เกมดุ "เก้าอี้ดนตรี" "เด็กติว" ปะทะ "กินด่วน" กลายเป็นปรากฏการณ์

กระทู้ข่าว
กลายเป็น"แมคติวเตอร์" ไปเรียบร้อยแล้ว หลังเกิดเหตุกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ยกโขยงเข้ายึดครองพื้นที่ใน "ร้านแมคโดนัลด์" หลายสาขาตามจุดยุทธศาสตร์ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อปักหลัก "ติวหนังสือ" บางรายถึงขั้นสิงสถิตข้ามวันข้ามคืน สืบเนื่องจากความใจกว้างของร้านแบรนด์ดัง พูดง่าย ๆ ก็คือ มีธรรมเนียม

ไม่ไล่ลูกค้าที่นั่งแช่หลายชั่วโมง

"ร้านฟาสต์ฟู้ด" จึงแปลงโฉมเป็น "สถาบันกวดวิชา" แบบไม่ตั้งใจ

กรณีนี้กลายเป็นชนวนข้อพิพาทระหว่างลูกค้าที่ต่าง "อ้างสิทธิ์" ในพื้นที่ แสดงความไม่พอใจเพราะหาเก้าอี้ว่างในร้านที่อุดมไปด้วยแก๊งเด็กเรียนไม่ได้เลย จะเหลือก็เพียงแต่โต๊ะ ส่วนเก้าอี้ถูกลากไปปักปันเขตแดนล้อมวงสนทนาวิชาการกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด บางโต๊ะก็มีเพียงเอกสารและกองหนังสือวางกระจัดกระจายบ่งบอกเขตอธิปไตยของตน

แต่นั่นก็เป็นสิทธิ์ของแก๊งเด็กเรียนที่ควักเงินซื้ออาหารไม่ต่างกับลูกค้าคนอื่น ๆ จ่ายเหมือนกัน แต่นั่งนานกว่า และใครมาก่อนก็ย่อมมีสิทธิ์ก่อนเป็นธรรมดา ใครลุกเสียม้า

ไม่ต่างกับการเล่นเก้าอี้ดนตรี แต่คนมาทีหลังก็อยากขอสิทธิ์นั่งบ้าง

ข้อพิพาท "พื้นที่ทับซ้อน" แห่งนี้ถูกหยิบยกขึ้นไปเปิดประเด็นฮอตในโลกไซเบอร์ นักเลงคีย์บอร์ดต่างช่วยกันแชร์ วิพากษ์วิจารณ์ กระโดดร่วมวงสนามรบทางความคิดอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ประชดประชัน เหน็บแนม เห็นใจ กระทั่งต่อว่าอย่างรุนแรงร้องหา "จิตสำนึก" บนวิถีพื้นที่ส่วนรวมของคนไทย จุดเชื้อเพลิงจนเกิดประกาย

ไฟแห่ง "ความดราม่า"

เรื่องร้อนถึง "บริษัทแมคโดนัลด์ ประเทศไทย" ในฐานะเจ้าบ้าน เสนอทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากลูกค้าและสาธารณชนผ่านโซเชียลมีเดีย โดย 96.89% ของผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 1,370 คน ลงประชามติ "เห็นด้วย" เพราะเห็นว่าลูกค้าทุกคนควรได้รับบริการอย่างเท่าเทียม เหมาะสม มีจิตสาธารณะ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน

อันเป็นที่มาของการออกประกาศห้ามติวหนังสือ รวมกลุ่มทำงาน นัดประชุม สัมภาษณ์งาน ฯลฯ เป็นเวลานานเกินกว่าการใช้บริการปกติ (มากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป) หรือห้ามเข้ามานั่งเฉย ๆ โดยไม่สั่งอะไรเลย รวมถึงไม่ให้มีการวางสิ่งของทิ้งไว้เพื่อจองโต๊ะ พร้อมยินดีให้ชาร์จแบตเตอรี่แต่ไม่เกิน 30 นาที

