กรรไกรตัดผ้าหรือกรรไกรราชาเล่มนึงครับ เสียสภาพ คือชำรุดปลายหักเป็นอาการเริ่มแรก แล้วถูกดัดแปลงแก้ไขโดยคนที่ไม่มีฝีมือเชิงช่างและไม่รู้จักกรรไกร ทำให้กรรไกรดีๆตัวนึงต้องอยู่ในสภาพที่น่าสงสารกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ปล่อยเอาไว้นอกจากจะใช้งานได้ไม่ดีแล้ว ยังไม่น่าดูรู้สึกหดหู่ทุกครั้งที่มองเห็น
ปรกติแล้วผมจะตกแต่งหรือจัดการกับกรรไกรอย่างแผ่วเบา เช่นขัดด้วยผ้า หรือแปรงสีฟันเท่านั้นครับ แล้วก็ลงน้ำมันและลับคม ผมไม่ค่อยจะไปยุ่งเกี่ยวกับส่วนของโครงสร้างใบกรรไกร แต่เล่มนี้ไม่ไหวจริงๆ
หลังจากวินิจฉัยโรคแล้ว หมอเถื่อนก็ตัดสินใจว่าต้องรักษาอาการเหล่านี้ด้วยวิธีที่เข้มข้นที่สุด ลองประเมิณดูนะครับว่ากรรไกรเล่มนี้มีอาการป่วยตรงไหนบ้าง
-ปลายหัก
-เจียรปลายใหม่ ไม่สมดุลย์
-เจียรคมตัดด้านหน้าจนหายไป 2 มิลล์
-เจียรแนวคมด้านบนด้วยหินเจียรลูกหมู
-เจียรท้องใบหรือหน้าเว้า
-เจียรสัน
-ปลายคมห่าง ไม่มีจุดตัดหรือจุดเอ็กซ์ตั้งแต่ปลายคมและเข้ามาถึง 2 เซ็นต์
-เจียรเนื้อตัวตามยี่ห้อด้วย
การจะเรียกชีวิตของกรรไกรตัวนี้กลับคืนมาค่อนข้างยากเหมือนกัน ที่เป็นตัวตัดสินจริงๆคือผมลองแทงตะไบแนวคมดูว่าค่าความแข็งของเหล็กยังดีอยู่หรือเปล่า และหน้าเว้าหรือคมมีดด้านในสภาพยังดีพอที่จะฟื้นฟูได้ ถึงตกลงทำ ถ้าหน้าเว้าไม่ได้จังหวะคือเสียไปจากการเจียรแล้วผมจะไม่ทำเลย ถอดเอาชุดหมุนไปเป็นอะไหล่ให้เล่มอื่นๆ
เริ่มการทำงานจากการเจียรล้างรอยแผล ต้องทำช้าๆนะครับ อย่าให้เหล็กเปลี่ยนสีคืออย่าเจียรให้ร้อนเกิน 180 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนเกินค่าความแข็งจะถูกทำลาย คือถ้าร้อนจนเป็นสีน้ำเงินคือร้อนเกือบ 300 องศาเซเลเซียส สภาพของเหล็กก็เปลี่ยนไปแล้ว คือเสียคมชุบ เราต้องเจียรเบาๆ เจียรไปจุ่มน้ำไปและระวังไฟดูด
หากรรไกรตัวดีๆมาเป็นแบบซักตัวนึง เราจะต้องแก้ปลายใบด้วย แก้ปลายต้องเจียรแต่งทั้งด้านหน้าคมขึ้นไปและสันลงมาหากัน ให้ปลายใบได้สมดุลย์อยู่ตรงกลาง การเจียรปลายทั้งหน้าทั้งหลังก็ทำให้แนวคมเดิมของกรรไกรหนาขึ้น ต้องถูหรือขัดแต่งให้แนวคมบางลงไปอีก
