ซึ่งเล่าเรื่องราวของครอบครัว Salven ที่ขายบ้านของเขาทิ้งและนำเงินครึ่งหนึ่งที่ได้จากการขายบ้านมาบริจาคใกับการกุศล เกตส์ได้ร่วมก่อตั้งโครงการ The Giving Pledge โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐีต่าง ๆ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินอย่างน้อย ครึ่งหนึ่ง ของเงินที่มีอยู่กับโครงการการกุศล

โครงการนี้มีผู้สนใจเป็นอย่างมาก และมีผู้ร่วมโครงการให้คำสัญญาว่าจะบริจาคเงินรวมกันแล้วเกือบสี่ล้านล้านบาท ผู้ร่วมโครงการที่สำคัญที่เรารู้จักกันดีได้แก่ตัวเกตส์เอง บัฟเฟตต์ และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกตส์ทำนั้นมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อคนทั่วโลก สิ่งที่เกลดเวลล์พยายามชี้ให้เห็นคือ ถึงแม้ว่า ณ วันนี้ผู้คนจะจดจำ สตีฟ จ็อบส์ ในฐานะนักคิด นักธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ในระยะยาวแล้วสิ่งที่คนจะจดจำก็คือผลกระทบที่คนผู้นั้นจะมีต่อโลกนั่นเอง และในแง่ดังกล่าว เกลดเวลล์เชื่อว่าคนจะจดจำเกตส์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

คุณคิดว่าคนจะจดจำคุณว่าอย่างไร และจดจำไปนานแค่ไหน?

( Cr. นัทที นิภานันท์ www.dailynews.co.th )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่