"สายชล ทรัพย์มากอุดม" ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ของแมคฯไทย ชี้แจงเหตุผลว่า "สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนและข้อเสนอแนะจากลูกค้าเป็นจำนวนมากที่ซื้ออาหารแล้ว

แต่ไม่มีที่นั่งในร้านแมคโดนัลด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ลูกค้าหนาแน่น (peak hour) เช่น มื้อกลางวัน ช่วงเย็น หรือแม้กระทั่งวันหยุด

เสาร์-อาทิตย์ เพราะมีการจับจองโต๊ะเก้าอี้ใช้สอนหนังสือ

เป็นกลุ่มหรือทำงานกลุ่ม โดยสั่งเครื่องดื่มหรือชุดอาหารวางไว้ที่โต๊ะเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือตลอดทั้งวัน ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์และให้บริการลูกค้าทุกท่าน

อย่างเท่าเทียมกัน บริษัทจึงได้ออกประกาศขอความร่วมมือดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีลูกค้าหนาแน่น"

จากการประเมินผล 1 เดือนที่ติดประกาศบนฝาผนัง และวางป้ายแจ้งเตือนบนโต๊ะทุกตัว เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียง ":-)ระดาษ" ไร้เขี้ยวเล็บจัดการในทางปฏิบัติ หนึ่งในเสียงสะท้อนดังจากผู้จัดการร้านแมคโดนัลด์ สาขาศาลาแดง เล่าให้ฟังว่า "ยังคงมีนักเรียนมานั่งติวหนังสือกันเป็นจำนวนมากเหมือนเดิม ยิ่งในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ติวเตอร์ขาประจำบางรายมานั่งตั้งแต่เช้ายันค่ำ แต่สั่งน้ำอัดลมแค่แก้วเดียว ส่วนป้ายประกาศที่วางบนโต๊ะต่างทยอยสูญหายเรื่อย ๆ แถมลูกค้าบางท่านยังเดินเข้ามาต่อว่าพนักงานเรื่องนี้อีกด้วย รวมถึงมีนักเรียนบางคนก็เดินมา

บอกให้ลดเสียงเพลงลง เพราะติวหนังสือไม่รู้เรื่อง"

ฉะนั้น อย่าแปลกใจที่ร้านสะดวกด่วนบางแห่งเหมือนจะจงใจเปิดเพลงเสียงดังคำรามกึกก้องในสาขาที่มีพื้นที่จำกัดจำเขี่ยจริง ๆ

แต่วิธีนี้ก็จะสร้างความรำคาญมากทีเดียว จึงเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเพราะอาจจะเสียลูกค้าไปได้โดยไม่ตั้งใจ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่เป็นข้อพิพาทเรื่องสิทธิ์ แต่ภาพติวเตอร์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย ยังรดน้ำพรวนดินให้ "ธุรกิจการศึกษา" เติบโตอย่างต่อเนื่อง ล้นทะลัก

จากสถาบันกวดวิชา ถ่ายเทสู่ "การสอนพิเศษแบบตัวต่อตัว" ชักชวนให้นิสิตนักศึกษาหัวดีจากสถาบันการศึกษาดังเลือกยึดเป็น "ติวเตอร์" เพราะลงทุนน้อย แต่ผลตอบแทนงาม ตั้งระดับราคาชั่วโมงไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงหลักพันบาท โดยเลือกใช้พื้นที่ในร้านอาหารแฟรนไชส์เป็นสำนักถ่ายทอดวิทยายุทธ์ให้ลูกศิษย์

คำถามต่อมา ไม่มีที่อื่นให้ติวหนังสือกันแล้วหรือ ?

