จับตา! “รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน-รอยเลื่อนเมย” ฟื้นคืนชีพ หลัง “แผ่นดินไหวเขย่าเมียนมา”

จับตา! “รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน-รอยเลื่อนเมย” ฟื้นคืนชีพ หลัง “แผ่นดินไหวเขย่าเมียนมา”
แน่นอนว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมาที่ผ่านมา ไทยได้รับผลกระทบไม่น้อย นี่ขนาดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่อาคารสูงที่กำลังก่อสร้างในใจกลางกรุงเทพฯ ก็ถล่มลงมาได้ เรื่องนี้นับได้ว่าไทยต้องหามาตรการป้องกันเหตุแผ่นดินไหวให้ดี และเร็วกว่านี้ ซึ่งหากแผ่นดินไหวเกิดศูนย์กลางที่ไทยบ้านเรามีโอกาสเสียหายไปมากกว่านี้
.
มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจจากงานเสวนาวิชาการ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ: อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย กรมทรัพยากรธรณี นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา นับว่าเป็นแผ่นดินไหวที่พิเศษไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งการแตกของรอยเลื่อนโดยหลักการจะมีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร แต่ครั้งนี้แตกยาวถึง 460-500 กิโลเมตร
.
ซึ่งหมายความว่าเกิดในลักษณะที่แรงมาก หรือที่เรียกว่า #ซุปเปอร์เชียร์ ลักษณะคล้ายกับเครื่องบินรบบินแล้วกระแทก ทำให้หลายจังหวัดที่ผ่านตัวรอยเลื่อนที่แตกเร็วกว่าคลื่นแผ่นดินไหว ทำให้คลื่นออกมารุนแรงกว่าเดิมอย่างน้อย 2—3 เท่าตัว กว่าการเกิดแผ่นดินไหวปกติ
.
อย่างไรก็ตามหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลต่อพื้นที่ที่ขาดไปโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของไทยที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนสะกาย คือ รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ที่ผ่านตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านอำเภอขุนยวม ไปถึงอำเภอแม่เสรียง กับรอยเลื่อนเมย ที่แตกแขนงมาจากรอยเลื่อนสะกายเข้ามาในประเทศไทย อาจมีโอกาสได้ว่า 2 รอยเลื่อนนี้จะมีแรงจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ กลับขึ้นมาไหวอีก แต่อาจไม่รุนแรงเท่าแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายที่ผ่านมา
.
ทั้งนี้รอยเลื่อนเหล่านี้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้ แต่จะไม่รุนแรง อาจแค่เพียงระดับ 5-6 แมกนิจูด (Magnitude) แต่หากเกิดขึ้นในไทยเป็นศูนย์กลางอาจมีผลกระทบบ้าง แต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ยังไม่มีหน่วยงานไหนมีข้อมูลในประเด็นนี้ อาจ 5-10 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ไป ดังนั้นต้องการให้หน่วยงานที่ดูแล รับผิดชอบเรื่องนี้ เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา เร่งให้ความสนใจเป็นพิเศษสำหรับ 2 รอยเลื่อนนี้ เช่น เข้าไปติดตั้งเครื่องมือ ไปขุดร่องสำรวจให้มากขึ้นว่ารอยเลื่อนดังกล่าวมีโอกาสเป็นอย่างไร
.
“ตอนนี้2รอยเลื่อนนี้ยังหลับอยู่ แต่พอรู้ว่ารอยเลื่อนมีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เมียนมา ทำขุนยวม มีหลุมยุบ ที่ปาย มีแผ่นดินไหวขนาดเล็ก เกิดขึ้นมาช่วงที่ผ่านมาหลายสิบครั้งแล้ว แสดงให้เห็นว่าแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนสะกายส่งผลมาถึงรอยเลื่อนในไทยว่ามีการปล่อยพลังออกมา แต่เป็นลูกเล็กๆ ขนาด 1-3 แมกนิจูด และถือได้ว่าเป็นการไปสะกิดรอยเลื่อยที่หลับใหลมานานให้มีพลังอีกครั้ง เนื่องจากทั้ง 2 รอยเลื่อนจะเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7 แมกนิจูดในทุกพันปี”
.
สำหรับรอยเลื่อนสะกายมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7 แมกนิจูด ในทุก 100 ปี ทั้งนี้โอกาสการกระตุ้นก็มีแต่ต้องไม่ตื่นกลัว อยากไทยมีความใส่ใจเป็นพิเศษจากบทเรียนในครั้งนี้ ส่วนรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เป็นรอยเลื่อนในไทยที่ทรงพลังเช่นกัน แต่ ณ วันนี้ยังไม่เห็นสัญญาณอะไรเหมือนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน และรอยเลื่อนเมย ที่วันนี้ต้องให้ความสนใจมากขึ้นเป็นพิเศษ
.
ส่วนรอยเลื่อนนครนายก และรอยเลื่อนลำตะคอง กรมทรัพยากรธรณี คาดว่าจะเป็นรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง มีการศึกษา พบว่า รอบการเกิดแผ่นดินไหวของทั้ง 2 รอยเลื่อน เกิดไปแล้วเมื่อ 4-5 หมื่นปีมาแล้ว แต่มองว่าไม่ได้มีพลังอะไรมากมาย
.
ที่มา : SpringNews
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่