โครงการเด่นที่สร้างชื่อให้ ITD อาทิ งานก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ งานก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินหลากหลายเส้นทาง งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟคู่ขนาด งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ งานก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งในและต่างประเทศ
ITD เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท และด้วยผลประกอบการที่มีการเติบโตดีมาต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 6,337.92 ล้านบาท มีทุนชำระแล้ว 5,279.87 ล้านบาท
ถัดจากนั้นไม่นานก็ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การเงิน 2540 หรือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ทำให้ ITD ต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และสิ้นสุดกระบวนการดังกล่าวในปี 2545
แต่อะไรก็ไม่แน่นอนเพราะในระหว่างทางการดำเนินธูรกิจก็ไม่ได้สวยหรู ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นผลให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานชะลอตัวลง
เมื่องานมีน้อยการแข่งขันราคาก็ย่อมรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างก็ต้องการช่วงชิงงานเพื่อมาจุนเจือให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
จากปัจจัยดังกล่าวเป็นผลให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ต่อโครงการลดลงจนเรียกได้ว่าแทบเข้าเนื้อ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหลายรายปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่หันเข้าซบอกรับงานจากภาคเอกชนมากขึ้น
ขณะที่การลงทุนในโครงการเมกกะโปรเจกต์หลายโครงของ ITD ก็มีเกิดปัญหาการดำเนินโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะการลงทุนใน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในประเทศเมียนมา ที่ทำให้เงินลงทุนของ ITD จมเกือบ 8 พันล้านบาท
เคราะห์ซ้ำ ITD คดีเสือดำ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในปี 2561 ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ ITD และทำให้บริษัทต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งนักลงทุนและสังคม ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น
แต่แล้ววิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ก็มาเป็นคลื่นระลอกใหม่ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ แม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศก็ต้องหยุดชะงักกันหมด
ต่อมาในปี 2567 ITD ต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อขอยืดชำระหนี้หุ้นกู้ และเจรจากับทางกลุ่มธนาคารเพื่อที่จะขอวงเงินสินเชื่อเพื่อมาหมุนเวียนในการดำเนินโครงการเพิ่มเติม
แม้ว่าจะมีการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องมาโดยตลอด แต่ในทางบัญชี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้เรื่องการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ทำให้สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืมทันทีจำนวน 3,413.35 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 51.65 ล้านบาท และระยะยาว 3,361.70 ล้านบาท
แต่เหตุการณ์กลับไม่เลวร้าย เมื่อบริษัทได้รับหนังสือจากสถาบันการเงินให้ความยินยอมและผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท ได้มีมติให้บริษัทเลื่อนชำระหุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี นับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนเดิม
เมื่อดูงบการเงินล่าสุดของ ITD ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มบริษัทมีขาดทุนหลังภาษีถึง 4,950.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อนที่ขาดทุน 421.54 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนสะสมสูงถึง 12,138.78 ล้านบาท
ขณะที่สถานการณ์ด้านสภาพคล่อง กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 13,553.78 ล้านบาท ซึ่งหนี้สินส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถูกจัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา
เหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้ ITD เป็นที่จับตามองจากสังคมอีกครั้ง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เป็นเหตุให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง
ITD หุ้น 5 เสือรับเหมา มาร์เก็ตแคป 1.6 หมื่นล้าน ดำดิ่งเหลือ 844 ล้านใน 4 ปี