เสียงเล็ก ๆ จากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ยอมควักจ่ายเงินเพื่อซื้อพื้นที่กิจกรรมบนโต๊ะอาหาร บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "เพราะไม่มีสถานที่ติวหนังสือ" พร้อมกับเหตุผลที่ว่า ถ้าไปติวห้องสมุดก็พูดคุยกันไม่ได้ กินขนมก็ไม่ได้ ติวดึกดื่นก็ไม่ได้

จะไปนั่งที่ศูนย์อาหารก็เสียงดังวุ่นวายเกินไป หรือในสวนสาธารณะก็อากาศร้อน ไม่รู้ว่าฝนจะตกตอนไหน แต่จะให้นั่งอ่านหนังสือ

ที่บ้านคนเดียวก็เหงา อ่านคนเดียวไม่นานก็ง่วงนอน ถึงยอมแบกสัมภาระออกจากบ้าน พร้อมยินยอมจ่ายเงินให้ร้านอาหารสักแห่ง และอดทนต่อสายตาที่กดดันอยู่รอบทิศทาง

แม้ความรู้สึกอัดอั้นของกลุ่มเด็กนักเรียนจะสุ่มเสี่ยงเกิดข้อครหาจากสายตาคนนอกว่า "ไม่เคารพสิทธิ์คนอื่น" หากมองลึกลงไปนั่นเพราะเด็กไทยขาดพื้นที่ใช้สอย ในข้อจำกัดเรื่องงบประมาณคงไม่มีเงินไปซื้อพื้นที่ส่วนตัว และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว เด็กในเมืองส่วนใหญ่จะคุ้นชินใช้ชีวิตในห้าง

ร้านอาหารติดแอร์ นั่งสบาย เมื่อลองคำนวณงบประมาณจึงสมเหตุสมผลที่จะเลือกลงเอยที่ร้านฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลดแต่บางคนที่กระเป๋าสตางค์หนักอาจเลือกขยับการเลื่อนดิวิชั่นไปนั่งเก๋ ๆ

ในร้านกาแฟหรู โดยเฉพาะ "สตาร์บัคส์" หรือ "ทรู คอฟฟี่"

แน่นอนว่าร้านหรูก็ประสบปัญหาเดียวกัน เพียงแต่ว่าความเกรงอกเกรงใจลูกค้าเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าร้านระดับไหนจึงทำได้เพียงแค่ "ขอความกรุณาอย่างเบา ๆ" เช่นเดียวกับ "สุมนพินทุ์ โชติกะพุกกณะ" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงยืนยันจุดยืนของสตาร์บัคส์ ให้เป็นสถานที่ที่ลูกค้าสามารถนั่ พักผ่อนและจิบกาแฟแก้วโปรดได้ตามต้องการ พร้อมเคารพในความต้องการของปัจเจกชน

"ในช่วงที่ลูกค้าหนาแน่นมาก ๆ เราอาจจะมีการขอความร่วมมือจากทางลูกค้าในการไม่นั่งนานจนเกินไป หลังจากที่รับประทานเครื่องดื่มหรือขนมเสร็จ หรือการจองพื้นที่โดยไม่ได้อยู่ที่ร้าน

เพื่อเป็นการให้ลูกค้าท่านอื่น ๆ ได้เพลิดเพลินในการใช้บริการด้วยเช่นกัน" นี่คือเสียงขอความกรุณาแบบนุ่มนวลฉบับ
สตาร์บัคส์

แต่อย่าเพิ่งเหมารวมกล่าวโทษเฉพาะกลุ่มติวเตอร์ เพราะยังมีผู้ใหญ่อีกหลายกลุ่มที่เลือกใช้พื้นที่ในร้านสาธารณะเป็น "แหล่งทำมาหากิน" เช่น เจรจาธุรกิจขายตรง หรือหิ้วคอมพิวเตอร์ตัวจิ๋วมานั่งแช่ทำงาน ใช้ Wi-Fi ทั้งวัน ต่างกลายเป็นวัฒนธรรมที่เห็นจนชินตาตามร้านอาหารในมหานครอันอัตคัดพื้นที่




http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356251332&grpid=01&catid=&subcatid=
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่