เปิดวิจัยอังกฤษ "น้ำมันพืช" ชนิดไหนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม คนไทยเลี่ยงสิ่งนี้ไม่ได้เลย


น้ำมันพืชยอดนิยมอาจเพิ่มความเสี่ยง “มะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง” ผู้เชี่ยวชาญอังกฤษเตือน


ศ.จัสติน สเตบบิง ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งจากอังกฤษ เตือนว่าการบริโภคน้ำมันจากเมล็ดพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันข้าวโพด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ มะเร็งเต้านมชนิด Triple-Negative ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรงและรักษาได้ยาก

สาเหตุหลักมาจาก กรดไลโนเลอิก ที่พบในน้ำมันเหล่านี้ เมื่อได้รับความร้อนอาจไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยงานวิจัยจาก Weill Cornell Medicine ในนิวยอร์กพบว่าหนูที่ได้รับอาหารที่มีกรดไลโนเลอิกสูง มีขนาดก้อนมะเร็งใหญ่กว่ากลุ่มควบคุม และยังพบระดับกรดไลโนเลอิกในเลือดผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดนี้ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ศ.สเตบบิงแนะว่าไม่ควรตื่นตระหนกเกินไป และไม่จำเป็นต้องงดน้ำมันเมล็ดพืชทั้งหมด แต่ควร บริโภคอย่างพอเหมาะ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และควรหันมาเน้นอาหารที่หลากหลาย สมดุล และเพิ่มผักผลไม้ในชีวิตประจำวัน

เขายังเสริมว่า น้ำมันมะกอกซึ่งมีกรดไลโนเลอิกน้อย อาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า และย้ำว่า “อาหารที่ดีคือรากฐานของการป้องกันโรค”

รายงานของ ศ. สเตบบิง เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation และสอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่าน้ำมันพืชอาจมีบทบาทในการกระตุ้นการอักเสบและการเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ พบว่า ผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มต้น ซึ่งลดการบริโภคอาหารที่ใช้น้ำมันพืช มีการเติบโตของมะเร็งช้ากว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบตะวันตกทั่วไป

อีกงานวิจัยหนึ่งยังพบว่า ไขมันจากน้ำมันพืชอาจกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย และเป็นสภาวะเอื้อต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

ทั้งนี้ ประมาณ 23% ของมะเร็งเต้านมสามารถป้องกันได้ โดย 8% เกิดจากโรคอ้วน และอีก 8% จากการดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงหลักคืออายุที่มากขึ้นซึ่งสัมพันธ์กับความเสียหายของ DNA ที่สะสมในร่างกาย

ที่มา:https://www.sanook.com/news/9778114/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่