=======================เรื่องของซอ ที่สีให้ควายฟัง======================

กระทู้สนทนา
สีซอให้ควายฟัง...
สุภาษิตคำพังเพยไทยแต่โบราณกาล

เป็นที่รู้จักกันดีในความหมายของมัน...สำหรับท่านที่ยังไม่รู้จัก
ก็อยากจะบอกว่า มันหมายถึงการพร่ำพูด พร่ำบอก พร่ำสอน

จนคนพูด กลายเป็นคนพล่าม...

แต่คนฟัง มันไม่ยอมรับฟัง หรือดื้อด้าน ไม่สนใจที่จะฟัง

ถ้าจะมองกันในอีกแง่มุมหนึ่งของการพูด  คนที่พูด แน่ใจแล้วหรือว่า...

พูดในเรื่องที่คนอยากจะฟัง  
หรือพูดแบบน้ำท่วมทุ่ง หาสาระเนื้อหาไม่เจอ
คนฟังเลยเบื่อที่จะฟังและทำตาม

ท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต...เจ้าอาวาสวัดประยูรฯ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประชุมสงฆ์เพื่อเทศนาธรรม
พระพุทธองค์ทรงกอบใบไหม้แห้งมากำมือหนึ่งแล้วตรัสถามว่า

ใบไม้ที่มีในป่ากับใบไม้ที่อยู่ในกำมือ อันไหนมีมากกว่ากัน

สงฆ์ทั้งหลายตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าในป่ามีมากกว่า

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ความรู้ทั้งหมดที่เรามีอยู่ ก็เหมือนใบไม้ทั้งป่า
แต่ไร้ประโยชน์ที่จะนำมากล่าวถึง  
เราจะบอกและสอนแต่เพียงสิ่งซึ่งเป็นสาระประโยชน์แก่พวกเธอ และมวลมนุษย์ทั้งปวง ที่เป็นอริยสัจจสี่ประการ...

คือเรื่องทุกข์และทางดับทุกข์...


ครับ..เรื่องเดียวจริงๆที่พระพุทธองค์สอน

แต่เรื่องเดียวนี้แหละ  หาคนฟัง คนเข้าใจยากเหลือประมาณ

มันจึงเป็นที่มาของการ...พล่ามสอน...

เป็นที่มาของคำว่า...สีซอให้ควายฟัง...ในความรู้สึกของคนพูดถ่ายเดียว

สีซอให้ควายฟัง แล้วควายไม่ฟัง จริงหรือ..?
มาณพน้อยนักซอรำพึง...

เราก็หนึ่งในตองอู...ง่า...หนึ่งในสยามเมืองยิ้มฝีมือซอเป็นเลิศ
จะยอมแพ้ควายกระนั้นหรือ ?

ว่าแล้วมาณพน้อยหนวดงามนามพจนารถ...ก็คว้าซอประดับด้วยมุกไฟ
งามตระการตา เดินดุ่มไปกลางนา ทรุดตัวลงนั่งตรงหน้าควาย

ว่าพลางบรรเลงเพลงซอเสียงไพเราะเสนาะจับใจ..
แต่ควายก็ยังเล็มหญ้าอย่างเพลิดเพลินไม่สะดุ้งสะเทือนไปกับเสียงซอ

แม้จะเปลี่ยนเพลงไปหลายท่วงท่าทำนอง....

แม้แต่เพลงเขมรไล่ควาย ก็ถูกนำมาบรรเลงอย่างประณีตบรรจง

....แต่ควายก็ยังไม่ตื่นเต้นที่จะฟัง...

บัดเดี๋ยวใจ....พจนารถหนุ่มผู้เชี่ยวในเชิงซอ  ก็เปลี่ยนวิธีใหม่
เริ่มขยับคันซอกระทบสาย ฟังเหมือนเสียงแมลงหวี่กรีดปีก...

อ๊ะ...เริ่มได้ผล ควายเริ่มขยับสะบัดหู

มาณพหนุ่มหนวดงามเปลี่ยนเสียงบรรเลง เป็นเสียงหมาเห่า...

ได้ผลแฮะ เจ้าควายถึกชะงักการกินหญ้า
สอดส่ายตามองไปทั่วเหมือนระวังภัย

แค่นั้นยังไม่พอ การทดลองยังคงดำเนินต่อไปด้วยเสียงควายลูกแหง่
ควายตัวนั้นเดินเข้ามาใกล้  มาณพน้อยถอยห่างพลางสีซอ

เจ้าควายก็ยังเดินตามมาอย่างไม่ลดละ...

บัดนั้นเอง มาณพน้อยพลันรู้แจ้งเห็นจริง ว่า...การจะสีซอให้ควายฟังนั้น
พึงเรียนรู้ให้แจ้งประจักษ์ถึงธรรมชาติควาย

อย่าเอาแต่เฉพาะความรู้ตนไปพ่นใส่สมองควายถ่ายเดียว..
เพราะถ้าทำแบบนั้น ก็เท่ากับว่า...คนกับควายมีสมองไม่ต่างกัน....

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...

ว่าอย่างไร ?....คิดเอาเองละกันเด้อ...!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่