เจียรเสร็จแล้วก็ปรับแต่งแนวคมด้วยกระดาษทราย ขัดด้วยวิธีสแคลชหรือแฮนด์รับ คือดึงกระดาษทรายเข้าหาตัวจังหวะเดียว ค่อยๆทำใจเย็นๆ ระวังกรรไกรบาดด้วย
แต่งผิวกรรไกรให้เรียบดีแล้วก็เตรียมลับคม แต่ตัวนี้ปลายกรรไกรห่างเราต้องดัดโค้งให้ปลายกรรไกรโน้มเข้าหากัน เวลาใช้งานจะได้เกิดจุดตัดตลอดทั้งแนวจากโคนใบไปสุดปลายใบ ดัดด้วยไม้ดัดกรรไกรครับ ดัดเบาๆกรรไกรที่เป็นแบบดั้งเดิมหรือใช้เหล็กลามิเนทมันจะโค้งลงได้เอง ดัดไปด้วยลองจับลองตัดไปด้วย เอาให้พอใจพอมือ บางคนชอบให้กรรไกรแข็งๆก็ดัดโค้งหน่อย บางคนชอบกรรไกรอ่อนๆก็ดัดแค่พอแผ่วๆ
พอกรรไกรทำงานดีถูกใจแล้วก็ค่อยไปลับคม ตัวนี้ลับอยู่นานนะครับ มันต้องเริ่มตั้งแต่ต้นคือหินซิลิกอนเบอร์ 220 เลยครับ ตั้งคมใหม่หมด แล้วก็หินคิงเบอร์ 1000 หินโป่งขาวประมาณพันกว่าๆ หินโป่งเขียวพันกลางๆ แล้วก็แต่งคมด้วยหินอาคันซอส์
ลับคมดีแล้วก็ประกอบกลับเข้าไปเหมือนเดิม เคลือบน้ำมันที่จุดหมุน ค่อยๆขันเกลียวเข้าไปทีละนิด ถ้าเริ่มเข้าที่ดีแล้วก็อย่าขันแรงหรือแน่นนัก ค่อยๆขยับไปตัดไป ถ้ารู้สึกว่าแน่นพอดีก็พอ ไม่ต้องให้มันแน่นจนฝืดจะตัดได้นานและสบายมือกว่า
จริงๆแล้วงานที่ทำมามันยากเหมือนกันนะครับและใช้เวลามากอยู่ แต่ก็ได้ผลที่คุ้มค่าคือทำให้กรรไกรเสียตัวนึงกลับมาเป็นกรรไกรดีได้
ชีวิตมันสั้นแต่ศิลปะนั้นยืนยาว วันนึงผมก็ตายแต่กรรไกรเล่มนี้ก็ไม่แน่ มันยังพอมีเวลา มันอาจจะอยู่ได้ยาวนานกว่าผมก็ได้ มันยังทำงานได้ดีเหมือนที่กรรไกรดีๆตัวนึงควรจะเป็น กรรไกรตัวที่ได้รับการปรับแต่งอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพกว่าตัวที่อยู่ในสภาพที่ต่างออกไป เวลาและแรงงานที่ทุ่มเทลงไปถึงมากแต่ก็ไม่มากหากเทียบกับวันเวลาดีๆที่เหลือของกรรไกร มันอาจจะผ่านไปและกลายเป็นของใช้คู่มือของใครซักคน วันนึงอาจจะไม่มีใครรู้ว่ามันผ่านการปรับแต่งเรียกคืนสภาพมา หรือดูออกแต่ก็ไม่รู้หรือสนใจจะถามว่าใครเป็นคนทำ
ชีวิตเป็นสิ่งสวยงาม ดอกไม้ทุกดอกล้วนแต่มีความงาม ดอกไม้ก็คือดอกไม้ ทั้งมิอาจไม่บานและมิอาจไม่โรย
ดอกไม้ก็บานตามหน้าที่ของมัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสายตาของใครเลยก็ตาม
ช่างทำรุนแรงเหลือเกิน